ทล. กปน. กทม. ระดมกำลังแก้ปัญหาเร่งด่วนซ่อมตอม่อทางด่วนวงแหวนกาญจนาภิเษกด้านใต้ พร้อมคืนระบบน้ำประปาให้ชุมชนโดยเร็ว กำหนดแนวทางเบี่ยงจราจรและบูรณะสะพานพร้อมจัดทีมเฝ้าระวัง 24 ชม.เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนเมื่อวันที่ 5 ตุลาคม 2563 ได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างกรมทางหลวง การประปานครหลวง โดยนายกวี อารีกุล ผู้ว่าการประปานครหลวง และ อาจารย์ธเนศ วีระศิริ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย เพื่อร่วมกันประเมินสถานการณ์ และกำหนดแนวทางในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนเพื่อลดผลกระทบต่อประชาชน และทำการคืนระบบน้ำประปาให้กับชุมชนโดยเร็วที่สุด รวมถึงพิจารณาแนวทางดำเนินการเบี่ยงจราจรด้านบนสะพานในช่วงที่มีความเสียหาย จำนวน 1 ช่องจราจร และพิจารณากำหนดแนวทางการบูรณะสะพาน
นอกจากนี้ ยังมีการหารือเพื่อเตรียมทีมงานส่งน้ำใช้ตามจุดต่างๆ รอบพื้นที่โครงการ เพื่อบรรเทาผลกระทบของประชาชนที่ประสบปัญหาน้ำประปาไม่ไหล โดยที่ประชุมมีความเห็นควรมอบหมายให้แขวงทางหลวงธนบุรี, สำนักงานเขตทุ่งครุ ของ กทม. และเจ้าหน้าที่ของการประปานครหลวง ร่วมกันจัดทีมเฝ้าระวังในพื้นที่ที่อาจมีน้ำท่วมขัง เพื่อเตรียมเครื่องสูบน้ำ และจัดทีมเจ้าหน้าที่เพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชนตลอดเวลา โดยในเบื้องต้น ให้เร่งทำการสูบและระบายน้ำจากจุดที่ท่อประปาเกิดความเสียหาย ออกจากพื้นที่ตลอดช่วงความยาวสะพานที่เกิดการชำรุดของตอม่อ และดำเนินการเพิ่มความแข็งแรงของสะพานและพื้นที่ข้างเคียง โดยใช้การติดตั้งระบบโครงสร้างรับน้ำหนักสะพานและผนังกันดิน โดยแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน
ขั้นตอนที่ 1) ดำเนินการเสริมความแข็งแรงบริเวณเสาเข็มในใกล้เคียงต้นที่ยังไม่เสียหาย และทำการติดตั้งระบบโครงสร้างรับน้ำหนักสะพานชั่วคราว (Temporary Support) จากนั้นให้การประปานครหลวงทำการติดตั้งระบบท่อน้ำประปาสำรอง (By Pass) ตามแนวเขตทางหลวง เพื่อให้สามารถคืนระบบน้ำประปาให้กับประชาชนในพื้นที่ได้โดยเร็ว
ขั้นตอนที่ 2) หลังจากเพิ่มระบบท่อน้ำประปาสำรอง (By Pass) เรียบร้อยแล้ว กรมทางหลวงดำเนินการบูรณะสะพาน และเสริมโครงสร้างความมั่นคงของทางยกระดับ ต่อไป
ทั้งนี้ ตามแผนงานคาดว่าขั้นตอนที่ 1 งานเพิ่มระบบประปาสำรอง (BY Pass) จะใช้เวลาประมาณ 24 ชม. ดังนั้น จะสามารถเริ่มกลับมาบริการจ่ายน้ำประปาได้ภายในวันที่ 6 ต.ค. 63 สำหรับงานในขั้นตอนที่ 2 ทางกรมทางหลวง การประปานครหลวง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิเช่น สำนักงานเขตทุ่งครุ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย จะประสานงานและเร่งรัดการดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว โดยคำนึงถึงความมั่นคงของโครงสร้างทางยกระดับเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะประสานงานกันอย่างใกล้ชิด เพื่อบูรณาการงานให้แล้วเสร็จโดยเร็วและส่งผลกระทบต่อประชาชนน้อยที่สุด