ตลอดช่วงเวลา 20 ปีที่ผ่านมา สถาปนิกญี่ปุ่น Shigeru Ban นำเสนอผลงานด้านสถาปัตยกรรม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยบรรเทาสาธารณะภัยที่เกิดขึ้นทั่วโลกเสมอมา และเมื่อเนปาลเผชิญแผ่นดินไหวครั้งรุนแรง 7.8 แม็กนิจูด จึงร่วมออกแบบบ้านพักผู้ประสบภัยชั่วคราว โดยนำเศษอิฐที่พังทลายกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่
ผลงานการออกแบบบ้านผู้ประสบภัยชั่วคราวเนปาลโดยสถาปนิกญี่ปุ่น สำเร็จได้ด้วยความช่วยเหลือจากเหล่านักศึกษาอาสาสมัคร และกลุ่มสถาปนิกท้องถิ่น สำหรับการนำเศษซากความเสียหายจากเหตุแผ่นดินไหวมาใช้นั้น สถาปนิกได้สร้างระบบผนัง ด้วยการใช้กรอบไม้ (ขนาด 3ft x 7ft หรือ 90cm x 210cm) มาเป็นตัวกำหนดขอบพื้นที่ ทำให้สามารถนำเศษอิฐหรือซากปรักหักพัง มาประกอบให้เต็มกรอบจนเป็นผนังได้อย่างรวดเร็วและง่ายดาย ส่วนโครงสร้างหลังคา ทำจากม้วนท่อกระดาษ ซึ่งเป็นวัสดุหาง่ายในท้องถิ่น และมีน้ำหนักเบา
บ้านผู้ประสบภัยชั่วคราวนี้ ได้ทดสอบประกอบเบื้องต้นก่อนที่ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งหลังจากผ่านการวิจัยด้านเทคนิคเรียบร้อยแล้ว จึงนำมาก่อสร้างจริงที่เนปาล ส่วนผลงานที่ผ่านมาของ Shigeru Ban ที่มีส่วนช่วยเหลือสถานการณ์ภัยพิบัติต่าง ๆ ทั่วโลกนั้น ยกตัวอย่างเช่น การออกแบบและสร้างโครงสร้างม้วนกระดาษ เพื่อบริจาคให้สำหรับสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยสหประชาชาติ UNHCR ในการนำไปสร้างเป็นที่พักพิงแด่ผู้ประสบภัยแผ่นดินไหวในรวันดา และเฮติ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี สำหรับการจัดการในระยะยาว สถาปนิกมีแผนพัฒนาบ้าน prefab ต้นทุนต่ำ คล้ายกับที่ได้ริเริ่มใช้กับเหตุภัยพิบัติที่ฟิลิปปินส์ ซึ่งโครงการในลักษณะนี้ ไม่ได้ช่วยเหลือเฉพาะผู้ประสบภัยทั่วโลกเท่านั้น แต่ยังเป็นการช่วยกระตุ้นในการแก้ปัญหาด้านที่อยู่อาศัยให้กับครอบครัวผู้มีรายได้น้อยในกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาด้วย
Images by calzada visualization / courtesy of shigeru ban architects