วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) นำโดย ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วสท. ร่วมกับศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 15 จังหวัดเชียงราย โดย นายไพฑูรย์ นาคแท้ ผู้อำนวยการศูนย์ฯ พร้อมด้วยวิศวกรอาสา วสท. ลงพื้นที่ตรวจสอบความเสียหายของสะพานที่ขาดจากเหตุน้ำท่วม หมู่บ้านวนาไพร ตำบลสาลี่ อำเภอเวียงสา จังหวัดน่าน วสท. ชี้อันตรายให้เร่งเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างเสาตอม่อก่อนวางตัวสะพานเหล็กใหม่แทนอันเก่า และลงพื้นที่ตรวจโครงสร้างอาคารบ้านเรือนในจังหวัดเชียงราย โดยมี นายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ร่วมด้วยพร้อมรับมอบถุงยังชีพสำหรับประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อน

ดร.ธเนศ วีระศิริ นายก วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.)  กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ช่วยเหลืองานด้านวิศวกรรมและมอบสิ่งของช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่น้ำท่วมภาคเหนือ จังหวัดน่าน วสท.ได้รับแจ้งเหตุสะพานถล่มพังเสียหาย สร้างความลำบากให้กับชาวบ้าน เพราะต้องใช้สะพานนี้ในการสัญจรเป็นประจำ จึงเข้าตรวจสอบทันที พบว่าแรงพายุซินลากูที่ทำให้เกิดฝนตกหนัก ได้พัดพาเศษซากต้นไม้จำนวนมากมาติดขวางต้านแรงน้ำอยู่บริเวณตอม่อของสะพาน ทำให้มวลน้ำไหลได้อย่างยากลำบาก จนเป็นเหตุให้เสาสะพานรับแรงต้านของน้ำไว้ไม่ไหว เกิดการบิดตัวและพังถล่มลงมาให้ที่สุด

จากการตรวจสอบความแข็งแรงของโครงสร้างสะพานที่ถล่มนี้ ทั้งในส่วนของฐานรากและตอม่อสะพาน วสท.พบรอยร้าว เสาเอียง และตอม่อลอยขึ้นจากระดับปกติ จึงได้เสนอแนวทางการแก้ปัญหาและให้คำแนะนำในการซ่อมแซมสะพาน โดยให้มีการเสริมความแข็งแรงของโครงสร้างเสาตอม่อเดิมที่ยังมีสภาพดีอยู่ หรือบริเวณฐานรากเสาที่ยังคงมีดินคลุมอยู่ และหลีกเลี่ยงการใช้เสาตอม่อที่ลอยในการรับน้ำหนัก เพราะขณะที่รถสัญจรผ่านไปมาจะทำให้เกิดแรงกระแทกและการขยับตัว เสี่ยงต่อความแข็งแรงของโครงสร้างสะพาน โดยให้ดำเนินการก่อนมีการติดตั้งตัวสะพานเหล็กเบลีย์ ความยาว 48 เมตร โดยทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญของ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จะดูแลอย่างใกล้ชิด คาดว่าจะใช้ระยะเวลา 10 วัน ในการดำเนินการให้แล้วเสร็จ

ทั้งนี้ วสท. ได้เดินทางต่อไปยังพื้นที่น้ำท่วมจังหวัดเชียงราย หมู่บ้านสันติสุข หมู่ 11 และหมู่บ้านแม่ขะจาน ตำบลแม่เจดีย์ อำเภอเวียงป่าเป้า จังหวัดเชียงราย โดยมีนายกฤชเพชร เพชระบูรณิน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย และนายวุฒิกร คำมา นายอำเภอเวียงป่าเป้า ให้การต้อนรับ และรับมอบถุงยังชีพเพื่อนำไปแจกให้ชาวบ้าน วิศวกรอาสา วสท.ได้ช่วยเหลือตรวจสอบความเสียหาย อาคาร บ้านเรือน โรงเรียน วัด และสิ่งก่อสร้างต่าง ๆ พร้อมให้คำแนะนำทางด้านวิศวกรรมแก่หน่วยงานราชการและประชาชน เพื่อให้เกิดความปลอดภัยและฟื้นฟูให้คืนกลับสู่สภาพเดิมอีกครั้ง พร้อมทั้งได้ร่วมหารือแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมในอนาคต

Previous articleเมื่อพื้นที่เล่นทำได้มากกว่าการเล่น คุยกับคุณญารินดา บุนนาค
ใน 3 โปรเจกต์เนรมิตพื้นที่ “เล่น” ให้เป็นพื้นที่ “สุข”
Next articleเมื่อตู้ไปรษณีย์เป็นมากกว่าตู้รับจดหมายพบ “Demateco” กับการพลิกโฉมตู้ไปรษณีย์
สู่ส่วนหนึ่งของการตกแต่งบ้าน ในงาน ACT FORUM ’20 DESIGN + BUILT
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ