อุณหภูมิโลกที่เปลี่ยนแปลงกับธารน้ำแข็งละลายเป็นวิกฤตที่อยู่ในหนังสือเรียนเรามานาน แต่เพราะมันยังมาไม่ถึงสักที หลายคนเลยมองเรื่องนี้เป็นเรื่องธรรมดาไป จนระยะหลัง ๆ เราเริ่มเห็นความเปลี่ยนแปลงของโลกมากขึ้นเรื่อย ๆ กระแสการรณรงค์เลยเริ่มเห็นชัดขึ้น คนก็เริ่มเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ชีวิตและหันมาปลูกต้นไม้

แต่เอาจริง ๆ แค่ปลูกต้นไม้กับลดใช้ทรัพยากรอย่างเดียวมันก็ไม่ทันแล้วกับสิ่งที่เราทำมาทั้งหมดตลอดหลายชั่วอายุคน เพราะการซ่อมมันเป็นเรื่องค่อยเป็นค่อยไป ไม่เห็นผลทันที ทว่าภัยพิบัติทางธรรมชาติไม่ได้หยุดรอระหว่างที่มนุษย์เรากำลังพยายามจะฟื้นฟูโลก ดังนั้น สถาปนิกเลยตั้งคำถามขึ้นมาว่า

วันที่ไม่มีแผ่นดินจะอยู่เพราะน้ำท่วมหรือประชากรล้น เราจะทำยังไงเพื่อให้มนุษยชาติอยู่รอดได้

Dada บริษัทด้านสถาปัตยกรรมที่ตั้งอยู่ในเมืองมนิลา ประเทศฟิลิปปินส์จึงคิดโปรเจ็กต์แก้ปัญหานี้ขึ้น สร้างสรรค์นวัตกรรมที่อยู่อาศัยสำหรับชุมชนชายฝั่ง โดยแรงบันดาลใจส่วนหนึ่งมาจากสภาพภูมิศาสตร์ของฟิลิปปินส์ที่เป็นหมู่เกาะ ซึ่งมีปัญหาเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยจำกัดจากจำนวนประชากรเป็นทุนเดิม และกรณีสถานการณ์ที่ธารน้ำแข็งละลาย ซึ่งทำให้ปริมาณน้ำในทะเลเพิ่มขึ้นจนพื้นที่รอบเกาะหายไปเพราะจมอยู่ใต้ทะเล

ประกอบกับเรื่อง “ไฟฟ้า” ที่เป็นอีกปัจจัยสำคัญของการคิดโปรเจ็กต์นี้ เพราะฟิลิปปินส์เป็นหมู่เกาะ จึงพบปัญหาเรื่องการผลิตกระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอในช่วงหน้าแล้ง เนื่องจากแหล่งพลังงานหลักยังขึ้นอยู่กับโรงไฟฟ้าถ่านหินและเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำ บริษัท Dada จึงหาไอเดียที่สามารถแก้ไขปัญหาทั้งหมดนี้ให้ลงตัว จนออกมาเป็นโปรเจ็กต์สถาปัตยกรรมเหนือทะเลที่ชื่อว่า “Currents for Currents” ขึ้น

ปฏิบัติการปลูกบ้านเหนือผิวน้ำ โดยเฉพาะผิวน้ำที่ไม่นิ่งอย่างทะเลไม่ใช่เรื่องง่าย สถาปนิกจำต้องคิดหนักเป็นพิเศษ เพราะมีเรื่องความผันผวนจากพายุกับมรสุมมาเป็นปัจจัยที่จะพังบ้านได้ ดังนั้น จึงต้องเลือกแนวทางการออกแบบให้ยืดหยุ่น ปรับเปลี่ยนได้ตามสภาพพื้นที่ และนำยุทธศาสตร์ทางทะเลมาสร้างความได้เปรียบ

อย่างแรกคือ “บ้าน” เราจะนับว่าเป็นบ้านได้ก็ต้องมีพลังงานให้ใช้เพื่ออำนวยความสะดวก จึงนำเทคโนโลยีดึงพลังงานทางเลือกจากธรรมชาติ คือ กระแสน้ำขึ้นน้ำลง (Tidal Power) กับพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้เพื่อสร้างความยั่งยืน ทำให้ไม่ต้องต่อไฟจากแผ่นดินมาใช้งาน อยู่แยกเป็นเอกเทศเหนือทะเลได้

ขณะเดียวกันก็คิดถึงเรื่องวิถีชีวิตของผู้คนที่อยู่ที่นี่ด้วยการสร้างฟาร์มพลังงานจากแสงอาทิตย์และระดับน้ำขึ้นน้ำลงที่เกิดจากการหมุนเวียนของการติดตั้งท่อด้านล่างโครงสร้าง เรียกได้ว่าพื้นที่อยู่อาศัยของที่นี่จะช่วยสร้างอาชีพ ทำให้พวกเขาขายพลังงานทางเลือกนี้ได้อีกต่อหนึ่ง

ด้านในบ้านยังสร้างสวนผักไฮโดรโปนิกส์แนวตั้งที่ดึงน้ำทะเลมาใช้ได้ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายและสามารถอยู่อาศัยได้อย่างพอเพียง จึงนับว่าเป็นการออกแบบที่ยิงปืนนัดเดียวได้นกหลายตัว

ประการที่สองคือเรื่อง “ความปลอดภัย” เมื่อต้องมีบ้านบนทะเล บ้านก็ต้องปรับตัวให้เข้ากับสภาพลมพายุและมรสุมที่อาจเกิดขึ้น ดังนั้น บ้านของ currents for currents จึงมีลักษณะรูปทรงคล้ายเรือใบเพื่อให้ลู่ไปตามลม

ขณะเดียวกันก็มีแกนกลางเป็นเสายึดโครงสร้างด้านล่างให้บ้านสามารถหมุนไปตามแรงลมได้ ไม่สวนทางลมจนเกิดความเสียหาย ดังนั้น ไม่ว่าจะมีพายุพัดขนาดไหน บ้านที่ประยุกต์ไว้รับแรงลมแรงมรสุมก็จะสามารถอยู่รอดปลอดภัยได้ นอกจากนี้ตัวบ้านยังปรับขึ้นลงเหนือน้ำได้ ทำให้ไม่ต้องกังวลแม้ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นอีกด้วย

ประการที่สามคือ “ความยั่งยืน” นอกจากจะใช้พลังงานทางเลือกเพื่อสร้างความยั่งยืนจากแผงโซลาร์ติดรอบอาคารแล้ว โครงสร้างยังทำจากพลาสติกรีไซเคิล จึงทำให้มีน้ำหนักเบา ป้องกันการกัดกร่อนจากน้ำทะเลได้ดี เรียกได้ว่าช่วยลดทั้งต้นทุนการก่อสร้างและลดปริมาณขยะพลาสติก เพื่อช่วยโลกอย่างยั่งยืนไปได้พร้อม ๆ กัน

ถ้าเป็นในอดีตตามคัมภีร์ไบเบิลเราอาจจะต้องรอปาฏิหาริย์กับเรือโนอาห์มาช่วยคนและสิ่งมีชีวิตไม่กี่ชนิดให้อยู่รอดต่อไปในอนาคต แต่วันนี้องค์ความรู้ของมนุษย์พัฒนาไปไกลขึ้นแล้ว ไม่ว่าจะเจอภัยธรรมชาติหรือภัยจากโรคระบาดอย่างที่เราทุกคนกำลังประสบ มั่นใจได้ว่าเราจะหาทางผ่านปัญหาทั้งหมดนี้และอยู่ร่วมกับมันได้ในที่สุด

เช่นเดียวกับ Currents for Currents ที่บอกเราว่า “ปัจจุบัน” เป็นสิ่งสำคัญ การแก้ทุกปัญหาจึงไม่ควรมองแค่เรื่องอนาคตข้างหน้าอย่างเดียว แต่ต้องคำนึงถึงสิ่งที่ต้องปรับตัวตามสภาพแวดล้อมปัจจุบันด้วย

 

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.designboom.com/architecture/dada-envisions-modular-floating-dwelling-units-coastal-communities-world-06-22-2020/

https://lakareacts.com/winners/currents-for-currents/

Previous articleนับถอยหลังตำนานถนนพระราม 2 ล่าสุดเตรียมก่อสร้างทางยกระดับแล้ว
Next articleครั้งแรกของไทย…วิศวะมหิดล – สถาบันชีววิทยาศาสตร์โมเลกุล คิดค้นหุ่นยนต์
“เอไอ-อิมมูไนเซอร์” ทดสอบภูมิคุ้มกันอัจฉริยะ หนุนการพัฒนาวัคซีนให้เร็วขึ้นและแม่นยำ