ยุคนี้การเดินทางเราสะดวกขึ้นเพราะมีสตาร์ตอัปแบบ LINEMAN GRAB หรือ GET เข้ามาเป็นบริการทางเลือกใหม่สำหรับการเดินทางสาธารณะ แต่เราก็ต้องยอมรับว่าหลายอย่างยังไม่ได้รับรองให้ถูกกฎหมาย ทำให้บางบริการเองก็มีเหตุให้ต้องยุบไป แต่นี่ก็ไม่ใช่ปัญหาแค่ในบ้านเราเท่านั้น ต่างประเทศเองก็มี เขาจึงคิดวิธีแก้ปัญหาเรื่องนี้ขึ้น
เมื่อ UBER โดนต่อต้านในลอนดอน พร้อม ๆ กับนวัตกรรมการขับขี่ด้วย AI เริ่มกลายเป็นกระแสที่แรงขึ้นเรื่อย ๆ หนุ่มนักออกแบบ Benjamin Huberts ผู้เป็นเจ้าของเอเจนซี่ Layer เลยผุดนวัตกรรมการเดินทางแบบใหม่ออกมาชื่อว่า JOYN เพื่อแก้ไขปัญหานี้และตอบโจทย์ชาวมินเลเนียลและ GEN Z ที่รักการเดินทางแบบนี้ แต่พัฒนาให้เจ๋งและดีกว่าเดิม
คอนเซ็ปต์ของเซอร์วิสประเภท Ride-sharing อย่าง UBER คือการไปทางเดียวกัน เปลี่ยนรถบ้านเป็นรถสาธารณะ ช่วยแก้ปัญหาทั้งเรื่องรถติดและสร้างรายได้ มันจะดีแค่ไหน ถ้าเปลี่ยนให้คนเราสามารถนั่งรถคันเดียวและไปทางเดียวกันได้ถึง 8 คนแม้พวกเขาจะเป็นคนแปลกหน้าสำหรับกันและกัน
JOYN เป็นยานพาหนะสาธารณะไร้คนขับที่ Layer ออกแบบมาเพื่อเป็นบริการทางเลือกการเดินทางรูปแบบใหม่สำหรับระยะสั้นที่ใช้เวลาเดินทางประมาณ 30-60 นาที เพื่อความคล่องตัว ใช้งานคู่กับแอปพลิเคชัน วิธีการเรียกใช้จะไม่ต่างจากพวก UBER ปกติที่มีความปลอดภัยและสามารถเลือกจับจองที่นั่งได้ผ่านแอปฯ
ความเก๋ของมันอยู่ที่คันเดียวรับคนได้ 8 คน โดยคำนวณจากเส้นทางที่ใกล้ที่สุดที่เขาต้องผ่านกันด้วยระบบ AI เช่น เราจะไปสามย่าน อีกคนจะไปจามจุรี ขณะที่คนสุดท้ายเรียกรถเพราะอยากไปสวมลุม ทุกคนมีจุดหมายจะไปในเส้นทางเดียวกันด้วยเวลาที่ใกล้กัน พอเรียกปุ๊ป เจ้า JOYN ก็จะโชว์ว่าที่นั่งไหนว่าสำหรับคันนี้ไว้ให้คุณเลือกจับจองเพื่อขึ้นมานั่งได้ตามสบาย
แต่จะทำอย่างไร ถึงจะให้คน 8 คนที่ไม่รู้จักเลย ได้ไปทางเดียวกัน ประหยัดน้ำมัน รักษ์โลก แบบไม่กระอักกระอ่วนใจ นี่เลยเป็นที่มาของการออกแบบที่นั่งให้สามารถสร้าง Safe Zone เป็นของตัวเองได้ โดยเขาออกแบบที่นั่งเป็นระบบตัว S เป็นที่นั่งคู่ที่หันกันไปคนละด้านแบบคู่ตรงข้ามและมี “ปีก” ปิดตรงกลาง ผู้โดยสารทุกคนเลยรู้สึกเหมือนได้นั่งอยู่ในพื้นที่คอกส่วนตัว โดยที่มาของแรงบันดาลใจนำมาจากที่นั่งบนเครื่องบินสายการบินไฮคลาสที่มีความเป็นส่วนตัวสูง ดังนั้นฟังก์ชันการใช้งานบนรถคันนี้จึงจัดเต็มให้มากขึ้นเหมือนเรานั่งรถทัวร์ ที่เราสามารถเปิด-ปิด พนักของเก้าอี้ด้านหน้ากางเป็นโต๊ะเพื่อแปลงเป็นพื้นที่ทำงานก็สะดวก ๆ สำหรับใช้งานได้ใช้ทันที พร้อมทั้งช่องสำหรับชาร์จมือถือ
มองจากภาพบางคนคงเริ่มรู้สึกว่า แล้วมากับเพื่อนหรือมาเป็นคู่ล่ะ นั่งแบบนี้มันจะไม่ห่างเหินไปเหรอ? งานนี้เขาก็คิดวิธีแก้ไว้ด้วยการทำช่องระดับสายตาที่สามารถเปิด-ปิดได้ ใครอยากมองเห็นหน้าเห็นตาระหว่างฝั่งตรงข้ามก็ผลักบานพับไป นั่งฝั่งตรงข้ามไม่ต้องหันหน้าไปหากันให้เมื่อย อยากยื่นข้าวของอะไรให้กันก็สามารถส่งได้ตามสะดวก จะได้แชร์กัน ส่วนถ้าอยากได้ความเป็นส่วนตัวเมื่อไหร่ก็ปิด แค่นั้นทุกคนก็จะได้ใช้เวลาของตัวเอง
ทั้งนี้ฟังก์ชันแบบ 2 in 1 นี้เขาอธิบายว่ามันเรียกว่า Bubble seating และ Buddy seating ในผลิตภัณฑ์ชิ้นเดียว คือพร้อมปิดเข้าโหมดเหมือนอยู่ในฟองอากาศไร้การรบกวนได้ทันที หรือถ้าอยากจะกลับมาจอยกัน มี Buddy ร่วมเดินทางก็ทำได้
นอกจากนี้ Benjamin ได้พูดทิ้งท้ายถึงโปรเจกต์นี้ว่า JOYN จะกลายเป็นเทรนด์ของการเดินทางในอนาคต เพราะคนเน้นเรื่องความสะดวกสบาย ควมปลอดภัย และความเป็นส่วนตัว และสิ่งนี้จะเป็นหนึ่งในเครื่องมือสนับสนุนเป้าหมายเรื่องความยั่งยืนต่อไปในอนาคต
BuilderNews’s Opinion
ที่นั่งที่มีความเป็นส่วนตัว เรามองว่าตอบโจทย์คนโสดมากกว่าคนมีคู่แบบข้าวใหม่ปลามันหรือคนมีครอบครัว เพราะถ้ามากับลูกที่ยังเล็กการนั่งคนละด้านคงไม่ปลอดภัยพอ และอาจจะลำบากกรณีที่ต้องลงสถานีเดียวกัน หรือใครที่อยากโรแมนติก คิดจะสวีทช่วงวาเลนไลน์ ขึ้นรถนี้ก็คงอดจับไม้จับมือกันระหว่างเดินทาง หรือถ้ายื่นไปจับได้ก็อาจจะไม่ได้อยู่ในท่าทางที่สบายนัก
ส่วนด้านออกแบบ ถ้าเพื่อจุดประสงค์ด้านการรักษาความเป็นส่วนตัวเชื่อว่ามันจะต้องเป็นเทรนด์การออกแบบที่ใช้งานได้ดีทีเดียว ไม่ว่าจะกับร้านอาหารหรือที่นั่งของยานพาหนะสาธารณะ เพราะเทรนด์การจัดที่นั่งที่มีความเป็นส่วนตัวและตอบโจทย์การใช้งานแบบเป็นคู่ได้ น่าจะฮิตขึ้นเรื่อย ๆ อารมณ์เดียวกับร้านบุฟเฟต์ที่นั่งคนเดียวได้ หรือร้านราเม็งแบบคอก หรือใครที่อยากทำร้านเซอร์วิสขนาดเล็ก ร้านกาแฟ ฯลฯ แล้วมีพื้นที่จำกัด จะเอาอย่างวิธีนี้ดูก็ได้ไม่เสียหาย
อ้างอิงข้อมูลจาก
https://www.urdesignmag.com/technology/2020/01/27/joyn-autonomous-ride-sharing-platform-layer/