ดังที่เคยกล่าวแนะนำกิจกรรม “ประติมากรกับการสร้างประติมากรรม” ภายในงานสถาปนิก’60 ให้ได้ทราบกันไปแล้วนั้น บทความนี้จะขอเล่าถึงผลงานประติมากรรมพระบรมรูปในหลวงรัชกาลที่ 9 ผลงานของศาสตราจารย์เกียรติคุณ เข็มรัตน์ กองสุข ศิลปินแห่งชาติ ปี 2555 สาขาทัศนศิลป์ ที่จะนำมาร่วมจัดแสดงเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรม “ประติมากรกับการสร้างประติมากรรม” ภายในงานสถาปนิก ครั้งนี้ด้วย

ศาสตราจารย์เกียรติคุณ เข็มรัตน์ กองสุข เป็นศิลปินแห่งชาติ ปี 2555 ศิลปินชั้นเยี่ยมในการเเสดงศิลปกรรมเเห่งชาติปี 2538 (สาขาประติมากรรม) และยังเป็นอาจารย์คณะจิตรกรรมประติมากรรมและภาพพิมพ์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้สร้างสรรค์พระบรมรูปพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ขนาด 9 เท่าพระองค์จริง ความสูงประมาณ 3 เมตร ด้วยดินเหนียว 2 ตัน เพื่อร่วมแสดงความไว้อาลัยและรำลึกถึงพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช

1478579964

อาจารย์เข็มรัตน์ เล่าถึงความประทับใจของตนที่มีต่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 9 ไว้ว่า “เคยเห็นพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชที่จังหวัดสุรินทร์ เมื่อปี 2500 สมัยที่ยังเป็นเด็ก และอีกหลายครั้งสมัยเรียนที่มหาวิทยาลัยศิลปากร รู้สึกประทับใจทุกครั้งที่เห็นพระองค์ให้ประชาชนเข้าเฝ้าอย่างไม่ถือพระองค์ และยังทรงทำงานหนักมาตลอดเจ็ดสิบปี จนเสด็จสวรรคต”

เพื่อแสดงความไว้อาลัยและรำลึกถึงพระองค์ อาจารย์เข็มรัตน์จึงได้คิดสร้างสรรค์งานชิ้นนี้ขึ้นหลังทราบข่าวอันแสนสะเทือนใจอันหาที่สุดมิได้ โดยถือฤกษ์ลงมือปั้นในวันแรกของการเข้าถวายสักการะพระบรมศพ โดยอาจารย์เข็มรัตน์ และนิสิต นักศึกษา คณะจิตรกรรมประติมากรรมฯ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้ร่วมกันทำงานชิ้นนี้อย่างตั้งใจ ซึ่งเริ่มตั้งแต่การวาดแบบ กำหนดขนาด ขึ้นโครงเหล็กเสริมความมั่นคง และลงมือปั้นด้วยดินเหนียวอย่างพิถีพิถัน จากนั้นก็จะนำไปหล่อไฟเบอร์กลาส และปิดท้ายด้วยการทาสีขาว

1478579982

อาจารย์เข็มรัตน์ กล่าวว่า งานศิลปะชิ้นนี้เป็นงานประติมากรรมแบบจัดวาง เป็นรูปพระพักตร์พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ซึ่งไม่ได้เน้นที่ความเหมือนจริง แต่เน้นที่กระบวนการทำงาน โดยปั้นอย่างรวดเร็วในระยะเวลาอันสั้น ด้วยความตั้งใจให้เสร็จในเวลาเพียง 9 วันเท่านั้น ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้ว ผลงานขนาดใหญ่เช่นนี้ ต้องใช้เวลาเป็นเดือนจนถึงปีจึงจะสำเร็จลงได้ และผลงานนี้แสดงสาระของอารมณ์ความรู้สึกอันสะเทือนใจ โดยอิงกับธรรมชาติของดินมาแทนความรู้สึก คือมีการทิ้งร่องรอย เพิ่มลดและเปลี่ยนแปลงอยู่เป็นนิจ ทั้งยังมีความหมายซ้อนกับพระนามของพระองค์ที่หมายถึง “พลังแผ่นดิน”

1478580000

ทั้งนี้ อาจารย์ไม่ได้เกลี่ยผิวดินจนเรียบ แต่ตั้งใจทิ้งรอยการปั้นเพื่อแสดงรายละเอียดพื้นผิว เนื่องจากต้องการสะท้อนกระบวนการปั้น การซ้อนทับของช่วงเวลาจากดินแต่ละชั้น ตั้งแต่ชั้นแรกวันเริ่มต้นจนวันสิ้นสุด ยังสื่อให้เห็นเรื่องช่วงเวลา“ยาวนาน” ของพระราชภารกิจในการยังประโยชน์แก่ปวงชนอีกด้วย

ซึ่งผลงานชิ้นนี้ได้เคยจัดแสดงมาแล้วในงาน “ศิลปากรรวมใจถวายพ่อหลวง” ร่วมกับศิลปิน 9 ท่าน และผลงาน 9 ชิ้น ที่มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยจะกลับมาสร้างความประทับใจอีกครั้ง ณ งานสถาปนิก’60 ที่จะถึงนี้ บริเวณอาคารชาเลนเจอร์ 1 อิมแพ็คเมืองทองธานี ระหว่างวันที่ 2-7 พฤษภาคม 2560 เวลา 10.00-20.00 น. ผู้ที่ชื่นชอบผลงานศิลปะ โดยเฉพาะผลงานประติมากรรมไม่ควรพลาด!

IMG_20170301_162718x IMG_20170301_162740x

Previous article‘2010 โกลบอลซอร์สเซส’ ผู้นำด้านระบบล็อคบานประตู ชี้สินค้าตอบโจทย์การใช้งานที่หลากหลาย พร้อมลุยงานสถาปนิก’60
Next articleSM520 เหล็กทนแรงดึงประสิทธิภาพสูง จาก SYS กำลังสำคัญของการก่อสร้างออฟฟิศแห่งใหม่ ‘Astra Communication’
ณัฐธิกานต์ อัจฉริยบดี
Content Writer เว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกวรรณคดีอังกฤษ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ปัจจุบันเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวด้านงานออกแบบ ก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม