กระทรวงอุตสาหกรรมเดินหน้าขับเคลื่อนแผนพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม พร้อมก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 รุกเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ภาคที่ 9 จ.ชลบุรี เน้นกลยุทธ์การรวมกลุ่มคลัสเตอร์ หวังเชื่อมโยงอุตสาหกรรม เสริมศักยภาพ SMEs เล็งผลักดันให้กลายเป็นพื้นที่ “อุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต” อุตสาหกรรมตั้งต้นก่อนพัฒนาสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ เวชภัณฑ์ และเครื่องสำอาง ล่าสุด จับมือภาคเอกชนรายใหญ่ ติดตั้งชุดฝึกระบบอัตโนมัติ หวังให้เป็นศูนย์ต้นแบบแห่งการเรียนรู้เทคโนโลยียุคดิจิตัลแก่อุตสาหกรรมไทยในภาคตะวันออก ซึ่งเมืองอุตสาหกรรมและศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ

ดร.อุตตม สาวนายน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า การเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center) หรือศูนย์ ITC 4.0 เกิดจากความร่วมมือของหลายหน่วยงานในการเป็นฟันเฟืองขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศไปสู่เศรษฐกิจเชิงนวัตกรรมและสร้างสรรค์ โดยอาศัยแพลทฟอร์มที่ผลักดันให้บริษัทผู้นำเทคโนโลยีระดับโลก (Global Player) รวมถึงบริษัทขนาดใหญ่ (LEs) ที่มีการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมอยู่แล้ว มามีส่วนร่วมในการทำให้ SMEs สามารถปรับตัวพร้อมรับมือความเปลี่ยนแปลงในยุคดิจิทัลและพัฒนาผู้ประกอบการไทยก้าวสู่ Thailand 4.0 อย่างเป็นรูปธรรม โดยศูนย์ ITC 4.0 เปรียบเสมือนกับข้อต่อกลางที่จะเข้ามาช่วย SMEs ที่ไม่พร้อมในเรื่องของบุคลากรด้านวิศวกรรมที่ยังต้องสั่งสมประสบการณ์  และเครือข่ายที่สนับสนุนการผลิตให้สามารถปฏิรูปธุรกิจของตนเองผ่านกระบวนการ SMEs Transformation ตามแพลทฟอร์มต่างๆ ที่เหมาะสม มีการให้บริการในส่วนของ Co-Working Space ให้บริการเครื่องจักรกลางที่ได้รับความร่วมมือจากองค์กรขนาดใหญ่ เพื่อให้ SMEs สามารถเข้าไปใช้บริการได้โดยไม่ต้องลงทุนเอง โดยมุ่งหวังให้ศูนย์ ITC 4.0 เป็นศูนย์กลางของการเชื่อมโยงงานวิจัย รวมถึงบุคลากรในประเทศ ให้สามารถเปลี่ยนแปลงสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ด้วยการขยายไปยังศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมระดับภูมิภาค และศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรมระดับจังหวัด โดยการปรับให้เหมาะสมกับอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ เพื่อให้เกิดการเชื่อมโยงกับอัตลักษณ์ของชุมชนแต่ละแห่ง โดยคาดว่าจะทำให้ผู้ประกอบการในท้องถิ่น มีศักยภาพเพิ่มขึ้นและสร้างรายได้ให้กับประเทศอย่างมหาศาล

ด้านนายกอบชัย สังสิทธิสวัสดิ์ อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) มุ่งเสริมความเข้มแข็งให้กับ SMEs ทุกระดับให้มีการปรับตัวก้าวทันกับสถานการณ์ดิจิทัลของโลก รวมทั้งมุ่งพัฒนา SMEs ให้เป็น SMEs 4.0 (Smart SMEs) อย่างต่อเนื่อง โดย กสอ. มีแผนในการเร่งดำเนินการเปิดศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 ในส่วนภูมิภาคเพิ่มอีก 7 แห่ง โดยจะอยู่ในพื้นที่ตั้งของศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคจังหวัด ได้แก่ จ.พิจิตร จ.อุดรธานี จ.ขอนแก่น จ.นครราชสีมา จ.สุพรรณบุรี

จ.สุราษฎร์ธานี และจ.ชลบุรี เพื่อให้บริการและสนับสนุนผู้ประกอบการไทยในระดับภูมิภาคให้เข้มแข็ง เสริมความแกร่งด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี เป็นการเตรียมความพร้อมสู่โลกแห่งธุรกิจยุคดิจิตัล โดยคาดว่าศูนย์ ITC 4.0 จะเปิดให้บริการครบทุกแห่งภายในปี 2561 นอกจากนี้ กสอ.ยังคงให้ความสำคัญและมุ่งเน้นการพัฒนาการรวมกลุ่มและเชื่อมโยงอุตสาหกรรม (Cluster) โดยตั้งเป้าพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม 14 กลุ่ม/280 กิจการ ครอบคลุมสาขาต่างๆ เช่น เกษตรแปรรูป เครื่องสำอาง ข้าวอินทรีย์ ผ้าทอ ของฝากของที่ระลึก เป็นต้น ส่วนในด้านการสร้างและเชื่อมโยงเครือข่ายคลัสเตอร์อุตสาหกรรมแห่งอนาคต (Super Cluster) ตั้งเป้าพัฒนากลุ่มอุตสาหกรรม 8 กลุ่ม/160 กิจการ ครอบคลุมกลุ่มอุตสาหกรรมยานยนต์แห่งอนาคต อิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อาหารแห่งอนาคต ดิจิทัล และเครื่องมือแพทย์ เป็นต้น ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญในการต่อยอดผู้ประกอบการ SMEs ไทยให้เข้มแข็ง พร้อมทั้งทำให้สินค้าและบริการของไทยขยายตลาดไปสู่ระดับสากลได้มากขึ้นอีกด้วย

ดร.รุ่งโรจน์ อิฐรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 9 กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) กระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า สำหรับศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม 4.0 (Industry Transformation Center) หรือศูนย์ ITC 4.0 ภาคที่ 9 จังหวัดชลบุรี ขณะนี้ได้มีความพร้อมในการให้บริการของศูนย์ฯ รวมทั้งหน่วยงานและระบบปฏิบัติการสำหรับส่งเสริมผู้ประกอบการในพื้นที่แล้ว โดยจะทำหน้าที่ในการสนับสนุนให้ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมของภาคตะวันออก และจังหวัดใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ให้บริการทั้งหมด 9 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.สระแก้ว และจ.สมุทรปราการ ในการปรับตัวและสามารถฉกฉวยโอกาสอันมหาศาลที่มาพร้อมกับการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัล พร้อมยกระดับและพัฒนาสินค้าด้วยนวัตกรรมและความคิดสร้างสรรค์ พร้อมก้าวสู่การเป็นอุตสาหกรรม 4.0 โดยหลังจากนี้ จะเร่งการประชาสัมพันธ์พร้อมสร้างการรับรู้ให้กับผู้ประกอบการ SMEs สตาร์อัพ วิสาหกิจชุมชน ตลอดจนกลุ่มโอท็อป เข้ามาใช้บริการที่ศูนย์ ITC 4.0 ภาคที่ 9 จ.ชลบุรี ได้ โดยมีจุดมุ่งหมายให้ผู้ประกอบการได้เห็นความสำคัญของการปฏิวัติสินค้าและบริการด้วยงานวิจัยและนวัตกรรมขั้นสูง เพื่อผลักดันไปสู่การต่อยอดในเชิงพาณิชย์ โดยจะเป็นการเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจให้สูงขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายที่รัฐบาลได้วางเอาไว้

โดยในพื้นที่การให้บริการของศูนย์ ITC 4.0 ภาคที่ 9 จ.ชลบุรี พบว่า อุตสาหกรรมแปรรูปเกษตรและอาหาร เป็นหัวใจสำคัญในพื้นที่ภาคตะวันออก และสามารถผลักดันให้เป็นอุตสาหกรรมอาหารแห่งอนาคต ก่อนต่อยอดพัฒนาไปสู่อุตสาหกรรมการแพทย์ อุตสาหกรรมเวชภัณฑ์ อุตสาหกรรมเครื่องสำอางและสมุนไพร การพัฒนาต้นน้ำให้เป็นเกษตรกรรม เป็นเกษตรอินทรีย์ และเป็น Smart Farmer ได้ในอนาคต แต่ในปัจจุบันผู้ประกอบการ SMEs และวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่กำลังประสบกับปัญหาด้านการผลิตที่มีต้นทุนค่อนข้างสูง วัตถุดิบเป็นไปตามกลไกราคาตลาดที่มีความผันผวนตามฤดูกาล มาตรฐานของวัตถุดิบไม่มีความคงที่ในเรื่องของขนาดและน้ำหนัก อีกทั้งปัจจัยสำคัญ คือ ภาคอุตสาหกรรมยังขาดการพัฒนาต่อยอดด้วยเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ เนื่องจากไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก ปัจจัยและการสนับสนุนจากภาครัฐอย่างเพียงพอ ยังขาดเทคโนโลยี เครื่องมือ เครื่องจักรที่เหมาะสมสำหรับใช้ในการทดสอบ ทดลอง เพื่อการสร้างสรรค์สินค้าและสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ทำให้ขาดโอกาสในการยกระดับเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ ซึ่งศูนย์ ITC 4.0 ภาคที่ 9 จะเข้ามารองรับพร้อมแก้ปัญหาข้างต้น โดยมีการแบ่งปันเครื่องจักรอุปกรณ์จากเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐมาให้บริการแก่ผู้ประกอบการในพื้นที่เพื่อเป็นการลดต้นทุนการประกอบกิจการ เพิ่มประสิทธิภาพในการผลิตให้ได้มาตรฐาน มีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค รวมทั้งการนำงานวิจัยมาสู่การพัฒนาผลิตภัณฑ์ของผู้ประกอบการไปสู่ความต้องการของตลาดในอนาคต พร้อมเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของผู้ประกอบการ SMEs ในพื้นที่ให้ครอบคลุมทุกระดับ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่ม SMEs สตาร์ทอัพ วิสาหกิจชุมชน ผู้ประกอบการสินค้าโอท็อป รวมถึงผู้สนใจทั่วไป เพื่อนำไปสู่การพัฒนาเป็น Thailand 4.0

สำหรับรูปแบบการดำเนินการของศูนย์ ITC 4.0 ภาคที่ 9 แบ่งเป็น 1.Creative Industry Area : CI Area คือการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่มาให้บริการแก่ผู้ประกอบการให้สามารถเข้าถึงได้ เพื่อช่วยให้เกิดผลิตภัณฑ์ ควบคู่กับการทดสอบคุณสมบัติสรรพคุณ (Food science) การออกแบบผลิตภัณฑ์และบรรจุภัณฑ์ ด้วยเครื่อง 3D Printing, 3D Scanning การบริหารจัดการ การวิจัยเชิงพาณิชย์ พร้อมที่ปรึกษาให้บริการปรึกษาแนะนำการทำธุรกิจ ทำการตลาด ด้วย Software และเทคโนโลยีที่จำเป็น 2. Agro- Processing Pilot Plant Area : APP Area คือพื้นที่ที่ใช้ในการผลิตสินค้าต้นแบบในด้านของอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปด้านผลไม้ภาคตะวันออก และสมุนไพรที่ไม่ใช่อาหาร เป็นการสนับสนุนและสร้างโอกาสให้ผู้ประกอบการได้มีสถานที่ในการค้นคว้า ทดลอง หรือทดสอบ การทำต้นแบบผลิตภัณฑ์ใหม่ๆ พร้อมการให้บริการเครื่องมือและอุปกรณ์ เพื่อการต่อยอดนวัตกรรมและงานวิจัยไปสู่ผลิตภัณฑ์เชิงพาณิชย์ที่มีมูลค่าสูง ตลอดจนถึงการจัดหาผู้ผลิต การทดสอบตลาด เพื่อบ่มเพาะให้ผู้ประกอบการสามารถนำความรู้ที่ได้ไปพัฒนาสินค้าและสามารถดำเนินธุรกิจได้เองในอนาคต รวมทั้งการให้บริการทางด้านการเงิน การจัดหาแหล่งทุนและเครื่องมือทางด้านการเงินต่างๆ และบ่มเพาะธุรกิจให้ผู้ประกอบการสามารถปรับเปลี่ยนไปสู่การดำเนินธุรกิจและการพัฒนาสินค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นอกจากนี้ ทางศูนย์ ITC 4.0 ภาคที่ 9 นอกจากนี้ ยังมีบริษัทเอกชนรายใหญ่เข้ามาเป็นพี่เลี้ยงเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้านระบบอัตโนมัติ อาทิ บริษัท เดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) มอบชุดฝึกระบบอัตโนมัติสำหรับภาคอุตสาหกรรม (Industrial Automation Demo Kit) บริษัท นาชิ เทคโนโลยี (ประเทศไทย) จำกัด ร่วมกับ บริษัท เคแอนด์เอ็น อีเล็คทริคเวล แอนด์เซอร์วิส จำกัด ติดตั้งศูนย์เรียนรู้ Robot & Automation Learning Area : RAL Area พร้อมสนับสนุนหลักสูตรฝึกอบรมการใช้เครื่องจักรระบบอัตโนมัติ แก่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 เพื่อใช้ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไทยในพื้นที่ภาคตะวันออกด้วยระบบอัตโนมัติ ซึ่งถือเป็นเมืองอุตสาหกรรมและศูนย์กลางโลจิสติกส์ที่สำคัญของประเทศ

ด้านตัวแทนผู้ประกอบการในพื้นที่จังหวัดชลบุรี คุณจรูญศักดิ์ ชีวะธรรมานนท์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท บูรณาพา กรุ๊ป จำกัด ผู้นำและผู้ผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดเก็บและเคลื่อนย้าย ที่มีประสบการณ์ในการออกแบบ การผลิตและบริการบรรจุหีบห่อสำหรับสินค้าประเภทต่างๆ เช่น พาเลทไม้ ลังไม้ และวงล้อไม้ มายาวนานมากกว่า 30 ปี กล่าวว่า จุดเริ่มต้นของ “บูรณาพา” เกิดจากการทำธุรกิจโรงงานผลิตขารองตู้เย็นแบบไม้อยู่ในตลาดหนองมนมาก่อน ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2522 ก่อนจะขยายธุรกิจมาสู่การเป็นผู้ผลิตและขายพาเลทไม้ และมีการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง จนกลายเป็นผู้นำในด้านการผลิตบรรจุภัณฑ์ไม้ เช่นพาเลทไม้ ลังไม้ วงล้อไม้ของประเทศไทย และมีการทำงานร่วมกับผู้ผลิตรายใหญ่ของพาเลทพลาสติกทั่วโลก จนปัจจุบัน บริษัท บูรณาพา กรุ๊ป กลายเป็นบริษัทชั้นนำด้าน Innovation Packaging ด้วยการนำเทคโนโลยีและวิธีการเพื่อป้องกันการเกิดการกัดกร่อนในสินค้าด้วย Intercept Technology™ และใช้ซอฟต์แวร์ที่ทันสมัยในการออกแบบและคำนวณการโหลด เพื่อให้บริการบรรจุภัณฑ์แบบครบวงจรและตรงทุกความต้องการของลูกค้ามากที่สุด ปัจจุบัน บูรณาพา กรุ๊ป มีสาขาอยู่ทั้งหมด 3 สาขา ได้แก่ สาขาบางแสน ขนาด 3,600 ตารางเมตร เป็นพื้นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ พื้นที่เก็บวัตถุดิบขั้นต้น และไลน์การผลิต สาขาสระบุรี เป็นสาขาที่เปิดขึ้นเพื่อรองรับและให้บริการในเขตพื้นที่สระบุรีและจังหวัดใกล้เคียง และสาขามาบตาพุด จ.ระยอง เป็นคลังสินค้าของบริษัท และสาขาย่อยอีก 2 สาขา ที่อ.พนัสนิคม และอ.บ่อวิน ในจ.ชลบุรี

ด้วยประสบการณ์และความเป็นผู้เชี่ยวชาญในการบรรจุภัณฑ์เพื่อการจัดเก็บและเคลื่อนย้าย กอปรกับปัจจุบันสินค้ามีความหลากหลายเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีปริมาณลูกค้าเข้ามาใช้บริการเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ บริษัทจึงมีแนวคิดในการขยายธุรกิจเพื่อรองรับความต้องการดังกล่าว ด้วยการย้ายไลน์การผลิตไปอยู่ที่สาขาหนองปรือ      อ.พนัสนิคม และนำระบบ Automation เข้ามาติดตั้งภายในโรงงาน ส่วนของงานประกอบ ที่สาขาบางแสนทดแทน เพื่อช่วยเสริมสร้างศักยภาพในการผลิตสินค้าให้ได้มาตรฐาน ลดความผิดพลาดและเพิ่มความปลอดภัยในขั้นตอนการผลิตมากยิ่งขึ้น ซึ่งกระบวนการนี้ ทางบูรณาพา กรุ๊ป ได้เข้าไปขอความปรึกษา และแนวทางการปรับเปลี่ยนมาใช้กระบวนการผลิตด้วยระบบอัตโนมัติ ตลอดจนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน การขอใบรับรองมาตรฐานต่างๆ จากทางศูนย์ ITC ภาคที่ 9 นอกจากนี้ การที่มีนโยบายให้เกิดการรวมกลุ่ม (Cluster) ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมเป็นอย่างมาก เนื่องจากการรวมกลุ่มคลัสเตอร์จะมีส่วนช่วยให้ธุรกิจและผู้ประกอบการมีการแลกเปลี่ยนแนวคิด องค์ความรู้ จนนำไปสู่การพัฒนาธุรกิจ จึงถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ศูนย์ ITC มีส่วนช่วยเป็นอย่างมาก

ทั้งนี้ สำหรับผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในพื้นที่ภาคตะวันออก สามารถติดต่อสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม (ITC) ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรมภาคที่ 9 จ.ชลบุรี ซึ่งให้บริการครอบคลุม 9 จังหวัด ได้แก่ จ.ชลบุรี จ.ระยอง จ.จันทบุรี จ.ตราด จ.นครนายก จ.ปราจีนบุรี จ.ฉะเชิงเทรา จ.สระแก้ว และจ,สมุทรปราการ โดยสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวต่างๆ ติดต่อเข้ารับคำปรึกษา ตลอดจนเข้ารับบริการความช่วยเหลือต่างๆ ตามพันธกิจของศูนย์ปฏิรูปอุตสาหกรรม ได้ทางเว็บไซต์ https://ipc9.dip.go.th/th หรือ Facebook: https://www.facebook.com/dip.ipc9/ หรือที่ศูนย์ส่งเสริมอุตสาหกรรม ภาคที่ 9 เลขที่ 67 หมู่ 1 ถนนสุขุมวิท อำเภอเมือง จังหวัดชลบุรี โทร. 038-273-701 หรือ e-mail: [email protected]

 

Previous article“อาณา เอกมัย” บ้านเดี่ยวใจกลางสุขุมวิท
Next articleสภาวิศวกร ระดมวิศวกรทั่วทิศ เตรียมสัมมนาติวเข้มให้ความรู้ต้านภัยภิบัติ