เป็นการพลิกโฉมภาพลักษณ์ครั้งใหญ่ สำหรับแบรนด์ TOYOTA (โตโยต้า) แบรนด์ธุรกิจยานยนต์ชื่อดังและผู้เชี่ยวชาญทางด้านรถยนต์ โดยปัจจุบันได้กลายมาเป็นแบรนด์เทคโนโลยีสุดล้ำสมัยที่นำเอาพวก Robotic, IT, Urban Design, Architecture, Aging และ Sustainable มาผสมผสานเข้าด้วยกัน และล่าสุด โตโยต้าผุดไอเดีย สร้างเมืองต้นแบบแห่งอนาคต (City of the Future) ท่ามกลางพื้นที่กว่า 175 เอเคอร์ หรือราว ๆ 442 ไร่ ตั้งอยู่พื้นที่ด้านล่างของภูเขาไฟฟูจิ
เมืองนี้มีชื่อว่า “Woven City” นิยามให้เป็นเมืองแห่งความคดเคี้ยว เนื่องจากเป็นเมืองที่ลักษณะของการเชื่อมโยงทุกสิ่งเข้าหากันอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของสิ่งแวดล้อม พลังงาน เทคโนโลยี หรือแม้แต่เรื่องของการออกแบบก็ดี
โปรเจกต์การสร้างเมืองแห่งนี้ออกแบบโดย Bjarke Ingels Group (BIG) นำโดย Bjarke Ingels สถาปนิกชาวเดนมาร์ก โดยมีการแถลงข่าวอย่างเป็นทางการในงาน CES 2020 เมื่อวันที่ 7 มกราคม ที่ผ่านมา ซึ่งจุดประสงค์ของโตโยต้า ต้องการที่จะให้เมืองแห่งนี้เป็นเสมือนห้องปฏิบัติการที่มีรถยนต์อัตโนมัติแบบไร้คนขับ อุปกรณ์ Smart Home หุ่นยนต์ AI และเทคโนโลยีอื่น ๆ ที่พัฒนาจากผู้ผลิตรถยนต์ญี่ปุ่น เพื่อยกระดับให้กลายเป็นเมืองแห่งอนาคต
พื้นที่ของเมืองแห่งนี้สามารถรองรับจำนวนคนที่จะเข้ามาอยู่อาศัยได้ 2,000 คน โดยมีกำหนดการที่จะเริ่มเคลียร์พื้นที่ในปี 2021 ด้าน Bjarke Ingels ผู้ก่อตั้งและผู้อำนวยการสร้างของ BIG กล่าวถึงแนวคิดการออกแบบว่า “ในทุกวันนี้ท้องถนนทั่วไปมันเป็นอะไรที่ยุ่งเหยิง ดังนั้นเราจึงเริ่มต้นการออกแบบโดยการแยกถนนเป็น 3 รูปแบบตามการใช้งานที่แตกต่างกัน
“ถนนรูปแบบแรก จะเป็นถนนไว้สำหรับเดินทางและการขนส่งอย่างรวดเร็ว โดยจะอนุญาตให้เฉพาะยานพาหนะที่ขับเคลื่อนโดยใช้เซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและไม่ปล่อยมลพิษ เข้ามาใช้ในเมืองนี้เท่านั้น
“เส้นทางรูปแบบที่สอง จะเป็นเส้นทางสำหรับอุปกรณ์เคลื่อนที่ความเร็วต่ำ เช่น สกูตเตอร์ไฟฟ้า หรือจักรยาน เป็นเส้นทางที่เคลื่อนไหวช้าลงจากเส้นทางแรก ส่วนเส้นทางรูปแบบสุดท้าย คือทางเดินเท้า จะออกเป็นลักษณะเหมือนสวนสาธารณะที่มีทางเดินโค้งไปมา ข้างทางมีต้นไม้ พุ่มไม้ต่าง ๆ ตลอดทาง คล้าย ๆ กับสวนสาธารณะ”
ไอเดียนี้ ไม่เพียงแต่จะสร้างสภาพแวดล้อมที่เงียบสงบ เป็นระเบียบแล้ว ยังช่วยให้การเดินทาง การเคลื่อนไหวภายในเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็วและลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้เป็นอย่างดี
สำหรับตัวตึก ตัวอาคารภายในเมืองแห่งนี้ก็ไม่ธรรมดา เพราะเมืองแห่งนี้ขึ้นชื่อว่าได้รับการออกแบบมาอย่างยั่งยืน ด้วยตัวอาคารที่สร้างขึ้นจากวัสดุไม้เป็นส่วนใหญ่ โดยเป็นการผสมผสานกันระหว่างในเรื่องของเทคโนโลยี หุ่นยนต์ต่าง ๆ เข้ากับการใช้ไม้ญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม ซึ่งข้อดีของการใช้ไม้ คือช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และในส่วนของหลังคาอาคารจะปูด้วยแผงเซลล์แสงอาทิตย์ ดึงเอาพลังงานจากแสงอาทิตย์มาใช้ภายในอาคาร
Bjarke Ingels เสริมว่า “อาคารส่วนใหญ่จะทำจากไม้ซึ่งเป็นไม้ฝีมือดั้งเดิมของญี่ปุ่น ผสมผสานกับการนำเทคโนโลยีของหุ่นยนต์มาใช้ เป็นวิธีที่เราสามารถรักษาและพัฒนาขนบธรรมเนียมประเพณีเก่า ๆ ผ่านการใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ร่วมด้วย”
นอกจากนี้ภายนอกอาคารยังมีพื้นที่สาธารณะอย่างสวนสาธารณะใจกลางเมือง เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนหย่อนใจ และยังมีพลาซ่า ศูนย์กลางที่ออกแบบเพื่อให้ชุมชนได้เข้ามามีส่วนร่วมกัน ซึ่งทางโตโยต้าเชื่อว่าการกระตุ้นให้มนุษย์มีปฏิสัมพันธ์กัน เป็นอีกสิ่งสำคัญในการสร้างประสบการณ์การอยู่อาศัยที่ดี
ภายในอาคารที่อยู่อาศัยจะติดตั้งเทคโนโลยีที่ช่วยลดแรงให้กับมนุษย์ได้ เช่น หุ่นยนต์ภายในบ้านที่จะคอยช่วยเหลือการใช้ชีวิตประจำวัน หรือตัวบ้านที่สามารถใช้เซ็นเซอร์ในการตรวจสุขภาพของผู้อยู่อาศัย ช่วยให้การดำเนินชีวิตสะดวกสบายยิ่งขึ้น
“การสร้างเมืองที่สมบูรณ์แบบ ควรให้ความใส่ใจตั้งแต่พื้นดินขึ้นไป แม้จะเป็นในระดับเล็ก ๆ ก็ตาม ซึ่ง Woven City เป็นการพัฒนาเมืองที่ควบคู่ไปกับการใช้เทคโนโลยีที่ไม่ซ้ำใคร รวมถึงการนำระบบปฏิบัติการดิจิทัลมาใช้สำหรับโครงสร้างพื้นฐานของเมือง ผู้คนที่อาศัยอยู่บนอาคาร หรือแม้แต่ยานพาหนะทั้งหมด สามารถเชื่อมต่อและสื่อสารซึ่งกันและกันผ่านเซ็นเซอร์” Akio Toyoda ประธาน บริษัท โตโยต้ามอเตอร์ กล่าว
คงต้องตั้งหน้าตั้งตารอดูว่าโปรเจกต์ Woven City เมืองอนาคตแห่งนี้ จะออกมาเป็นอย่างไร แต่หากพูดถึงแนวคิดในการออกแบบภาพรวมก็เรียกว่าน่าสนใจไม่น้อย ที่นำเอาประเด็นทั้งเรื่องการขนส่ง สิ่งแวดล้อม เทคโนโลยี และการออกแบบเมือง เข้ามารวมอยู่ในโปรเจกต์นี้ และหวังว่าไอเดียการออกแบบเมืองนี้จะเป็นแรงบันดาลใจให้กับเหล่าสถาปนิกหรือนักออกแบบทุกคนได้นำไปพัฒนาต่อยอดให้บ้านเมืองเราน่าอยู่ขึ้น
อ้างอิงข้อมูลจาก
toyota to build bjarke ingels-designed ‘city of the future’ at the base of mount fuji