สืบเนื่องจากบทความก่อนหน้านี้ที่เราได้นำเสนอเกี่ยวกับเรื่อง การทำความเข้าใจเบื้องต้นกับการจัดเตรียมโครงการ BIM ที่บอกถึงวิธีการดำเนินงาน ความรับผิดชอบ วัตถุประสงค์การใช้งาน BIM รวมถึงแนวทางในการปฏิบัติงาน
โดยในบทความนี้ จะนำเสนอเนื้อหาต่อเนื่องกันจากบทความก่อนหน้า โดยมีหัวข้อหลัก ๆ ว่าด้วยเรื่อง BIM กับการทำงานร่วมกัน ซึ่งข้อมูลเนื้อหาทั้งหมดนำมาจาก หนังสือ Building Information Modeling Guide แนวทางการทำงานแบบจำลองสารสนเทศอาคาร ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2560 ที่จัดทำขึ้นโดยสภาสถาปนิก สภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์
Part II: BIM กับการทำงานร่วมกัน
การทำงานผ่าน BIM ให้ประสบผลสำเร็จได้ ต้องขึ้นอยู่กับความร่วมมือระหว่างนักออกแบบและงานก่อสร้าง โดยต้องบริหารข้อมูลตลอดระยะเวลาการทำงานโครงการ และกำหนดมาตรฐานการร่วมมือทำงานจากความต้องการและเป้าหมายการใช้ BIM ของโครงการ ถือเป็นข้อตกลงร่วมกันสำหรับทีมที่ได้รับการพัฒนาจาก BIM Manager โดยจะต้องมีความเข้าใจจุดประสงค์การทำงานและวิธีการทำงาน มีความรับผิดชอบแต่ละหน้าที่ รู้ระบบระเบียบของการสื่อสาร สามารถนำข้อมูลมาประมวลผลและรายงาน
นอกจากนี้จะทราบถึงวิธีการตรวจสอบ กระบวนการจัดการและการแลกเปลี่ยนข้อมูล การบริหาร Model และการทำงานในขั้นตอนระยะต่าง ๆ กระบวนการทำ Model Sharing, Model Coordinate รวมถึงการสร้าง Model และกระบวนการพัฒนาและการบันทึก Model ตามพัฒนาการของการทำงาน
มาตรฐานของการทำงาน
BIM Manager ต้องจัดเตรียมและหารือกับทีมงานในการใช้งานมาตรฐานการทำงานร่วมกัน เช่น มาตรฐานการเขียนแบบก่อสร้างอ้างอิงจากคู่มือปฏิบัติวิชาชีพ มาตรฐานการเขียนแบบก่อสร้าง ฉบับปี พ.ศ.2554 (สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยสถาบันสถาปนิกสยาม), มาตรฐานรายการประกอบแบบอ้างอิงจาก คู่มือปฏิบัติวิชาชีพ รายการประกอบแบบก่อสร้าง ฉบับปี พ.ศ.2554 (สมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยสถาบันสถาปนิกสยาม) หรือ Element Code อ้างอิงจากมาตรฐานรหัสต้นทุนการก่อสร้างอาคาร 2555 Standard Elemental Construction Cost Code for Building – 2012 (วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์)
Open Standard
เมื่อทำการส่งมอบงานก่อสร้างเสร็จ เครื่องมือต่าง ๆ ที่ทำงานมาตลอดโครงการจะต้องส่งข้อมูลออกเป็นไฟล์มาตรฐานกลางที่สามารถนำไปใช้ได้ เช่น IFC (Industry Foundation Classes) ไฟล์ที่สามารถนำไปใช้งานได้กับทุกหน้าที่ขณะทำงาน หรือ 3D Format (3D Laser point cloud data) ไฟล์ที่เก็บข้อมูลสำหรับใช้ประกอบการส่งมอบอาคาร เป็นต้น
BIM Coordination/ Clash Detection
ทีมงานต้องตกลงร่วมกันเพื่อพัฒนาการทำงานผ่านการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เพื่อสัมพันธ์กับ Model บนแผนปฏิบัติการ BIM โดยการจัดประชุมหารือควรมีรายละเอียดที่ว่า กำหนดการทำ BIM Coordination Meeting ด้วยความเห็นชอบของผู้ร่วมงาน กำหนดอุปกรณ์และสถานที่ที่เหมาะสมกับการประชุมตามเงื่อนไขของงานนั้น ๆ อีกทั้งต้องกำหนดวันและเวลาให้สอดคล้องกับการทำงานตามแผนปฏิบัติการ BIM
ประเด็นของการประชุมจะต้องถูกกำหนดตามข้อกำหนดที่ตกลงร่วมกัน และถูกบันทึกเพื่อนำไปปรับปรุงการทำงาน ข้อมูลจากผลของการวิเคราะห์ เช่น การทำ Clash Detection จะถูกปรับปรุงแก้ไขลงใน Model อย่างต่อเนื่องและแบ่งปันกับผู้ร่วมงาน ในส่วน BIM Manager จะเป็นผู้ตรวจสอบองค์ประกอบของ Model จากหน้าที่ต่าง ๆ ตามจุดประสงค์และกรอบของเนื้องานที่ได้กำหนดไว้
สำหรับวิธีการทำ Clash Detection จะต้องขึ้นอยู่กับลักษณะของงานที่มีความแตกต่างกัน และ Software สำหรับการทำ Coordination ถูกกำหนดให้ผู้ร่วมงานใช้เพื่อตรวจสอบและแก้ไข Model ที่ได้รับผิดชอบ และในระหว่างการก่อสร้างควรตรวจสอบข้อขัดแย้งและการติดตั้งอุปกรณ์ ชิ้นส่วนอาคารด้วยการทำ Clash Detection และหาข้อสรุปเพื่อเสนอวิธีการทำงาน พร้อมทั้งรายงานผล Clash Detection ที่ขัดแย้ง หรือวิธีแก้ไขระหว่างการดำเนินงานในโครงการจะต้องนำเสนอให้ผู้มีอำนาจตัดสินใจ
Folder Structure
วิธีการจัดเก็บไฟล์ รวมถึงการตั้งชื่อต้องกำหนดไว้ตั้งแต่เริ่มต้นการออกแบบ การก่อสร้าง ตลอดจนการส่งมอบอาคาร ซึ่งบันทึกข้อมูลอาคารไว้แล้ว ผู้ร่วมงานจะต้องกำหนดกระบวนการทำงานบน Folder ร่วมกันให้สอดคล้องกับแผนปฏิบัติงาน BIM โดยมีรายละเอียดดังนี้ BIM Folder จัดเก็บ Model File หรือ Sheet File ในระหว่างการทำงาน
สำหรับ Model File เป็นไฟล์หลักที่จะต้องมีการเชื่อมโยงกับไฟล์อื่น ๆ ควรจัดเก็บอยู่ในที่เฉพาะ ไม่ควรเคลื่อนย้ายถ้าไม่จำเป็น ส่วน Sheets File ที่เกิดจาก Model File และมี Detail ต่าง ๆ ซึ่งควรจัดเก็บเป็นอีก Folder หนึ่ง และควรตั้งชื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ตกลงในแผนปฏิบัติงาน BIM
ส่วน Support File เป็นที่จัดเก็บมาตรฐานการทำงานต่าง ๆ หรือสิ่งที่ใช้ประกอบการทำงาน และ Coordination File เป็นไฟล์ที่ทำงาน Coordination เช่น การทำ Clash Detection, Report ซึ่งข้อมูลจะถูกจัดการโดย BIM Manager และผู้ร่วมงานสามารถติดตามความก้าวหน้าของโครงการได้
แนวทางในการตั้งชื่อ (Naming Conventions)
การตั้งชื่อเกี่ยวกับข้อมูลจะต้องเข้าใจง่าย และสามารถจำแนกสืบค้นที่เป็นระบบให้ทุกฝ่ายสามารถเข้าใจและทำงานร่วมกันได้ ใช้อักขระที่เป็นภาษาอังกฤษ มีความกระทัดรัด ตัวอักขระจะเว้นด้วยการใช้ Hyphen “ – ” ส่วนการเว้นวรรคเพื่อแบ่งตัวอักขระจะใช้ Under Score “ _ ” และควรกำหนดวิธีการใช้อักขระที่ใช้ตัวใหญ่หรือเล็กให้เป็นแนวทางเดียวกัน ซึ่งมาตรฐานในการตั้งชื่อ File, Folder, Views และ Sheet สามารถกำหนดร่วมกันใน BIM Standard
พื้นฐานของเทคโนโลยี และ Software
การใช้ Software, Hardware, Network, Server, File Sharing System และ Backup System จะถูกระบุอยู่ในแผนปฏิบัติการ BIM รวมถึง Operation System ที่สามารถทำงานร่วมกันด้วยเครื่องมือที่ได้รับความเห็นชอบจากผู้ร่วมงานทุกฝ่ายที่สามารถเข้าถึงได้ และสามารถส่งต่อข้อมูลที่มีสภาพแวดล้อมของการประสานงานร่วมกันตลอดโครงการบนฐานของ Web Base หรือ Cloud
โดยการนำส่งข้อมูลต้องมีองค์ประกอบที่ควรคำนึงดังนี้ ระบบต่าง ๆ จะทำงานอยู่บนระบบ Computer การทำงานจะต้องอยู่ใน File Format ที่ใช้ร่วมกันได้ อีกทั้งระบบของ Computer และ Operation System ควรทำงานต่อเนื่องไปสู่การทำงานในอนาคตได้ เพื่อสนับสนุนการทำงานบนมาตรฐานที่รองรับการทำงานเชื่อมโยงกัน
ส่วน Software ที่นำมาใช้งาน ต้องสามารถส่งต่อไปยังไฟล์ IFC ได้ สามารถนำมาใช้ในการตรวจสอบและการแลกเปลี่ยนข้อมูลต้องสามารถทำงานกับไฟล์สกุลที่แตกต่างได้ และสามารถแสดงผลในรูปแบบ 2D เป็นภาพที่มีความสัมพันธ์กับ Model ที่ใช้งาน รวมถึง Software จะต้องสามารถจัดการกับข้อมูลที่บรรจุใน Model และนำออกมาแสดงผลเพื่อการจัดการบริหารอาคารได้
การจัดเก็บและความปลอดภัยในการใช้ข้อมูล
การทำงานในแต่ละโครงการมีไฟล์หลายประเภทที่มีนามสกุลแตกต่างกันออกไป เพื่อทำงานร่วมกันและเชื่อมโยงกับไฟล์อื่น ๆ การจัดเก็บไฟล์ไว้ในตำแหน่งที่ได้จัดวางไว้ในโฟลเดอร์อย่างเป็นระเบียบจะเป็นการหลีกเลี่ยงความผิดพลาดระหว่างการทำงาน และช่วยให้สะดวกแก่การสืบค้น
สำหรับ BIM Team ต้องมีแนวทางในการควบคุมการทำงานเพื่อป้องกันความสับสน เช่น การบันทึก การย้ายตำแหน่งที่ตั้งไฟล์ การป้องกันไวรัส การใช้ชื่อซ้ำ และอื่น ๆ นอกจากนี้จึงควรกำหนดความรับผิดชอบของเจ้าของข้อมูลและวิธีการแบ่งปันข้อมูลอย่างถูกต้อง การกำหนดขอบเขตการใช้ข้อมูล การเข้าถึงโฟลเดอร์ การทำการสำรองข้อมูล เพื่อป้องกันความสูญเสียที่เกิดจากความผิดพลาด