ไม่เชื่อก็ต้องเชื่อ แต่เรื่องของวัสดุก่อสร้าง มันเหมือนหลุมดำที่เราไม่มีทางหยั่งลงไปได้ทั้งหมด เพราะเรามักจะเจอเรื่องใหม่ ๆ ที่ทำให้รู้สึกคล้ายว่าไม่เคยรู้จักมันมาก่อนเลยในหนังสือ เหมือนกับเรื่องที่เรานำมาฝาก

เชื่อไหมว่าการออกแบบ “วัสดุ” ขึ้นมาใหม่สักชิ้น มันช่วยเปลี่ยนโลกพฤกษศาสตร์ได้อย่างไม่น่าเชื่อ นี่คือเรื่องจริงจากอีกมุมหนึ่งของโลกใบนี้ที่กำลังบอกเราว่า “ของชิ้นไม่ใหญ่ถ้านำไปผ่านความคิดดี ๆ จะสร้างสิ่งที่ยิ่งใหญ่ได้เสมอ”

ตัวอย่างของวัสดุที่เรากำลังพูดถึงนี้มาจากนักออกแบบชาวเม็กซิกัน Fernando Laposse ที่นำ Totomoxtle หรือแกลบที่ครอบคลุมข้าวโพดในซังมาพัฒนาสร้างเป็นผลงานศิลปะที่เรียกว่า marquetry หรือที่รู้จักกันในประเภทงานศิลปะที่เรียกว่างานไม้ตัดต่อลาย ผลิตเป็นแผ่นไม้วีเนียร์ที่สร้างสีสันแปลกตา สวยงาม ซึ่งผลจากการสร้างสรรค์วัสดุครั้งนี้ ทำให้สายพันธุ์ของข้าวโพดที่เกือบจะต้องสูญพันธุ์ไปจากผืนดินกลับมาเป็นที่นิยมและเติบโตขึ้นอีกครั้ง

ทำไมถึงสูญพันธุ์ เมื่อ “ข้าวโพด” ยังเป็นหนึ่งเมนูที่เรากินกันเสมอ?

คำตอบของเรื่องนี้มันมาจากหลายเหตุผลของฟากการทำเกษตรกรรม ถ้าข้าวโพดเริ่มไม่อร่อยเราจะยังกินอยู่ไหม? เรื่องของการกินมันเริ่มจากความรู้สึกถูกปากมาก่อน ทว่ารสชาติของผลผลิตทุกวันนี้ก็มีปัจจัยอื่นที่เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ทั้งเรื่องดิน น้ำ สภาพอากาศ ฯลฯ ที่ส่งผลกับปริมาณน้ำตาล (ความหวาน)

คุณภาพของผลผลิตที่ไม่สู้ดี เพราะเกษตรกรปลูกบนภูเขาหัวโล้นที่แห้งแล้ง แล้วใช้วิธีปลูกพืชผสมผสานที่เรียกว่า Milpa อธิบายง่าย ๆ คือการปลูกพืชสลับเพื่อให้ดินยังคงแร่ธาตุไว้ ระหว่างรอการปลูกข้าวโพดพวกเขาก็จะเตรียมหน้าดินด้วยการปลูกถั่วดำและฟักทองไปพลาง ๆ แม้เราจะเข้าใจขั้นตอนนี้ดี แต่รสชาติของมันก็ยังไม่ดึงดูดมากพอให้คนสนใจกิน จนทำให้การทำเกษตรภาคอุตสาหกรรมสำหรับสายพันธุ์นี้เลยไม่คุ้มค่าขึ้นมาและเป็นที่มาของการเกือบจะสูญพันธุ์นั่นแหละ

ขอบคุณรูปภาพจาก dezeen.com

เทคนิคการเปลี่ยนแกลบข้าวโพดไร้ค่าให้กลับมามีมูลค่าอีกครั้งช่วยให้เราไม่เหลือขยะจากการบริโภคข้าวโพด แถมยังสร้างลวดลายบนแผ่นไม้ได้อย่างน่าสนใจ กลายเป็นหนึ่งในตัวอย่างแนวทางรักษ์โลกอีกแบบที่แวดวงสถาปัตย์ต้องติดตาม เพราะนาทีนี้ กระแสกรีนมันฉุดไม่อยู่แล้วและเป็นบทบาทหน้าที่ความรับผิดชอบที่วิชาชีพของเราสามารถช่วยเหลือสังคมได้

กว่าจะมาเป็นวัสดุอย่างที่เห็น กระบวนการผลิตวัสดุชิ้นนี้เริ่มจากการปอกเปลือกข้าวโพดออกจากซัง นำมารีดให้เรียบ ติดกาวลงผืนเส้นใยด้านหลัง จากนั้นนำไปเลเซอร์ตัดแยกเป็นชิ้น ๆ เพื่อนำมาสร้างสรรค์เป็น marquetry (ไม้ตัดต่อลาย)

ขอบคุณรูปกภาพจาก dezeen.com

หลังจากสำเร็จได้วัสดุมาเป็นไม้วีเนียร์ Totomoxtle แล้ว ชิ้นงานจะถูกนำมาใช้ขึ้นรูปเป็นส่วนประกอบของชิ้นงานอื่น ๆ อย่างที่เห็น จะเป็นผนังที่ได้ลวดลายเป็นเอกลักษณ์แปลกตา เฟอร์นิเจอร์ที่มีดีไซน์จากลวดลายเฉพาะตัวอย่างโคมไฟหรือโต๊ะก็น่าสนใจ

ขอบคุณรูปกภาพจาก dezeen.com

จากงานสู่การสร้างอาชีพ

ช่วยสร้างสรรค์งาน ช่วยรักษาพันธุ์พืชใกล้สูญพันธุ์ งานนี้เขายังแถมท้ายให้เรื่องการสร้างอาชีพด้วย ทุกวันนี้เศรษฐกิจโลกไม่ดี เกิดผลกระทบไปทุกหย่อมหญ้า การสร้างงานจึงเป็นการเสริมโครงสร้างทางสังคมให้แน่นแฟ้นกว่าเก่า การสร้างไม้วีเนียร์ Totomoxtle ครั้งนี้จึงเป็นการสร้างอาชีพให้กับคนที่อยู่ในพื้นที่หมู่บ้าน Tonahuixtla ในรัฐปวยบลา ซึ่งอยู่ทางตอนใต้ของประเทศเม็กซิโก Laposse เผยเบื้องหลังการสร้างผลงานชิ้นนี้ไว้กับ Dezeen ผ่านบทสัมภาษณ์ว่า

“นี่คือการร่วมมือระหว่าง 3 ฝ่าย ได้แก่ ตัวผมในฐานะดีไซน์เนอร์ กลุ่มเกษตรพื้นเมืองและธนาคารเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดที่ใหญ่ที่สุดในโลก มันเริ่มต้นจากพวกเขาแบ่งปันเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดจากห้องใต้ดินให้เราเมื่อ 50 ปีที่แล้ว ซึ่งมันก็หวุดหวิดจะสูญสิ้นสายพันธุ์นี้ไปเมื่อ 25 ปีก่อน แต่ในที่สุดวันนี้เราประสบความสำเร็จ กลับมาฟื้นฟูสายพันธุ์ของมันได้สำเร็จ”

ขอบคุณรูปกภาพจาก dezeen.com

นอกจากผลงานของ Laposse ที่ชูโรงเรื่อง zero waste แล้ว ยังมีงานคอนเซ็ปต์ใกล้เคียงกันที่น่าสนใจอีกหลายชิ้น เช่น การสร้างบรรจุภัณฑ์เครื่องสำอางจากแบคทีเรีย ผลงานของ Elena Amato จากกัวเตมาลา และการสร้าง Bioplastic หรือพลาสติกทางเลือกสำหรับใช้แล้วทิ้งทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นจานชามหรือแก้วน้ำซึ่งผลิตขึ้นจากเปลือกกุ้งล็อบสเตอร์ที่กินแล้ว!

ใครที่อยากเห็นของจริงมากกว่าภาพถ่าย ผลงานชิ้นนี้กำลังจัดแสดงอยู่ในนิทรรศการ Food: Bigger than the Plate ที่พิพิธภัณฑ์ V&A ในลอนดอน ซึ่งภายในนิทรรศการจะเปลี่ยนความคิดเดิม ๆ ที่เรามีเกี่ยวกับอาหาร เพราะโลกแห่งอนาคตอาหารจะอยู่นอกจานมากขึ้น

วันว่าง ๆ การแวะชมนิทรรศการจะช่วยเปิดประสบการณ์และไอเดียใหม่ ๆ ให้เราได้นำมาใช้ประโยชน์มากกว่าที่คิด

อ้างอิงข้อมูลจาก:
1. https://www.dezeen.com/2019/05/30/totomoxtle-fernando-laposse-mexico-corn-circular-economy-design/
2. https://joo.gl/GCkVi
3. https://www.facebook.com/notes/flo/study-journal-04-marquetry/838144622920407/

Previous article“ไซมิส แอสเสท” เปิดตัว “SIAMESE RAMA 9”
เมกะโปรเจคแห่งใหม่บนถนนพระราม 9
Next article“ดร.พัฒน สุวรรณสัมฤทธิ์” สถาปนิกชาวไทย
นำทัพแสดงผลงานการออกแบบสู่สายตาต่างชาติ