สมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (TCA) ยืนยันพร้อมเดินหน้าผลักดันภาคการก่อสร้างไทยสู่ความยั่งยืน ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ โดยมุ่งส่งเสริมให้เกิดความร่วมมือเชิงบูรณาการของทุกภาคส่วน เน้นให้ความสำคัญในเรื่องคุณภาพแรงงาน การบริหารทรัพยากรบุคคล การสนับสนุนจากภาครัฐ รวมถึงการปรับใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่อยกระดับขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม
คุณถาวร เสนเนียม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า อุตสาหกรรมก่อสร้างไทยมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง ด้วยที่ตั้งของประเทศเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคอาเซียนที่มีการเติบโตเร็ว ทั้งยังมีโอกาสทางธุรกิจที่ยืดหยุ่นและกว้างขวาง ก่อให้เกิดการสร้างงาน พัฒนาการทางธุรกิจ และความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจ
โดยในปี 2562 พบว่า มูลค่าของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย มีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้น 6.5% จากปีก่อนหน้า แบ่งเป็นแรงส่งจากภาครัฐ 9% และจากภาคเอกชน 3.5% ขณะที่ช่วงปี 2552 – 2560 ที่ผ่านมา มูลค่าการลงทุนของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยคิดเป็นสัดส่วน 8.4% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ
นอกจากนี้วงการก่อสร้างไทยยังเป็นที่ยอมรับในระดับสากล โดยติดอันดับ 32 ของโลก ในการจัดอันดับดัชนีวัดประสิทธิภาพระบบโลจิสติกส์ของธนาคารโลก ทั้งยังครองอันดับ 2 ของอาเซียน และอันดับ 9 ของโลก ในการจัดอันดับดัชนีความสามารถทางการแข่งขันหมวดโครงสร้างพื้นฐาน จากทางสภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum: WEF)
คุณถาวร ยังย้ำอีกว่า การพัฒนาศักยภาพของอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยเป็นหนึ่งในฟันเฟืองหลักที่สร้างความก้าวหน้าให้แก่ประเทศ จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางกระทรวงคมนาคมมุ่งมั่นยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยเฉพาะด้านการขนส่ง ทั้งในส่วนทางหลวง ทางหลวงชนบทและความปลอดภัยของเส้นทาง เพื่อการขับเคลื่อนระเบียบเศรษฐกิจภาคตะวันออก
คุณอังสุรัสมิ์ อารีกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ เล่าว่า ทางสมาคมฯ วางเป้าหมายการเดินหน้าส่งเสริมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน 3 ประการ คือ ประการแรก ด้านแรงงาน ทั้งในเรื่องของความขาดแคลน ด้านคุณภาพทางทักษะ ด้านต้นทุนค่าแรงที่ปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงเรื่องของระบบการบริหารจัดการทรัพยากรบุคคล เพื่อให้เข้าถึงแรงงานที่มีศักยภาพสูง และสร้างวงจรการทำงานที่ก่อให้เกิดการเติบโตขององค์กรระยะยาว
ประการที่สอง คือ บทบาทของภาครัฐ ในการสนับสนุนภาคการก่อสร้างไทยให้เติบโตอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งแง่ของนโยบาย การควบคุมราคากลาง ระเบียบการจัดซื้อจัดจ้าง มาตรการด้านแรงงาน การส่งเสริมการลงทุนในต่างประเทศ ควบคุมการแสวงหาผลประโยชน์จากต่างชาติ และการบริหารจัดการ ส่วนประการสุดท้าย คือ การปรับใช้นวัตกรรมในงานก่อสร้าง เพื่อยกระดับสายการผลิตและการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพ มีความแม่นยำ ทั้งหมดนี้เพื่อมุ่งส่งเสริมอุตสาหกรรมการก่อสร้างไทยให้ก้าวหน้าทัดเทียมสากล ตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์กรสหประชาชาติ