จาร์เค็นเผยโฉมการออกแบบตกแต่งโรงละคร “สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์” โรงละครลอยได้แห่งแรกของโลก

1307

บริษัท จาร์เค็น จำกัด ผู้ให้บริการด้านงานออกแบบสถาปัตยกรรม ตกแต่งภายใน และงานก่อสร้าง โชว์ผลงานการออกแบบโรงละคร “สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์” โรงละครลอยได้ ใจกลางพัทยา ที่คว้ารางวัลการออกแบบยอดเยี่ยมจาก SIDS 2017 สำหรับการออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน

โรงละคร “สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์” นำเสนอการแสดงที่มีชื่อว่า ‘KAAN’ เป็นการแสดงสดที่ผสมผสานระหว่างเรืองราวในวรรณคดี และศิลปะการออกแบบต่าง ๆ ภายในโรงละครมีพื้นที่ 1,000 ตารางเมตร สามารถรองรับผู้ชมได้ถึง 1,400 ที่นั่งต่อรอบ นอกจากนี้ยังมีงานตกแต่งสถาปัตยกรรมภายในที่มีความงดงาม อลังการ และแฝงความเชื่อเข้าไว้ในผลงาน นำทีมออกแบบโดย คุณอรรถพล วิบูลยานนท์ ผู้อำนวยการงานออกแบบสถาปัตยกรรมภายใน และคุณศศิวิมล สินธวณรงค์ ผู้อำนวยการฝ่ายออกแบบแห่งบริษัท จาร์เค็น จำกัด

การออกแบบโรงละครแห่งนี้มีคอนเซ็ปต์เป็น Magic Illution หรือ ภาพลวงตา ภายใต้แนวคิด “Levitating” ซึ่งก็คือการสร้างโรงละครที่ลอยตัวได้ มีความเรียบง่ายแต่ทรงพลัง อีกทั้งยังสื่อถึงสิ่งลวงตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยพวกเขาได้ดึงแนวความคิดมาจากการแสดงของตัวละครใน KAAN ที่พูดถึงการกำเนิดใหม่ของทุก ๆ สิ่งหรือที่เรียกกันว่า ‘อุบัติ’ ส่วนของงานแลนด์สเคปก็ได้นำการตกแต่งแบบ FLOW มาใช้กับพื้นที่ทางด้านหน้าของอาคาร ในด้านของงานสถาปัตยกรรมภายในทางทีมงานจาร์เค็นเลือกใช้คอนเซ็ปต์ “รำปะเลง” เป็นนาฎกรรมโบราณใช้สำหรับการรำเบิกโรงละครเพื่อเสริมสิริมงคลและปัดเป่าสิ่งที่ไม่ดีออกจากการแสดง และยังใช้ผ้าขาวผืนบางและ “การย่อมุมไม้สิบสอง” ที่เป็นเส้นโครงของสถาปัตยกรรมไทยมาตกแต่งบริเวณโถงล็อบบี้อีกด้วย

ความโดดเด่นของโรงละครแห่งนี้ยังรวมไปถึงการแตกแต่งห้องน้ำที่นำกระจกที่สะท้อนเงาความแตกต่างทางรูปร่างของผู้เข้าชมและสร้างภาพลวงตาทำให้พวกเขารู้สึกเหมือนตกอยู่ในห้วงมายากล ซึ่งเป็นการเชื่อมโยงกับคอนเซ็ปต์ FLOW ทั้งในส่วนของงานตกแต่งสถาปัตยกรรมภายนอกและภายใน (การตกแต่งด้วยกระจกมีเฉพาะในห้องน้ำผู้หญิงและล็อบบี้) เมื่อได้สัมผัสกับความสวยงามของการตกแต่งบริเวณด้านนอกแล้ว เราลองมาดูภายในโรงละครกันดีกว่าจะมีความพิเศษอะไรซ่อนอยู่ เดิมทีในโรงละครจะไม่มีฝ้า และมืดสนิทเมื่อการแสดงเริ่ม ทางทีมงานของจาร์เค็นจึงได้เพิ่มไฮไลท์ใหม่โดยการตกแต่งด้วยลวดลาย “กบิลปักษา” ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับหนุมาน และปักษา ซึ่งเป็นตัวละครใน KAAN การสร้างลวดลายนี้ทำโดยการเจาะรูเป็นลายต่าง ๆ และแต่งแต้มด้วยสีทอง สร้างบรรยากาศโดยการจัดแสงจากด้านบน ใช้เป็นการล่อสายตาผู้ชมจากฝ้าและเวทีที่ค่อย ๆ มืดสนิทลง

ส่วนสุดท้ายที่ทางทีมงานจะนำเสนอแก่ผู้ชมทุกท่านคือร้านขายของที่ระลึก ซึ่งได้รับแนวคิดมาจากฉากที่อยู่ในเนื้อเรื่องของละคร ช่วยในการสร้างความต่อเนื่องและรักษาอารมณ์ของผู้ที่มาดูการแสดง ให้ความรู้สึกประทับใจตั้งแต่ก้าวแรกจนถึงก้าวสุดท้ายที่เข้ามาภายในโรงละคร “สิงห์ ดีลักษณ์ ซีเนมาติก เธียเตอร์” แห่งนี้ ถือเป็นแลนด์มาร์คแห่งใหม่ใจกลางพัทยาเลยก็ว่าได้

Previous articleDesign for Disasters เครือข่ายความคิดสร้างสรรค์เพื่อเตรียมพร้อมรับมือและจัดการกับภัยพิบัติ
Next articleAdam Tarr เข้าร่วมกับ Greenlam ให้ความรู้ใหม่ในหัวข้อ ‘Let’ us learn…Game theory of Architecture’ เกมการวางแผนธุรกิจออกแบบ