ตลอดปี 2016 นี้ จะเห็นได้ว่า มีสิ่งปลูกสร้างหรือพาวิลเลียนชั่วคราวเกิดขึ้นมากมายทั่วโลก แต่ละชิ้นล้วนแล้วแต่เผยให้เห็นถึงความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และไอเดียใหม่ ๆ อันเกิดจากความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจะเห็นได้ว่า สถาปัตยกรรมและศิลปะมีความเชื่อมโยง และใกล้เคียงกันเข้าไปมากขึ้นทุกที
แม้ว่าการสร้างสถาปัตยกรรมแต่ละชิ้น จะมีข้อจำกัดในเรื่องงบประมาณ อัตราส่วน และเวลา แต่ผลงานทุกชิ้นก็ได้รับความใส่ใจในรายละเอียด โดยเฉพาะรายละเอียดในด้านวิศวกรรม ไปชมกันเลยว่าสถาปัตยกรรมที่น่าจับตามองเหล่านี้ มีอะไรบ้าง
Droneport โดย Norman Foster
Droneport แห่งนี้ ถูกสร้างขึ้นเพื่อนำไปจัดแสดงในงาน Venice Architectre Biennale ผู้ออกแบบ คือ Norman Foster สถาปนิกชาวอังกฤษ ซึ่งออกแบบ Droneport ให้เป็นเหมือนสถานีทางด้านโลจิสติกส์ สำหรับลำเลียงสิ่งของ เวชภัณฑ์ และข้าวของเครื่องใช้ที่จำเป็นให้แก่ประชากรในถิ่นทุรกันดาร ซึ่งมีอุปสรรคทางด้านการเดินทางและการขนส่ง อย่างเช่น ประชากรในประเทศรวันดา
“โปรเจค Droneport นี้ เป็นการสร้างสิ่งเล็ก ๆ ให้ยิ่งใหญ่ โดยใช้ประโยชน์จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ซึ่งก็คือ โดรน มาใช้ในการลำเลียงสิ่งของที่จำเป็นต่อการดำเนินชีวิต โดยเฉพาะเวชภัณฑ์ เพื่อช่วยชีวิตผู้ป่วยซึ่งอยู่ในพื้นที่ห่างไกล” Norman Foster กล่าว
Serpentine Pavillion โดย Bjarke Ingels Group/BIG
Serpentine Pavillion เป็นพาวิลเลียนมีดีไซน์ ออกแบบโดยบริษัทสถาปนิก Bjarke Ingels Group หรือ BIG ตั้งอยู่บริเวณ Hyde Park ในลอนดอน ทำจากไฟเบอร์กลาสทั้งหมด 1,802 ชิ้น พาวิลเลียนแห่งนี้มีลักษณะคล้ายถ้ำ ที่มีแสงสว่างลอดเข้ามาภายใน ผ่านช่องว่างระหว่างกล่องแต่ละใบที่เรียงต่อกัน รวมทั้งแสงจากกล่องไฟเบอร์กลาส ตัวกำแพงทำจากอิฐ แทนการใช้อิฐมอญ หรือหิน ภายในมีคาเฟ่และเวทีสำหรับจัดกิจกรรมต่าง ๆ
Scaffold Pavillion โดย Sou Fujimoto
Sou Fujimoto สถาปนิกชาวญี่ปุ่น ออกแบบพาวิลเลียน โดยสร้างขึ้นใกล้กับอาคาร Himalayas Center ในนครเซี่ยงไฮ้ คอนเซ็ปต์การสร้างงานเกิดจากการสำรวจอนาคตของมนุษยชาติในแง่ที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม โครงสร้างพาวิลเลียนจะเป็นเหมือนนั่งร้าน ซึ่งสามารถปีนขึ้นไปด้านบนได้ โดยออกแบบให้ตัวโครงสร้างดูโปร่ง ส่วนพื้นที่ด้านล่างจะใช้เป็นพื้นที่เล็ก ๆ สำหรับทำกิจกรรมหรือนั่งพูดคุยกัน
The Smile Installation โดยบริษัทสถาปนิก Alison Brooks Architects
สิ่งปลูกสร้างไม้ทรงโค้ง ในชื่อ ‘The Smile’ ที่เห็นอยู่นี้ เป็นแลนด์มาร์คที่สร้างขึ้นเพื่อจัดแสดงในงาน London Design Festival 2016 มีลักษณะเป็นทรงโค้ง ทำจากไม้แปรรูป CLT สูง 3.5 เมตร กว้าง 4.5 เมตร และยาว 34 เมตร มีการวางโครงสร้างให้เป็นแบบเลเยอร์ โค้งต่อกันเป็นเหมือนรูปปากของคนที่กำลังยิ้ม บริเวณระเบียงจะเปิดโล่ง ทำให้เห็นพื้นที่ด้านในและยังทำให้เห็นทิวทัศน์ของลอนดอนทั้งในยามกลางวันและกลางคืน
The Stairs โดยบริษัทสถาปนิก MVRDV
บันไดขนาดยักษ์นี้ ตั้งอยู่ในเมือง Rotterdam โดยเชื่อมจาก Central Station ไปยังอาคาร Groothandelsgebouw อาคารสำคัญแห่งหนึ่งของเมือง Rotterdam บันไดแห่งนี้ มีทั้งหมด 180 ชั้น โดยนักท่องเที่ยวหรือผู้เยี่ยมชมจะสามารถมองเห็นวิวทิวทัศน์รอบเมืองได้จากจุดชมวิวด้านบนสุด
MPavillion โดย Bijoy Jain
MPavillion ออกแบบโดยสถาปนิกชาวอินเดีย Bijoy Jain ใช้ไม้ไผ่ในการสร้างออกมาเป็นพาวิลเลียนขนาดใหญ่นี้ขึ้นใจกลางสวนสาธารณะ Queen Victoria Garden ณ เมืองเมลเบิร์น ประเทศออสเตรเลีย โดยมีองค์กรไม่แสวงผลกำไร Naomi Milgrom Foundation เป็นผู้ริเริ่มและสนับสนุนโครงการ ในการก่อสร้างจะใช้ไม้ไผ่ยาว 7 กิโลเมตร, เชือกยาว 26 กิโลเมตร และหินหนัก 50 ตัน จนได้ออกมาเป็นพาวิลเลียนที่มีความสูง 12 เมตร ใช้เป็นสถานที่สำหรับจัดกิจกรรมเวิร์กช๊อป การแสดง งานอีเวนท์ต่าง ๆ และจะเห็นได้ว่า มีช่องว่างเล็ก ๆ กึ่งกลางของหลังคา ซึ่งทำหน้าที่เป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงระหว่างโลกและท้องฟ้าเข้าด้วยกัน ขณะที่ข้างใต้ช่องสี่เหลี่ยมนั้นมีบ่อน้ำสีทองวางตั้งอยู่ เพื่อสื่อถึงความสำคัญของน้ำที่มีต่อชุมชนและถิ่นที่อยู่อาศัย
คอนเทนเนอร์พาวิลเลียน โดยบริษัทสถาปนิก People’s Architect Office (PAO)
อาคารคอนเทนเนอร์แห่งนี้ตั้งอยู่ที่บริเวณริมทางสาธารณะของเขตชุมชนในมณฑลส่านซี ทางตอนเหนือของประเทศจีน โดยบริษัทสถาปนิก People’s Architect Office (PAO) ซึ่งนำตู้คอนเทนเนอร์มาวางซ้อนกันเป็นพาวิลเลียน ที่สามารถรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ ตามต้องการ
ลักษณะของพาวิลเลียนจะเป็นการนำตู้คอนเทนเนอร์จำนวน 12 ตู้มาวางซ้อนกันสองชั้น โดยชั้นล่างนั้นเป็นตู้คอนเทนเนอร์สีแดง 6 ตู้เรียงชิดเหลื่อมกัน ส่วนชั้นบน เป็นคู้คอนเทนเนอร์สีเหลืองอีก 6 ตู้เรียงชิดวางทับกับชั้นล่างในทิศทางตรงกันข้ามกัน หรือตั้งฉากกัน ซึ่งบริเวณตู้คอนเทนเนอร์แต่ละส่วนจะประดับด้วยกระจกตั้งแต่พื้นถึงเพดาน ทำให้สามารถมองเห็นด้านในอาคารได้ทั้งหมด เมื่อมองจากภายนอก
Dynamics in Impermanence โดย Nicole Larkin
สถาปัตยกรรมชิ้นนี้ จัดแสดงในปี 2016 เป็นหนึ่งในผลงานจัดแสดงนิทรรศการที่ชื่อ Sculpture by the Sea บริเวณชายหาดบอนได นครซิดนีย์ ประเทศออสเตรเลีย ออกแบบโดยดีไซเนอร์ชื่อดัง Nicole Larkin ซึ่งเป็นผลงานที่ช่วยให้ผู้ชมได้สัมผัสประสบการณ์ใหม่ ๆ ของการสร้างงานศิลป์ วัสดุที่ใช้ คือไม้อัด สแตนเลส และคอนกรีต ลักษณะของสถาปัตยกรรมจะเผยให้เห็นถึงมุมมองที่แตกต่างและเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม อันขึ้นอยู่กับช่วงเวลาการมองในแต่ละวัน รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ โดยองค์ประกอบที่เกี่ยวข้องกับชิ้นงาน ได้แก่ ความสว่าง เงา และสภาพอากาศซึ่งเป็นส่วนสำคัญต่อการตีความภาพถ่าย ยิ่งไปกว่านั้น ตัวชิ้นงานยังเป็นเหมือนการสำรวจที่แสดงให้เห็นว่า ‘ภาพถ่าย จะสามารถทำให้มุมมองที่แท้จริงซึ่งคนเรามีต่อผลงานนั้น ๆ เปลี่ยนแปลงไปได้หรือไม่ อย่างไร’
Second Dome โดย Dosis
‘Second Dome’ เป็นโดมที่ตั้งอยู่บริเวณสวนสาธารณะ London Fields ออกแบบโดย DOSIS แล็บทดลองเพื่อผลิตผลงานสร้างสรรค์ต่าง ๆ เป็นพื้นที่ที่สร้างขึ้นใหม่โดยขยายเพิ่มเติมจากพื้นที่เพียง 65 ตารางเมตร ให้กลายมาเป็นพื้นที่ที่คล้ายกับ co-working space ขนาดใหญ่ถึง 400 ตารางเมตร ที่รวมเอาศาสตร์หลากแขนงและหลากอุตสาหกรรมมาอยู่รวมกันในโดมหลังนี้ โดยแบ่งเป็นห้องต่าง ๆ เช่น ห้องเวิร์คช็อปแอนิเมชั่น ห้องทดลองทางวิทยาศาสตร์ ห้องฉายภาพยนตร์ เป็นต้น
‘Kapkar SF-P7S’ พาวิลเลียน โดย Studio Frank Haverman
‘Kapkar SF-P7S’ พาวิลเลียน เป็นผลงานออกแบบบริษัทออกแบบ Studio Frank Haverman โดยออกแบบให้เป็นพื้นที่สำหรับการประชุม อภิปราย จัดแสดงนิทรรศการเล็ก ๆ หรือจัดอีเวนท์ต่าง ๆ สร้างสำเร็จได้ด้วยงบประมาณที่ค่อนข้างน้อย โดยสร้างเป็นพื้นที่ขนาดเล็ก เพื่อรองรับคนอย่างต่ำ 50 คน ซึ่งสถาปัตยกรรมชิ้นนี้ นับเป็นงานที่มีความโดดเด่น สามารถรื้อถอนหรือเคลื่อนย้ายไปยังสถานที่ต่าง ๆ ได้ตามต้องการ โครงสร้างหลังคาที่ใช้ เป็นหลังคาหน้าจั่ว ที่นิยมใช้กันในบ้านไร่ หรือโรงนาในแถบชนบทสมัยก่อน
Source: designboom