สภาวิศวกร เผย 5 จุดเสี่ยง โครงสร้างบ้านอันตรายช่วงหน้าฝน พร้อมแนะวิธีการป้องกันเบื้องต้น ได้แก่ หลังคาบ้าน ท่อระบายน้ำ ระบบไฟฟ้าหรืออุปกรณ์ไฟฟ้า รั้วบ้าน และฐานรากของบ้าน

ศาสตราจารย์ ดร. สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ นายกสภาวิศวกร เปิดเผยว่าตลอด 1-2 เดือนนี้ ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับสภาพภูมิอากาศที่ฝนตกหนักต่อเนื่องในบางพื้นที่ จึงเป็นผลให้หลายพื้นที่มีความเสี่ยงน้ำท่วม/ หรือได้รับผลกระทบเชิงโครงสร้างของสิ่งปลูกสร้าง ทั้งอาคารสาธารณะ บ้านเรือน โรงเรียน โรงพยาบาล และตลาด ดังนั้นเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงอันตรายต่อทั้งชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน สภาวิศวกรจึงมีข้อเสนอแนะในการสังเกต 5 จุดเสี่ยงของสิ่งปลูกสร้าง พร้อมแนวทางการตรวจสอบและป้องกันภัยด้วยตนเองเบื้องต้น ดังนี้

1.หลังคาบ้าน

จุดแรกที่ต้องสัมผัสและรองรับเม็ดฝนที่ตกกระทบจำนวนมาก และในบางกรณีที่ฝนตกหนักอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเพิ่มความเสี่ยงให้หลังคาเกิดการผุกร่อน หรือกิ่งไม้ที่หล่นลงมากระทบหลังคาอาจสร้างความเสียหายได้ ดังนั้นในช่วงที่ฝนทิ้งช่วง ควรหมั่นตรวจสอบรอยรั่วของหลังคาเสมอ โดยสามารถเลือกใช้แผ่นปิดรอยต่อ หรือเทปกันซึมเบื้องต้นได้

2.ท่อระบายน้ำ

เพื่อป้องกันน้ำท่วมขังโดยรอบบ้าน ประชาชนจะต้องเตรียมท่อระบายน้ำหรือวางเส้นทางน้ำให้ชัดเจน กรณีที่มีท่อระบายน้ำเดิมจะต้องสำรวจว่ามีการชำรุดหรืออุดตันของดินโคลนและสิ่งสกปรกหรือไม่ ทั้งนี้ หากมีการชำรุดหรืออุดตัน จะเป็นผลให้เกิดการขังของน้ำบริเวณโดยรอบบ้าน

3.ระบบไฟฟ้า/ อุปกรณ์ไฟฟ้า

หมั่นสำรวจสภาพสายไฟฟ้า รวมถึงระบบไฟฟ้าที่ต่อเข้าภายในบ้านว่ายังอยู่ในสภาพที่ปลอดภัยหรือไม่ กรณีที่พบอุปกรณ์ไฟฟ้าอยู่ในสภาพชำรุดต้องเร่งซ่อมแซม หรือกรณีที่เสี่ยงต่อไฟรั่ว สามารถใช้ไขควงลองไฟทดสอบด้วยตนเองเบื้องต้นได้ รวมถึงกรณีที่สายไฟบนเสาไฟฟ้า อยู่ในสภาพขาดห้อย ห้ามเข้าใกล้เด็ดขาด ต้องรีบติดต่อเจ้าหน้าที่การไฟฟ้าในพื้นที่เข้ามาแก้ไขโดยเร็ว

4.รั้วบ้าน

หากฐานรั้วบ้านไม่มั่นคง ล้ม เอียง เสี่ยงต่อการล้มทับ สามารถซ่อมแซมชั่วคราวได้ด้วยการถมดินหรือถุงทรายอัดแน่น หรือกรณีรั้วมีแนวโน้มทรุดเอียง สามารถทำที่ค้ำยันรั้วเป็นการชั่วคราวเพื่อป้องกันรั้วล้ม จากนั้นจึงติดต่อช่างผู้ชำนาญการมาปรับปรุงให้มั่นคงและแข็งแรงยิ่งขึ้น

5.ฐานรากของบ้าน

อีกหนึ่งจุดสำคัญที่ไม่ควรละเลย และควรตรวจสอบความแข็งแรงเสมอ เพราะหากพื้นดินโดยรอบตัวบ้านหรือฐานบ้านเป็นดินร่วน หรือมีความหนาแน่นต่ำ ย่อมมีความเสี่ยงต่อการทรุดตัวของบ้าน หรือในกรณีที่ฐานรากของบ้านเกิดจากการสร้างโดยไม่มีเสาเข็ม อาจจะเป็นผลให้ดินใต้ฐานบ้านถูกกระแสน้ำกัดเซาะจนไม่สามารถรองรับบ้านได้ในระยะยาว จำเป็นต้องเร่งซ่อมโดยด่วน

นอกจากนี้ ประชาชนต้องหมั่นสังเกตต้นไม้ใหญ่ที่อยู่ใกล้บริเวณบ้านว่าเสี่ยงต่อการหักโค่น ล้มทับบ้าน หรือสายไฟฟ้าหรือไม่ ซึ่งในกรณีที่มีความเสี่ยงสูง ควรจัดหาหรือประสานเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องให้เข้ามาทำการตัดแต่ง เพื่อป้องกันความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้ อย่างไรก็ดี สำหรับประชาชนที่มีข้อสงสัยในการซ่อมแซมบ้าน หรือตรวจสอบความปลอดภัยของระบบไฟฟ้าภายในบ้าน สามารถติดต่อเพื่อขอรับคำปรึกษาจากสภาวิศวกรได้ที่สายด่วน 1303

ติดตามข่าวสารและความเคลื่อนไหวของสภาวิศวกรได้ที่ www.facebook.com/coethailand, www.coe.or.th ไลน์ไอดี @coethai หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ สายด่วน 1303

Previous articleคอตโต้ จัดทำถุงกอล์ฟรุ่นพิเศษ Signature Collection พร้อมลายเซ็นโปรเม-โปรโม
Next articleไอเดียสุดเท่ สู้ Covid-19 กับ Nano Electric Product
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว