นิตยสาร eVolo ประกาศผู้ชนะการแข่งขันออกแบบตึกระฟ้าประจำปี 2020 จากทั้งหมด 473 โปรเจกต์
โดยมีผู้ชนะ 3 รางวัล และรางวัลชมเชยอีก 22 รางวัล
การแข่งขันนี้เริ่มต้นครั้งแรกในปี 2006 ซึ่งเป็นรางวัลประจำปีที่ตระหนักถึงแนวคิดเชิงจินตนาการอันท้าทาย ที่ทำให้เราเข้าใจในเรื่องสถาปัตยกรรมแนวตั้งกับความสัมพันธ์ระหว่างบริบทโดยรอบมากขึ้น ในขณะที่คอลเลกชันอาคารเหนือจินตนาการควรจะคำนึงถึงเรื่องปัญหาสิ่งแวดล้อม สังคม และการเมือง
และแน่นอน ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน ตึกระฟ้าที่ควรพิจารณาต้องเป็นตึกที่เน้นฟังก์ชันการใช้งานแบบ Healthcare ที่รองรับและป้องกันโรคระบาดได้อย่างดีนั่นเอง
วันนี้ BuilderNews ขอหยิบเอา 10 ผลงานที่มีไอเดียแปลก แหวกแนว และแฝงไปด้วยแนวคิดที่น่าสนใจไม่น้อยมาฝาก เชื่อว่าหากใครได้อ่านแล้วคงจะชอบไม่น้อยเลยทีเดียว
Epidemic Babel: Healthcare emergency skyscraper
ผลงานชนะเลิศชิ้นแรก นำเสนอคอนเซปต์ตึกที่เกี่ยวกับ Health Care เพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในปัจจุบัน โปรเจกต์นี้คิดและออกแบบโดยคำนึงถึงเรื่องการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนาที่ได้เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ทั้งฝั่งรัฐบาลและผู้กำหนดนโยบายไม่มีเวลาในการเตรียมตัว และภายใต้สถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวยในเรื่องของโครงสร้างพื้นฐาน การดูแลสุขภาพที่ไม่เป็นระบบ ท้ายที่สุดแล้วจะนำมาสู่การแพร่ระบาดของโรคที่มีมหันตภัยร้ายแรง
จุดเด่นของตึก Epidemic Babel คือ การก่อสร้างที่เรียบง่าย และรวดเร็ว ทั้งอาคารแห่งนี้ยังมีโครงสร้างประกอบด้วยเหล็ก พร้อมกล่องใช้งานมากมาย รูปแบบอาคารนั้นง่ายพอที่ทีมก่อสร้างสามารถสร้างให้อยู่ในรูปแบบที่พร้อมใช้งานได้ภายในระยะเวลาเพียง 5 วันเท่านั้น เพื่อตอบสนองต่อการแพร่ระบาดของไวรัสในยุคนี้ได้อย่างทันท่วงที
Egalitarian Nature: vertical Green Park for urban areas
การสร้างตึกด้วยคอนเซ็ปต์การจัดตึกให้มีทรงเป็นกลุ่ม ๆ เพื่อปรับตัวเข้าหาธรรมชาติมากกว่าเอาใจระบบทุนนิยมที่เป็นรูปร่างตึกในเชิงพาณิชย์เพียงอย่างเดียว ผลงานชิ้นนี้เป็นโครงสร้างพื้นฐานแบบใหม่ที่เน้นตอบสนองความต้องการของสังคมทั้งระบบรวมไปถึงสภาพธรรมชาติแวดล้อมด้วย
โดยตึกระฟ้าแบบเดิมจะถูกสร้างให้มีภาพลักษณ์ที่กลืนไปกับธรรมชาติรอบตัวได้แม้อยู่ในแวดล้อมของวิถีชีวิตคนเมือง ทางบันไดซิกแซกรอบตัวตึกถูกสร้างขึ้นด้วยพื้นที่ที่เหนือจินตนาการซึ่งพาให้คนและธรรมชาติมาอยู่ร่วมกันได้อย่างไม่คาดฝัน การสร้างตึกไม่ได้สนใจต้นทุนหรือสิ่งใด แต่เป็นการสร้างเพื่อให้ได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติภายใต้สังคมเมืองให้ได้มากที่สุดนั่นเอง
Coast Breakwater: vertical community in Senegal for rising sea levels
ผู้คว้ารางวัลรองชนะเลิศอันดันสอง “Coast Breakwater” สร้างภายในแนวกั้นดินแดนสาธารณรัฐเซเนกัล ในแอฟริกาที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม ผู้ออกแบบเสนอไอเดียว่า “การเผชิญหน้ากับประเทศเพื่อนบ้านเกิดขึ้นตลอดเวลา ทั้งแนวเขตชายแดนและชายฝั่งทะเล
ยิ่งไปกว่านั้น ภูมิภาคนี้ยังได้รับผลกระทบจากระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้น และด้วยปรากฏการณ์ธรรมชาติเช่นนี้ทำให้สังคมต้องย้ายเข้าสู่ผืนดินที่ห่างจากชายฝั่งมากขึ้น โครงการนี้จึงสร้างเพื่อป้องกันการกัดเซาะของน้ำด้วยแรงบันดาลใจจากสถาปัตยกรรมไม้ดั้งเดิมของเซเนกัลซึ่งใช้ระบบประตูโค้งที่ซับซ้อนประกอบกับโครงสร้างที่ยืดได้เพื่อการสร้างพื้นที่อยู่อาศัยในแนวตั้ง”
Pandemic emergency skyscraper
ทีมเบื้องหลังการสร้างตึกฉุกเฉินสำหรับการแพร่กระจายของโรคมีวิสัยทัศน์ในการรับมือและยับยั้งการแพร่ระบาดของไวรัสด้วยการสร้างสถานีฉุกเฉินเพื่อกักตุนสิ่งของ ฟังก์ชันหลักของตึกนี้จะถูกนำไปประยุกต์ใช้กับโรงพยาบาลที่มีแหล่งทรัพยากรไม่เพียงพอต่อความต้องการ และเป็นประโยชน์มากในกรณีฉุกเฉิน
ตึกนี้ใช้เทคโนโลยีเพื่อการลดต้นทุนให้ได้มากที่สุดในขณะที่ยังคงประโยชน์ไว้ได้ เพื่อการสร้างให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาอันสั้น โดยเฉพาะในเมืองหลวงที่ส่วนใหญ่จะเป็นศูนย์กลางการแพร่กระจายของไวรัส และสถานีกักตุนสิ่งของกรณีฉุกเฉินนี้ สามารถปรับใช้ได้กับทุกภูมิประเทศ รวมไปถึงพื้นที่ที่แทบไม่ได้เตรียมตัวรับมือกับการแพร่ระบาด เช่น แอฟริกา เอเชีย และอเมริกาใต้
Tesseract Skyscraper: time based ownership incentivisation model
ทีมดีไซน์เบื้องหลัง “เทสเซอแร็ค” นำเสนอระบบซึ่งอำนวยความสะดวกให้ผู้พักอาศัยได้มีส่วนร่วมในการออกแบบพื้นที่บ้านของตนเอง ในขณะเดียวกันก็สามารถวางสัดส่วนของสิ่งอำนวยความสะดวกในตึกได้เอง หนึ่งในทีมออกแบบได้ระบุเอาไว้ว่า “ผู้ซื้อสามารถร่วมออกแบบตั้งแต่ช่วงต้นของการซื้อพื้นที่ตึก และตลอดระยะเวลาทั้งหมดจนกว่าจะสร้างตึกเสร็จสมบูรณ์ ในกระบวนการนี้ผู้พักอาศัยสามารถเลือกสิ่งอำนวยความสะดวกและสังคมที่อยู่ได้เอง ทำให้พวกเขาได้มีส่วนร่วมในการสร้างและมีสายสัมพันธ์อันแน่นแฟ้นกับที่อยู่ของตนมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อสร้างความรู้สึกของการเป็นเจ้าของพื้นที่ให้แก่พวกเขานั่นเอง”
Fill the gap skyscrapers
ผู้ออกแบบตึก “Fill the gap” จินตนาการถึงการข้ามขีดจำกัดของการใช้ชีวิตที่เหนือจินตนาการของ “ห้องเท่าโลงศพ” และบ้านในกรงในฮ่องกง ทีมผู้พัฒนาได้อธิบายว่า “เพื่อที่จะเพิ่มการใช้พื้นที่และพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คนนั้นจำเป็นจะต้องใช้พื้นที่ว่างระหว่างตึกสำหรับอยู่อาศัยให้เกิดประโยชน์ ซึ่งจะช่วยขยายพื้นที่สำหรับการใช้สอยมากขึ้น โดยสามารถใช้โครงเหล็กพับซึ่งมีความทนทานสูง น้ำหนักเบา การประดิษฐ์ที่ง่ายแสนง่ายและรวดเร็วต่อการก่อสร้าง” เพื่อใช้พื้นที่ว่างให้เกิดประโยชน์ทำให้คนไม่ต้องนอนแออัดในห้องเท่าโลงศพอีกแล้ว
Drilling water-scraper: power plant and underwater recycling center
ดีไซเนอร์ผู้ออกแบบ “Drilling water-scraper” กล่าวถึงความอันตรายของจำนวนขยะในทะเล พร้อม ๆ กับการค้นพบล่าสุดเกี่ยวกับพลังงานสะอาดจากน้ำแข็งเชื้อเพลิงใต้ทะเลลึก ทีมพัฒนามาพร้อมกับไอเดียในการใช้วัตถุดิบในบริบทรอบ ๆ คือการเปลี่ยนขยะพลาสติกเป็นวัสดุพิมพ์สามมิติเพื่อใช้เป็นวัสดุก่อสร้างตึกด้วยตัวมันเอง
ทั้งนี้พวกเขายังใช้สถานที่ที่มีปริมาณน้ำแข็งเชื้อเพลิงและของเสียทางทะเลหนาแน่นเป็นสถานที่ก่อสร้าง ภายในอาคารมีท่อหลักสองท่อที่เคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา ทางลงสำหรับสร้างวัสดุพิมพ์สามมิติ และทางขึ้นคือท่อส่งพลังงาน ระหว่างสองท่อนั้น ท่อพลังงานจะเปลี่ยนขยะพลาสติกในท้องทะเลเป็นวัตถุพิมพ์สามมิติ และสร้างตึกกับท่อพลังงานลงมาใต้น้ำสู่แกนหลักของกระบอกสูบ และค่อย ๆ สร้างตัวมันเองให้กลายเป็นตึกใต้น้ำเพื่อใช้ประโยชน์และลดอันตรายจากปริมาณขยะในทะเลให้ได้มากที่สุด
Floating City: cultivating the gone land
ทีมผู้ออกแบบให้ความสนใจกับการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศโลกและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลที่ทำให้ผู้คนต้องสูญเสียพื้นที่ของตัวเองและสัตว์ที่ต้องสูญเสียบ้านไป ซึ่งดีไซน์นี้มีต้นแบบมาจากเกาะคิริบาสซึ่งเป็นประเทศทางตอนใต้ของทะเลแปซิฟิก ดินแดนของที่นั่นได้รับการสันนิษฐานว่าน่าจะจมน้ำหายไปภายใน 60 ปีข้างหน้า ทีมผู้ออกแบบจึงดีไซน์โครงสร้างเพื่อก่อสร้างตึกชุดรูปร่างคล้ายกำแพงตั้งไว้นอกชายฝั่ง โดยการศึกษาการกัดเซาะของชายฝั่งและทิศทางของกระแสน้ำในมหาสมุทร
รูปร่างของสถาปัตยกรรมกลุ่มชิ้นนี้ใช้เพื่อชะลอความเร็วของกระแสน้ำที่ไหลผ่านรอบตัวตึก ด้วยวิธีการนี้จะป้องกันทรายและโคลนจากน้ำให้ตกตะกอนเพื่อเตรียมการสำหรับการสร้างเกาะใหม่ได้ล่วงหน้า ก่อนที่จะมีอีกหลาย ๆ ประเทศที่ต้องจมหายไปใต้น้ำ
Mudtrapper skyscraper
ทีมเบื้องหลังการออกแบบตึก “Mudtrapper” พยายามที่จะใช้ประโยชน์จากอุทกภัยโดยการนำพลังของกระแสน้ำเพื่อลดความเสียหาย ทีมได้อธิบายเพิ่มเติมว่า “โดยทั่วไปน้ำท่วมเกิดจากขยะและโคลนซึ่งเข้าสู่เขตพื้นที่อยู่อาศัยด้วยแรงดันน้ำ และการวางตึกที่ขวางทางเดินน้ำจะทำให้ช่วยสัตว์ได้เป็นสิ่งแรก ขยะที่มากับน้ำท่วมจะถูกคัดออก ท้ายที่สุดเมื่อโคลนเข้าสู่พื้นที่ตึกจะเกิดขบวนการกำจัดโคลนเพราะตัวอาคารจะช่วยชะลอแรงดันน้ำและกลั่นน้ำซึ่งใช้พลังงานจากกระแสน้ำนั้นเองเป็นส่วนช่วย และท้ายที่สุดน้ำจะไหลผ่านไปต่อ โดยขยะและโคลนจะถูกดักเก็บไว้ด้วยกลไกของการออกแบบตัวอาคาร”
Regenera Skyscraper
ตึก Regenera ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเครื่องมือของการพื้นฟูผืนป่า โดยโปรเจกต์นี้มีวัตถุประสงค์เพื่อที่จะแพร่พันธุ์พืชและกระจายเมล็ดพันธุ์ผ่านทางกระแสลม และต้องการสร้างตึกเพื่อเป็นที่กำบังชั่วคราวให้กับนกและสัตว์ขนาดเล็ก ตึกจะมีการพัฒนาไปพร้อม ๆ กับระบบนิเวศรอบข้างตลอด
ด้วยกระบวนการสร้างจากป่าที่ถูกเผาไหม้สู่ป่าที่อุดมสมบูรณ์อีกครั้ง ทั้งนี้ จากดีไซน์และโครงสร้างของตัวตึกทำให้มันสามารถกลืนไปกับระบบนิเวศได้ ซึ่งในขั้นต้น ทางห้องทดลองได้ทดลอง ติดตามและค้นคว้าความคืบหน้าของการสร้างตึกไปพร้อม ๆ กับการศึกษาระบบนิเวศโดยรอบ และในขั้นถัดมา นักวิทยาศาสตร์จะปล่อยให้ตึกคงอยู่แบบนั้นเพื่อเป็นการสร้างประชากรใหม่ของสัตว์และต้นไม้ขนาดเล็กจนถึงขนาดกลางต่อไป
เป็นยังไงบ้างกับ 10 ตึกที่ออกแบบมาด้วยดีไซน์ล้ำเหนือจินตนาการที่ BuilderNews พาทุกคนมาชมกันในวันนี้ มันคงจะดีมากถ้าตึกเหล่านี้สามารถสร้างขึ้นและใช้งานได้จริง แต่ไม่แน่ว่าในอนาคตพวกเราอาจจะได้พบกับสิ่งปลูกสร้างอันแสนอลังการเหล่านี้กันก็เป็นได้
อ้างอิงข้อมูลจาก