รู้หรือยังว่านักกีฬาโอลิมปิกปีนี้เขานอนเตียงกระดาษกัน!
น่าจะแปลกที่สุดเท่าที่เคยได้ยินการเตรียมตัวของเจ้าภาพโอลิมปิกมาเลย เพราะเจ้าภาพโอลิมปิกปีนี้ที่หลายคนรอคอยอย่างญี่ปุ่นเผยว่าเขาเตรียมเตียงกระดาษไว้ให้นักกีฬาทุกคนนอน หลายอย่างที่เผยออกมาก่อนหน้านี้ ทั้งรถยนต์ไร้คนขับที่พร้อมรับส่งนักกีฬาสุดล้ำ การผลิตเหรียญรางวัลจากวัสดุรีไซเคิล ล้วนเป็นของล้ำ ๆ ที่ทำให้คนตื่นตาตื่นใจกัน
เราจะพาไปดูว่าทำไมเขาถึงใช้สิ่งนี้
26,000 เตียง ที่ทำจากกระดาษ แบ่งออกเป็น 18,000 เตียงในหมู่บ้านโอลิมปิก กับอีก 8,000 สำหรับนักกีฬาพาราลิมปิก คือส่วนหนึ่งของแผนการเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่ญี่ปุ่นเตรียมไว้ และอันที่จริงแม้วัสดุจะต่างกัน แต่ทั้งหมดที่เขาทยอยพรีเซนต์ออกมาว่าเตรียมอะไรไว้ในงานโอลิมปิกโตเกียวล้วนโยงไปถึงแผนเดียวกันนี้ทั้งหมด
เป้าหมายของการจัด Tokyo 2020 คือการลดทรัพยากรที่ต้องสูญเสียหรือสิ้นเปลืองระหว่างการแข่งขัน ดังนั้น เจ้าภาพอย่างญี่ปุ่นจึงเซตไว้แล้วว่า 99% ของไอเทมและสินค้าทุกอย่างที่ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อให้สามารถใช้งานได้ต่อ หรือนำวัสดุเหลือใช้มา reuse
ตัวกระดาษแข็งที่นำมาใช้ เป็นกระดาษแข็งที่ทำจากวัสดุโพลีเอธิลีน แข็งแรงและสามารถนำมาใช้ซ้ำได้ ดังนั้นตัดประเด็นเรื่องใช้แล้วพังไปได้เลย ยิ่งเมื่อความเป็นชาติแห่งศาสตร์ออริกามิผสมผสานกับบริษัทออกแบบที่นอน airweave inc., บวกความเป็นญี่ปุ่นที่ใส่ใจทุกรายละเอียด เราจึงตัดสินฟังก์ชันมันจากภายนอกไม่ได้
เตียงแต่ละหลังประกอบด้วยสามส่วนที่แตกต่างกัน รองรับร่างกายส่วนบน ส่วนกลางและส่วนล่าง โดยแต่ละชั้นถูกเตรียมมาเฉพาะให้สามารถปรับแต่งได้ตามสรีระของนักกีฬาเพื่อให้หลับได้อย่างสบาย หมอนหนุนเองก็มีรอยเว้าตรงกลางเพื่อรอรับคอและศีรษะได้ทุกท่วงท่า ไม่ว่าจะนอนหงายหรือนอนตะแคงก็ยังสบาย
ภาพความเปลี่ยนแปลงระดับโลกที่ญี่ปุ่นเริ่มลงมือทำก่อนและทำให้นานาชาติรับรู้ปีนี้ น่าจะส่งผลสะท้อนออกไปในวงกว้างเพื่อให้ผู้คนตระหนักว่า หากเราเอาจริงก็สามารถแก้ไขปัญหานี้ร่วมกันและทำมันออกมาเป็นอย่างดีจนเป็นที่ยอมรับได้
หากของเดิมที่เคยเป็นขยะถูกนำมาเวียนใช้
หากของใหม่ที่สร้างขึ้นอายุการใช้งานยาวนานและสามารถย่อยสลายได้
นี่จะเป็นทางออกที่เราทุกคนทำได้เพื่อโลกใบนี้
เช่นเดียวกับประโยคที่เจ้าภาพการจัดโอลิมปิกเจ้าของดินแดนอาทิตย์อุทัยพูดทิ้งท้ายไว้ว่า
“นี่คือครั้งแรกในประวัติศาสตร์การจัดโอลิมปิกและพาราลิมปิก ที่ทุกหมู่บ้านนักกีฬาจะใช้เตียงทุกหลังจากวัสดุทดแทนทั้งหมด และเราตั้งใจให้มันนำเสนอเรื่องความยั่งยืนออกไปสู่สังคม สาธารณะ เพื่อให้ผู้คนตระหนักถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ”
อ่านจบแล้วหลายคนที่กำลังเริ่มก้าวเล็ก ๆ คงมีกำลังใจมากขึ้น ส่วนขาผู้ผลิตก็ไม่ต้องกังวลว่าเราผลิตโดยใช้แต่ของใหม่ตลอดเวลา เพราะถ้าเรานำของเดิมที่เคยไร้ค่ากลับมาผลิตใหม่และปรับปรุงให้ดูดีแบบญี่ปุ่น เชื่อมั่นว่าผู้บริโภคทุกคนต้องยอมรับอย่างแน่นอน
อ้างอิงแหล่งข้อมูลจาก
https://www.designboom.com/design/athletes-sleep-on-cardboard-beds-tokyo-olympics-01-10-2020/