Boeing และ HRL Laboratories ได้สร้าง microlattice นวัตกรรมโลหะที่ได้ถูกบันทึกไว้ใน กินเนสส์เวิลด์เร็กคอร์ด ว่ามีน้ำหนักเบาที่สุดในโลก โดยโครงสร้างของโลหะชนิดนี้จะมีลักษณะโปร่งและยืดหยุ่น ซึ่งประกอบไปด้วยอากาศ 99.99 เปอร์เซ็นต์ นั่นหมายถึงโลหะประเภทนี้จะมีน้ำหนักที่เบายิ่งกว่าโฟมเสียอีก
โลหะ Microlattice พัฒนาขึ้นจากนิกเกิล-ฟอสฟอรัส ซึ่งมีการพัฒนาโครงสร้างใหม่ให้สามารถคงรูปทรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง และในขณะเดียวกันก็มรน้ำหนักที่เบามากสวนทางกับขนาดปริมาตรของมัน ลักษณะของเส้นโลหะดังกล่าวจะเป็นท่อกลวงเชื่อมต่อโยงกันเป็นกลุ่มโครงสร้าง โดยจะมีขนาดที่บางมากเพียง 100 นาโนเมตรเท่านั้น หรือบางกว่าเส้นผมของมนุษย์ถึง 1,000 เท่าเลยทีเดียว เมื่อบีบอัดตัวโลหะจะหดตัวลงและเมื่อคลายตัวก็จะคืนกลับสู่สภาพเดิมได้อย่างน่าอัศจรรย์
นอกจากจะมีน้ำหนักเบาเป็นเอกลักษณ์แล้ว โลหะ microlattice ยังมีความโดดเด่นอยู่ที่รูปลักษณ์การดีไซน์โดยใช้ลักษณะของเซลล์มนุษย์เป็นต้นแบบ แตกต่างจากโลหะทั่วไปที่มีเนื้ออัดแน่นเป็นรูปร่าง จึงนับเป็นการพัฒนาเทคโนโลยีที่เรียนแบบโครงสร้างของธรรมชาติมาได้อย่างดีเยี่ยม เพื่อช่วยให้มนุษย์ได้ก้าวล้ำนวัตกรรมด้านการก่อสร้างไปอีกขั้น
หากกล่าวถึงคุณสมบัติของโลหะแล้ว หลายท่านมักเข้าใจว่าโลหะที่มีน้ำหนักมากจะส่งผลถึงความแข็งแกร่งของโครงสร้างที่มากขึ้นตาม ซึ่ง microlattice แม้ว่าจะมีน้ำหนักเบาแต่มีความแข็งแกร่งคงทนไม่ต่างจากโลหะอื่นๆ ทั่วไป อีกทั้งยังมีความยืดหยุ่นสูง สามารถประยุกต์นำมาใช้ในงานออกแบบก่อสร้างได้หลากหลาย และด้วยน้ำหนักที่เบาจึงให้ความคุ้มค่าในระยะยาว
เคล็ดลับสำคัญที่ทำให้ microlattice มีน้ำหนักเบาอยู่ที่ตัวโครงสร้าง โดยความพรุนให้เกิดช่องว่างอากาศเข้าไปแทนที่ภายในเหมือนลักษณะของกับกระดูกของมนุษย์ แต่รูปแบบโครงสร้างนี้กลับให้ความแข็งแรงอย่างไม่น่าเชื่อแม้ว่าจะมีอากาศจำนวนมากอยู่ภายในก็ตาม ด้วยความยืดหยุ่นของมันทำให้มีความสามารถในการดูดซับและกระจายน้ำหนักสูง เพื่อลดความเสียหายจากแรงกระทำ ทั้งนี้ทางทีมผู้คิดค้นนวัตกรรมดังกล่าวได้นำชิ้นส่วนโลหะ microlattice ไปวางบนดอกแดนดิไล เพื่อโชว์ให้เห็นถึงศักยภาพว่าโลหะดังกล่าวมีน้ำหนักเบาเพียงใด
ด้วยความเบาบนความแข็งแกร่งของ microlattice จะส่งผลถึงการนำไปใช้ประโยชน์ทางด้านวิศวกรรมในอนาคต ยกตัวอย่างเช่นบริษัทผลิตเครื่องบินอาจนำโลหะประเภทดังกล่าวไปพัฒนาออกแบบปีกของเครื่องบิน รวมถึงการนำไปพัฒนาสร้างเครื่องยนต์ยานพาหนะ อุปกรณ์ป้องกันทางทหาร หรือแม้กระทั้งประยุกต์ใช้ในแวดวงทางการแพทย์ และด้วยโครงสร้างที่เป็นรูพรุนเลียนแบบกับเซลล์ของมนุษย์ก็อาจนำไปพัฒนาปอดเทียมก็ได้เช่นกัน
Source : inhabitat