ถ้าทุกอย่างในบ้านต้องฉลาดขึ้นจากอุปกรณ์ที่ทำให้บ้านกลายเป็น Smart Home บ้านเองก็ควรต้องฉลาดด้วยตัวเองบ้างเหมือนกัน เราเคยคิดอย่างนั้นมาตลอด แล้ววันนี้นวัตกรรมบ้านฉลาดจากตัวบ้านเองนั้นก็เกิดขึ้นแล้วในประเทศจีน!

เห็นหน้าตาประกอบ Geometric แปลก ๆ แบบนี้ มันคือกระท่อมที่อยู่ในหมู่บ้าน Xiahuayuan ภายในศูนย์บริการนักท่องเที่ยวประเทศจีน โดยกระท่อมอัจฉริยะดังกล่าว ด้านบนสามารถเปิดปิดได้ทั้ง 3 ด้าน ตามอุณหภูมิภายนอก

ผลงานชิ้นนี้ประดิษฐ์ขึ้นโดยทีมคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัย Tsinghua  นำทีมโดยศาสตราจารย์ Weiguo Xu ซึ่งได้อธิบายว่า กุญแจสำคัญของการเปิดปิดประตูกระท่อมขนาดกะทัดรัดคือ การทำงานด้วยระบบ
ไฮดรอลิกส์ คำนวณอุณหภูมิแล้วว่าถ้าปิดเมื่อภายนอกอุณภูมิลดลงเหลือ 16 องศาเซลเซียส และจะเปิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิแตะ 29 องศาเป็นต้นไป เรียกง่าย ๆ ว่าหนาวก็หุบตัวลงเพื่อให้คนด้านในอุ่น แต่ถ้าร้อนก็พร้อมจะเปิดกำแพงออกเพื่อระบายความร้อนนั่นเอง

กระท่อมหินที่ออกแบบมาเพื่อโลกอนาคต

จากรูปลักษณ์แปลก ๆ อย่างที่เราบอกไป ความจริงนักออกแบบเขาตั้งใจดีไซน์ให้มันมีหน้าตาและรูปร่างแบบเดียวกับหิน เพื่อให้เจ้ากระท่อมหลังนี้สะท้อนภาพความขรุขระเนียน ๆ ไปกับสภาพแวดล้อมข้างเคียงที่เป็นภูเขา แต่ความหินนั้นเป็นเพียงรูปร่าง เพราะภายในที่มีระบบเปิดปิดฉลาด ๆ ที่บ้านยุคนี้เองก็ยังไม่ค่อยมีให้เห็น

พอเห็นแบบนี้หลายคนคงเริ่มจะแย้งแล้วว่าเปิดปิดตามอุณหภูมิอย่างเดียว มันก็ใช้งานจริงไม่ได้สิ เพราะเราคงควบคุมไม่ได้ เรื่องนี้ทางทีมดีไซน์เขาอธิบายจุดประสงค์ของการสร้างแล้วว่า ช่วงนี้ผู้คนหันมาท่องเที่ยวธรรมชาติตามเนินเขาเตี้ย ๆ มากขึ้น หมู่บ้าน Xiahuayuan เองก็เป็นหมู่บ้านที่มีลักษณะตรงกันกับการท่องเที่ยวแนวนี้ ทางมหาวิทยาลัยก็เลยเตรียมการสร้างชิ้นงานไว้รองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่าน่าจะเข้ามาเยอะในช่วงโอลิมปิกฤดูหนาวปี 2022 ที่ปักกิ่ง

กระท่อมหลังนี้ พวกเขาตั้งใจให้มันอยู่ในศูนย์บริการท่องเที่ยวและอยากให้มันเป็นหน้าเป็นตา ทำหน้าที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือนและศูนย์ขายสินค้าที่ระลึก เพราะเชื่อว่าลูกเล่นนี้จะกลายเป็นฟังก์ชันที่มีเสน่ห์ แถมยังปรับใช้เป็นเวทีสำหรับจัดแสดงระหว่างช่วงเทศกาลและอีเว้นท์ที่มีสเกลงานขนาดใหญ่ได้ด้วย

โครงสร้างของกระท่อมอัจฉริยะ

สไตล์งานที่ดูมินิมัลนี้ถ้าเราลองแกะแบบออกมาแล้วจะพบว่ามีชิ้นส่วนที่ทำขึ้นจาก G.R.C. (Glass Reinforced Cement) หรือ ซีเมนต์เสริมใยแก้ว จากนั้นนำไปติดกับโครงเหล็กท่อ ภายนอกแผ่นซีเมนต์ที่เป็นกำแพงกระท่อมเก็บรายละเอียดตบแต่งให้คล้ายสีของดิน กลมกลืนกับพื้นที่อื่น ๆ รอบหุบเขา

งานนี้สำเร็จได้ ส่วนหนึ่งถือเป็นความฉลาดในการเลือกวัสดุอย่าง G.R.C. มาแมตช์ใช้ในงานนี้ เพราะใครที่รู้คุณสมบัติของเจ้าซีเมนต์เสริมใยแก้วนี้จะรู้ดีว่ามันเอื้อประโยชน์กับฟังก์ชันการเปิดปิดขนาดไหน เนื่องจาก G.R.C คือ ส่วนผสมของซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ทรายน้ำและใยแก้ว ทำให้สามารถนำไปหล่อให้เป็นรูปร่างต่าง ๆ ได้ง่าย

เอกลักษณ์ของ G.R.C. คือการรับแรงกระแทกได้มาก น้ำหนักเบาแต่แข็งแรงทนทาน ติดตั้งได้ในทุกสภาพอากาศและไม่สร้างมลพิษ ขณะเดียวกันยังทนต่อทุกสภาพอากาศ โดยมีอัตราการยืดหดต่ำเมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ

ด้านความทึบของแผ่นซีเมนต์ยามปิดสนิททุกด้าน (กรณีที่อุณหภูมิต่ำว่า 16 องศา) นักออกแบบเขาก็คิดเผื่อไว้และแก้เกมด้วยการเจาะช่องสามเหลี่ยมเล็ก ๆ กระจายไว้เพื่อนำแสงสว่างจากธรรมชาติเข้ามาไว้ภายในอาคาร ซึ่งนับว่าเป็นการออกแบบที่เน้นการประหยัดพลังงานได้ดีทีเดียว

กระท่อมหลังนี้ติดตั้งอยู่บนเนินขนาดเล็กที่มีฐานเป็นอิฐท้องถิ่นสีแดง ซึ่งวางต่อเนื่องไปกับเนินเขาธรรมชาติแห่งอื่น เพื่ออธิบายคอนเซ็ปต์การเป็น “Natural Auditorium” หรือหอประชุมธรรมชาติซึ่งมนุษย์สามารถเข้าไปใช้พื้นที่ได้ทันทีที่มันเปิดขึ้น

“ถ้าตระหนักเรื่องการออกแบบเชิงนิเวศน์จริง ๆ มันจำเป็นอย่างยิ่งที่เราจะต้องรวมเทคโนโลยีเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวางระบบอาคารใหม่” – คณะสถาปัตยกรรม เผย

จะเห็นว่าโปรเจกต์แนวนี้น่าจะเป็นแนวที่กำลังฮิตในอนาคต และผลงานชิ้นนี้น่าจะเป็นอีกตัวอย่างที่ทำให้เห็นแนวทางการออกแบบรูปแบบใหม่ที่สร้างสถาปัตยกรรมไว้ตอบสนองกับธรรมชาติมากขึ้น ดังนั้น สถาปนิกหลายคนในวันนี้จึงเริ่มลงลึก หันมาสำรวจศักยภาพของวัสดุแต่ละชิ้นและการสร้างอาคารให้เกิดมิติใหม่เพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพด้านสิ่งแวดล้อม

อย่างที่เราเคยกล่าวไว้หลายครั้งแล้วว่า ความทันสมัยไม่ใช่ปรปักษ์กับสิ่งแวดล้อมเสมอไปหากเราเลือกวิธีใช้หรือประยุกต์มันเพื่อสร้างสรรค์ผลงานได้ตอบโจทย์ หวังว่าข้อมูลที่ BuilderNews นำมาส่งต่อจะทำให้ผู้อ่านทุกคนที่กำลังหาไอเดียเพื่อสร้างอะไรสักอย่างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมได้ดียิ่งขึ้น

ถ้าใครทำได้สำเร็จแล้วอย่าลืมเอามาแชร์ให้เราดูกันบ้างนะ

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Operable Interactive Village Hut opens and closes depending on the temperature

เเละ http://www.premier-products.co.th/index.php?route=product/product&product_id=107

อ้างอิงภาพประกอบจาก Tsinghua University School of Architecture.

Previous articleDOM หุ่นยนต์นักตรวจสอบพิซซ่าขั้นเทพ!
Next articleรถบินได้บุกโลก! BMW ปั้น “Skai” ร่อนส่งคนหนีรถติด