เรายังอยู่ในซีรีส์ของ Dezeen’s Review of 2019 โดยคราวนี้จะเป็นคิวของ สุดยอด Pavilion ที่สวยงามด้านสถาปัตยกรรม มากด้วยฟังก์ชัน และความสร้างสรรค์สุดบรรเจิด จะมีที่ไหนบ้างนั้น ต้องมาติดตามกันครับ

Stone 27, USA, by Benjamin Langholz

เริ่มต้นกันที่ประเทศสหรัฐอเมริกากับ Pavilion ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวอย่าง Stone 27 สร้างสรรค์โดย Benjamin Langholz ที่นำเอาหินขนาดกลาง ๆ พอที่คนจะขึ้นไปยืนได้ จำนวน 27 ก้อน มาต่อกันเป็นวงกลมไล่ระดับความสูง สังเกตดี ๆ จะมีลักษณะคล้ายกับบันไดวน แล้วหินมันจะลอยได้อย่างไร? การออกแบบให้หินลอยได้นั้น ค่อนข้างจะยากมาก ๆ เพราะด้วยตัวหินที่มีน้ำหนักอยู่พอสมควรแล้ว Benjamin จึงเลือกใช้เสาเหล็กค้ำไว้ทั้ง 3 ด้าน แล้วขึงด้วยลวดสลิงเส้นโต เพื่อให้ผู้เข้าเยี่ยมชมได้เดิน หรือปีนป่ายได้อย่างสนุกสนาน

“แนวคิดการออกแบบ Stone 27 คือ ต้องการให้ผู้เข้าเยี่ยมชม ได้สัมผัสช่วงเวลาที่มีความสุขไปกับการเดินทางเข้าสู่ Pavilion แห่งนี้ และเป็นเหมือนสิ่งที่ผนึกความคิดอันฟุ้งซ่านของผมและใครอีกหลาย ๆ คนด้วย” Benjamin Langholz ผู้ออกแบบกล่าวทิ้งท้าย

Find out more about Stone 27 ›

Serpentine Pavilion, UK, by Junya Ishigami

Pavilion สไตล์ญี่ปุ่นแห่งนี้ ตั้งอยู่ในกรุงลอนดอน ออกแบบโดย Junya Ishigami สถาปนิกชาวญี่ปุ่นคนที่ 4 ที่ได้ออกแบบ Serpentine Pavilion หลังคามุงด้วยกระดานชนวนจำนวน 61 ตัว และค้ำด้วยเสาต่างระดับจำนวน 106 ต้น ล้อมด้วยความเขียวขจีของพื้นหญ้าและต้นไม้ในสวนของ Kensington รอบบริเวณ Serpentine Pavilion เป็นส่วนหนึ่งของแกลลอรี่สุดหรูอย่าง Serpentine เป้าหมายของ Junya คือการนำเอาสิ่งที่อยู่ในป่าออกมาสู่สายตาคนทั่วไปและการนำหินชนวนมาใช้ ก็เป็นหนึ่งในงานสถาปัตยกรรมที่มีอยู่ทั่วไป แต่ Junya ต้องการทำให้สองข้อนี้รวมเข้าอยู่ด้วยกันโดยไม่ส่งผลกระทบต่อ landscape ของแกลลอรี่แห่งนี้ “ผมไม่ต้องการจำกัดจิตนาการของผู้คนที่เข้ามาเยี่ยมชม บางคนอาจจะมอง Pavilion แห่งนี้ได้หลากหลายรูปแบบ แล้วแต่สภาพจิตใจของผู้มองตอนนั้น” Junya กล่าวทิ้งท้าย

Find out more about the Serpentine Pavilion ›

The Room for Archaeologists and Kids, Peru, by Studio Tom Emerson and Taller 5

ด้วยความร่วมมือกันระหว่างนักศึกษาจาก Studio Tom Emerson ที่ Zurich และ Taller 5 PUCP จากประเทศเปรู รวมถึงสถาปนิก อย่าง Guillaume Othenin-Girard และ Vincent Juillerat สร้าง Pavilion เพื่อเป็นสถานที่ทำงานของนักโบราณคดีที่ประเทศเปรู ออกแบบโดยใช้วัสดุที่มีอยู่ในท้องถิ่น เช่น การนำเอาไม้ไผ่มาทำเป็นกำแพง ผนังห้อง รวมถึงประตู การนำดินมาทำเป็นกำแพงแบ่งห้อง และการใช้ผ้าสีขาวมาพาดสลับฟันปลาเพื่อเป็นหลังคากันแดด เป็นต้น นอกจากเป็นพื้นที่ของนักโบราณคดีแล้ว ยังเปิดให้เด็ก ๆ บริเวณนั้นสามารถเข้ามาวิ่งเล่นและศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับของโบราณที่ขุดเจอได้

“เราระมัดระวังในการออกแบบเป็นอย่างมาก เพื่อไม่ให้กระทบกับภูมิทัศน์ของวิหาร Pachacamac และเราต้องการให้พื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ของการเรียนรู้สำหรับเด็ก ๆ บริเวณนี้อีกด้วย” ทีมนักออกแบบกล่าว

Find out more about The Room for Archaeologists and Kids ›

Module+, Vietnam, by Nguyen Khac Phuoc Architects and Dang + Partners

ขยับมาที่เพื่อนบ้านเรา อย่างประเทศเวียดนามกับ Pavilion สไตล์มินิมัลนาม Module+ ออกแบบโดย Nguyen Khac Phuoc และ Dang + Partners ตั้งอยู่ทางตอนเหนือของเวียดนาม ท่ามกลางหุบเขา Thanh An Tea Hills ซึ่งเป็นสถานที่ที่อุดมสมบูรณ์อย่างมาก แถมยังติดกับทะเลสาบ Dap Cau Cau ซึ่งเป็นสถานที่แห่งการเพาะปลูกใบชา ทีมออกแบบใช้เป็นไม้แยกส่วนรูปทรงคล้ายไม้กางเขนจำนวน 2,000 ชิ้น และเลือกทำเลที่อยู่ติดกับทะเลสาบและเนินเขาเพื่อมอบภูมิทัศน์ที่สวยงามให้กับผู้เข้าชมและไม่บดบังทัศนียภาพที่สวยงามของบริเวณนี้ โดย Concept ของการสร้างก็เพื่อเป็นจุดพักผ่อนของคนในชุมชนรวมถึงนักท่องเที่ยวและต้องการให้สัมผัสถึง “ความเงียบสงบของแผ่นดิน”

Find out more about Module+ ›

Potemkin Theatre, UK, by Maich Swift Architects

กลับมาที่กรุงลอนดอนกับ Pavilion รูปทรงแปลกตา ที่ทั้งสองฝั่งไม่เหมือนกัน “Potemkin Theatre” ออกแบบโดย Paul Maich และ Ted Swift แห่ง Maich Swift Architects ที่ได้รับรางวัลชนะเลิศจากเวที Antepavilion ประจำปี 2019 ด้วย Pavilion ถูกติดตั้งบนหลังคาโกดังแห่งหนึ่ง ซึ่งสามารถมองเห็นได้ทั้งคลอง Columbia และท่าเรือ Brunswick ฝั่งหนึ่งจะใช้โครงไม้ในการก่อสร้าง ปิดด้วยแผ่นไม้สีเหลือง ส่วนอีกฝั่งของ Pavilion ใช้ผ้าแคนวาสสองสีวางสลับเลเยอร์ที่ต่างแตกกัน ภายในเป็นบันไดวนมีลักษณะที่ซับซ้อนสามารถเดินขึ้นไปถึงยอดด้านบนของ Pavilion ได้ Ted Swift กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราหวังที่จะเติมเต็มอีกฟากหนึ่งของความสุขและความสนุกให้กับผู้ที่เข้ามาเยี่ยมชม”

Find out more about Potemkin Theatre ›

Level Up, Croatia, by Brett Mahon, Joonas Parviainen, Saagar Tulshan and Shreyansh Sett

Pavilion แห่งการพักผ่อนนี้สร้างโดยกลุ่มสถาปนิก 4 คน ตั้งอยู่ใจกลางเมือง Rijeka โดยใช้ Concept อย่างเรียบง่ายคือ ต้องการสร้างที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับชุมชนบริเวณนี้ พื้นที่ด้านหลังของโกดัง Export Drvo ถูกก่อสร้างขึ้นในปี 1950 ด้วยความที่พื้นที่ด้านหลังติดกับคลองที่ใช้ขนส่งสินค้า จึงทำให้บริเวณนี้เป็นพื้นที่สำหรับอุตสาหกรรม และเริ่มมีการเสื่อมโทรมตามกาลเวลา กลุ่มสถาปนิกจึงสร้าง Pavilion แห่งนี้เพื่อเป็นพื้นที่พักผ่อนหย่อนใจให้กับชาวบ้านระแวกนี้ รวมถึงนักท่องเที่ยวด้วย ตัว Pavilion สร้างขึ้นจากนั่งร้านขนาดใหญ่ เพื่อให้เข้ากับสถานที่ด้านหลังโกดัง เสริมพื้นที่สำหรับนั่งเล่นด้วยไม้อัดและเปลสำหรับนอน และพวกเขาก็ไม่ลืมที่จะเติมสีเขียวเล็ก ๆ น้อย ๆ เพื่อเป็นกิมมิคแห่งความสดชื่นเข้าไว้กับ Pavilion อย่างแนบเนียน “มีคนถามพวกเราว่า ทำไมไม่สร้างในสวนสาธารณะ? เราตอบว่า พื้นที่บริเวณนี้เป็นพื้นที่เก่าแก่ เราอยากยกระดับความสุขให้กับผู้คนแถวนี้ก่อน เพื่อไม่ให้ประวัติศาสตร์บริเวณนี้ถูกลบเลือนหายไป” ทีมออกแบบกล่าวทิ้งท้าย

Find out more about Level Up ›

MPavilion, Australia, by Glenn Murcutt

หนึ่งใน Pavilion ที่ทีมงาน BuilderNews ชอบมากคงต้องยกให้กับ MPavilion แห่งนี้เลย ด้วยการออกแบบที่เรียบง่าย ไม่ซับซ้อน แต่ซ่อนเทคโนโลยีล้ำ ๆ เข้าไว้ MPavilion ซ่อนตัวอยู่ใน Melbourne’s Queen Victoria Gardens และยังได้รับรางวัล Pritzker Prize-winning เมื่อฤดูร้อนที่ผ่านมา Glenn Murcutt ผู้ออกแบบกล่าวว่า กลางวันเราอาจจะมองสถานที่แห่งนี้เป็นเหมือนศาลาพักทั่ว ๆ ไป แต่เมื่อไหร่ที่ตะวันลาลับขอบฟ้าไป ไฟ LED ที่ซ่อนไว้ก็จะเผยโฉมออกมา ให้แสงที่นวลตาและความปลอดภัยให้กับผู้ที่ผ่านไปผ่านมาอีกด้วย หากคุณมองขึ้นไปที่เพดานของ MPavilion จะพบกับ แผ่นสีขาวขนาดใหญ่หลายแผ่นต่อ ๆ กัน แถมยังมีที่ด้านหน้าและด้านท้ายอีกด้วย ไม่ต้องสงสัยเลย เพราะมันคือแผง LED ขนาดยักษ์ ที่ให้สีนวลตาและด้วยความที่แสงสีส้มที่เปล่งแสงออกมาจาก Pavilion แห่งนี้ จึงได้รับฉายาว่า “ตะเกียงแห่ง Melbourne’s Queen Victoria Gardens”

Find out more about MPavilion ›

The Colour Palace, UK, by Yinka Ilori and Pricegore

Pavilion สีสดใสแห่งนี้ออกแบบโดยดีไซน์เนอร์หนุ่มอย่าง Yinka Ilori ร่วมมือกับ Pricegore Studio ได้รับแรงบันดาลใจมาจากสิ่งทอรูปแบบต้นตำรับแถบแอฟริกาและพบได้บ่อยที่ประเทศไนจีเรีย แถมบริเวณที่ตั้งของ Pavilion แห่งนี้ ยังอยู่ใกล้เขต Peckham ซึ่งเป็นที่ตั้งของกลุ่มชุมชนขนาดใหญ่จากประเทศไนจีเรียอีกด้วย

“เราหยิบเอาไอเดียการสร้างมาจากร้านขายผ้าต่าง ๆ ที่ตลาด Balogun ในเมือง Lagos ซึ่งตอนที่ผมเห็นการจัดเรียงผ้าของร้านค้าเหล่านี้ มันเหมือนสิ่งที่ป้องกันเราจากแสงอาทิตย์เลย อีกอย่างเราอยากสร้างเพื่อให้ชุมชนไนจีเรียบริเวณนี้ ได้ความรู้สึกเหมือนกับอยู่ที่บ้านอีกครั้ง” IIori กล่าว The Colour Palace มีความยาวด้านละ 10 เมตร โดยออกแบบเป็นทรงสี่เหลี่ยมจัตุรัส ทำจากวัสดุที่เรียบง่ายคือ ไม้ทั่ว ๆ ไปและทาสีเฉดเดียวกันกับผ้าที่ขายในตลาด Balogun เสาทั้งสี่ด้านก็ใช้เป็นท่อระบายน้ำคอนกรีตที่ถูกปลดประจำการไป แต่ก็ยังมีประสิทธิภาพอันยอดเยี่ยมเหมือนเดิม

Find out more about The Colour Palace ›

BUGA Fibre Pavilion, Germany, by University of Stuttgart

หากมองผ่าน ๆ Pavilion แห่งนี้มีความคล้ายกับสิ่งมีชีวิตจากนอกโลกเลย แต่จริง ๆ แล้ว มันคือผลผลิตจากการทดลองด้านชีวมวลโดยนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Stuttgart ได้นำเอาโครงสร้างของเม่นทะเลมาเป็นต้นแบบของ Pavilion แห่งนี้ นอกจากนั้นหลังคาที่ใส ๆ ที่คุณเห็นอยู่นี้ ก็ได้นำเอาโครงสร้างของปีกแมลงจำพวกแมลงปีกแข็งมาใช้อีกด้วย หลังคาสีใสนั้นคือเส้นใยไฟเบอร์โปร่งแสงผสมกับแก้วและห่อหุ้มด้วยพลาสติกอีกชั้น ส่วนโครงสีดำทำจากคาร์บอนไฟเบอร์เพื่อความแข็งแรง น้ำหนักของ Pavilion แห่งนี้ อยู่ที่ 7.6 กิโลกรัมต่อตารางเมตรเท่านั้น ซึ่งถือว่าเบามาก ๆ แถมยังแข็งแรงทนทาน ผ่านการทดสอบมาแล้ว “ด้วยวัสดุและการก่อสร้างที่ล้ำสมัย ทำให้ Pavilion แห่งนี้ มีน้ำหนักที่เบา เคลื่อนย้ายง่าย ทำให้เป็นพื้นที่สำหรับชุมชนได้ง่ายขึ้น” ทีมนักออกแบบกล่าว

Find out more about BUGA Fibre Pavilion ›

Luum Temple, Mexico, by CO-Lab Design Office

ปิดท้ายกันที่วัด Luum ประเทศเม็กซิโกกับการสร้าง Pavilion แห่งความเงียบสงบโดย CO-Lab Design ที่รังสรรค์ไม้ไผ่เพื่อเป็นพื้นที่สงบจิตสงบใจ ฝึกโยคะ การประชุมของคนในชุมชน รวมถึงทำสมาธิในป่า Tulum โดย Co-Lab บอกว่า Pavilion แห่งนี้ได้รับการพัฒนาวัสดุมาจากไม้ไผ่ที่สามารถต้านแรงพายุเฮอริเคนได้ อีกทั้งการออกแบบมีความสมมาตรทำเป็นซุ้มโค้ง 5 ชิ้นต่อกันเป็นแบบวงกลม

“โปรเจกต์นี้สร้างขึ้นด้วยหลักการพัฒนาแบบยั่งยืน และการก่อสร้างต้องไม่กระทบกับระบบนิเวศของป่า Tulum แห่งนี้ด้วย เราค้นพบความแข็งแกร่งอันน่าทึ่งของไม้ไผ่ และทำการวิจัยต่อเพื่อดึงศักยภาพของมันออกมาใช้ให้มากที่สุด” นอกจากไม้ไผ่ที่เป็นโครงสร้างหลักแล้ว ยังมีการนำ “หญ้าซากาเต” วัสดุท้องถิ่นมามุงหลังคาอีกด้วย

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

Dezeen’s top 10 pavilions of 2019

Previous articleEditor’s Choice: ย้อนชม 10 สุดยอดนวัตกรรม ปี 2019 ที่มีคนอ่านมากที่สุด
บนเว็บไซต์ BuilderNews
Next articleพบความงามของหิน “Vicenza” ในคอลเลกชัน BIOCOLORE จาก BCXSY
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ