ก่อนหน้าที่จะมาถึงบทความนี้ เราได้นำเสนอเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับเรื่อง BIM (Building Information Modeling) ไปเบื้องต้นแล้วเกี่ยวกับการทำความเข้าใจการจัดเตรียมโครงการ BIM และแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างทีม

เนื่องจากการใช้ BIM ในโครงการก่อสร้าง เป็นการทำงานร่วมกันหลายฝ่ายที่มีความซับซ้อน การทำความเข้าใจร่วมกันเกี่ยวกับการใช้งาน BIM โดยภาพรวมจึงเป็นเรื่องสำคัญที่ทุกฝ่ายควรคำนึงถึง

เข้าสู่ PART III ของการเรียนรู้เรื่อง BIM ในบทความชิ้นนี้จะเป็นในหัวข้อ การส่งถ่ายข้อมูลระหว่างกัน และระเบียบวิธีการสร้าง BIM Model ซึ่งข้อมูลเนื้อหาทั้งหมดนำมาจากหนังสือ Building Information Modeling Guide แนวทางการทำงานแบบจำลองสารสนเทศอาคาร ฉบับที่ 1 ปี พ.ศ. 2560 ที่จัดทำขึ้นโดยสภาสถาปนิก สภาวิศวกร และวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

การส่งถ่ายข้อมูลระหว่างกัน

การเชื่อมต่อข้อมูลระหว่าง Hardware, Software เป็นสิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จในการทำงาน BIM ถึงแม้ว่าจะแสดงผลออกเป็น 2D CAD เป็นแบบก่อสร้างในรูปของ 3D หรือในรูปของการวิเคราะห์ด้านต่าง ๆ ต้องมีการจัดเตรียมส่งต่อข้อมูลระหว่าง Hardware และ Software บนเทคโนโลยีต่าง ๆ ให้สามารถทำงานได้

การนำ 2D CAD มาใช้กับ BIM จะต้องจัดการให้สอดคล้องกับการจัดการข้อมูลโครงการ และการจัดเก็บ CAD File ควรจัดอยู่ในรูปแบบ Folder ที่เหมาะสม ในทุกหน้าที่ต่างต้องมีพิกัดตำแหน่งของโครงการอันเดียวกันในการสร้าง CAD File เพื่อหลีกเลี่ยงความสับสน ต้องศึกษาการส่งถ่ายข้อมูลระหว่าง Software จากผู้ผลิตก่อนเริ่มงาน

รวมถึงข้อกำหนดเฉพาะทางในการใช้ Software, Hardware, Network, Cloud ควรต้องศึกษาและให้แนวทางการทำงาน เพื่อให้ข้อมูลสามารถส่งต่อกันได้ และข้อมูลที่ส่งออกจาก BIM ในรูปของ 2D ควรกำหนดเป็นข้อตกลงให้เข้าใจถึง CAD Standard หรือการใช้ Layer และ Line Type

ระเบียบวิธีการสร้าง Model

การสร้าง Model กำหนดขึ้นตามความต้องการของการใช้ BIM บนข้อตกลงร่วมกัน ตั้งแต่ต้นโครงการ การบรรจุข้อมูลลงใน Model กำหนดขึ้นตามขั้นตอนการทำงาน และพัฒนาการระดับความละเอียดของ Model หรือ LOD. จนถึงขั้นสุดท้ายของการส่งงานที่เป็นข้อมูลใน Model และที่เป็นแบบก่อสร้าง องค์ประกอบของ Model นอกจากจะแสดงผลทางกายภาพเป็นภาพ 3 มิติแล้ว ต้องแสดงผลตาม Object Categories และบันทึกข้อมูลเชิงตัวอักษรตามความจำเป็น ซึ่งต้องตกลงกันตั้งแต่แรกลงใน Element ตามมาตรฐานที่สามารถนำออกมาใช้เป็นตารางข้อมูล และจัดการแสดงเป็นแบบก่อสร้างตามมาตรฐานงานเขียนแบบ และกระบวนสร้าง Model ควรกำหนดเนื้อหาที่พอเหมาะแก่การทำงานในโครงการตามเป้าหมายที่ระบุไว้

  • โครงสร้างของ Model

โครงสร้าง Model เป็นตัวกำหนดลักษณะการใช้งานขึ้นอยู่กับจุดประสงค์ของการใช้งานโครงการ ด้วยข้อจำกัดของเครื่องมือในการทำงานอาจจะต้องแบ่ง Model ออกเป็นส่วนย่อย ๆ จามจุดประสงค์การใช้งานเพื่อนำไปใช้ตรวจสอบ การจัดแยก Model ตามหน้าที่การทำงาน ทั้งนี้เพื่อประโยชน์ในการแบ่งงานให้ผู้ร่วมงานหลายคนสามารถทำงานร่วมกันและประสานงานได้

โดยสามารถนำมารวมกันด้วยการ Link Model ข้อกำหนดต่าง ๆ ที่ระบุในแผนปฏิบัติงาน BIM ซึ่งมีเรื่องที่ควรคำนึง คือ การวางแผนแบ่ง Model ควรให้ผู้ร่วมงานรับทราบ และเพื่อป้องกันความผิดพลาดข้อมูลที่บรรจุลง Model ควรกำหนดจากผู้รับผิดชอบโดยตรง ควรกำหนดชื่อที่เป็นมาตรฐานสำหรับ Model ที่แยกส่วน นอกจากนี้การทำงานร่วมกันควรกำหนด Origin ตำแหน่ง หรือพิกัดที่อยู่ของ Model และควรกำหนดการบันทึกหรือ Update Model ในแต่ละขั้นตอนการทำงาน

  • ความรับผิดชอบของผู้ทำ Model

ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในการทำงานจะต้องรับผิดชอบใน Model ของตนที่ถูกสร้างขึ้นตามข้อตกลงในแผนปฏิบัติงาน BIM รวมถึงข้อกำหนดต่าง ๆ ประกอบการทำงานเช่นการใช้ LOD. ตามขั้นตอนการทำงาน ลำดับขั้นตอนการส่ง Model การ Update Model และการพัฒนา Model ตลอดระยะเวลาโครงการ

  • Model Content

องค์ประกอบการสร้างชิ้นงาน Model Content เป็นไปตามสัดส่วนจริง ชิ้นงานควรบรรจุข้อมูลที่จำเป็นสำหรับโครงการและการกำหนด LOD. สัมพันธ์กับการทำงานของข้อมูลที่บรรจุอยู่ อาจจะเป็น Parameter, Annotation, Detail Materials หรืออื่น ๆ

Model Content สามารถสร้างขึ้นจากผู้ออกแบบเอง หรือผู้ผลิตสินค้าก่อสร้าง ซึ่งระบุข้อมูลขององค์ประกอบชิ้นส่วนที่ผลิตจากโรงงาน มาตรฐานในการตั้งชื่อโมเดล มาตรฐานในการตั้งชื่อข้อมูลเชิงตัวอักษร ต้องมีการตกลงกันก่อน หากมีความจำเป็นต้องเพิ่มข้อมูลเชิงตัวอักษร ต้องประชุมและตกลงกันล่วงหน้าก่อนการสร้าง Model

  • Element Code

การทำประมาณการของโครงการเพื่อประเมินต้นทุนราคาตามจุดประสงค์ของการทำงานสามารถกำหนดองค์ประกอบของอาคารให้มี Element Code ตามมาตรฐานที่กำหนดขึ้นหรือมาตรฐานสากล ด้วยการตั้งชื่อและรหัสที่เชื่อมโยงกับการจัดทำราคาสามารถใช้ “มาตรฐานรหัสต้นทุนการก่อสร้างอาคาร 2555 Standard Element Construction Cost Code for Building – 2012” ของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ซึ่งระบุไว้ในแผนปฏิบัติงาน BIM (BIM Execution Plan) การกำหนด Element Code สามารถจัดทำจากผู้ผลิตสินค้าก่อสร้างเพื่อให้ผู้ออกแบบนำ Model ไปใช้งานแล้วนำไปส่งต่อให้ Quantity Surveyor นำข้อมูลอาคารไปทำการประมาณราคา

  • พัฒนาการขั้นตอนการทำงาน (Level of Development)

ข้อตกลงระหว่างการทำงานในแต่ละหน้าที่ถูกจัดทำขึ้นเพื่อสร้าง Model ให้มีรายละเอียดตามขั้นตอนการทำงาน โดยมีเนื้อหาแบ่งออกเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนแรก พัฒนาการของรูปทรงเรขาคณิต และส่วนที่สอง พัฒนาการของข้อมูลที่มีรายละเอียดแตกต่างกันในกรอบการทำงานแต่ละหน้าที่

โดยกำหนดขึ้นเพื่อความต้องการใช้งานที่ระบุไว้ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการตามแผน และให้ทุกฝ่ายสามารถสื่อสารและรับส่งข้อมูลในการทำงานร่วมกัน สามารถส่งต่อข้อมูลตั้งแต่เริ่มงานได้ตลอดทั้งโครงการ และเป็นการวางมาตรฐานการทำงานร่วมกันที่สามารถสืบค้นได้

  • การควบคุมคุณภาพ

BIM Manager เป็นผู้ติดตามการทำงานและตรวจสอบ BIM Model ประสานงานระหว่างผู้ร่วมงานในแต่ละหน้าที่ถึงคุณภาพของงานและบันทึกข้อมูลในแต่ละขั้นตอนการทำงานตามแผนงานที่วางไว้ ซึ่งผู้ร่วมงานแต่ละรายต้องรับผิดชอบในการตรวจสอบชิ้นงานของตนเองให้มีองค์ประกอบของ Model และข้อมูลที่บันทึกลงไปให้ถูกต้องก่อนนำส่งงาน โดยควรคำนึงถึงเรื่องดังนี้

  • การสร้าง Model เป็นไปตามมาตรฐานการทำงานที่ตกลงไว้
  • การบันทึกข้อมูลอาคารทั้งหมดต้องบันทึกอย่างถูกต้องตามระบบมาตรฐาน
  • การตรวจสอบแก้ไขข้อขัดแย้งของ Model ในแต่ละหน้าที่

ตรวจสอบข้อมูลที่ใช้สำหรับการทำงานร่วมกันระหว่างหน้าที่ เช่น ไฟล์งานที่เป็น Model ควรตรวจสอบและเอาองค์ประกอบที่ไม่จำเป็นออกไป การตั้งชื่อไฟล์ที่นำมาทำงานต้องถูกต้องตามมาตรฐาน จัดการไฟล์ที่เชื่อมโยงกับไฟล์หลักและจัดวางให้ถูกต้อง ส่วนองค์ประกอบของ Model ได้บันทึกข้อมูลและสามารถแสดงผลได้อย่างถูกต้อง รวมถึงจัดการ Model up date ในแต่ละหน้าที่ให้ถูกต้อง

Previous articleเปลี่ยนถุงช็อปปิ้ง FRAKTA ของ IKEA เป็นหน้ากากสุดเท่ ที่ใส่ไปไหนใคร ๆ ก็ต้องมอง
Next articleชวนดู 10 หนังเด่น ทั้งงานสถาปัตยกรรมและงานออกแบบภายใน หลากสไตล์ หลายอารมณ์
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ