“พื้นที่สีเขียว” ถือเป็นปัญหาที่ยังแก้ไม่ตกสำหรับกรุงเทพฯ เพราะหลาย ๆ ภาคส่วนยังไม่ได้ให้ความสำคัญมากเท่าไหร่นัก แต่รู้หรือไม่ว่า พื้นที่สีเขียวเหล่านี้ สามารถช่วยยกระดับให้กับคุณภาพชีวิตผู้คนได้อย่างยั่งยืนทั้งในแง่ของการพักผ่อน ออกกำลังกาย รวมถึงการมีส่วนร่วมระหว่างคนในชุมชน

แต่การสร้างพื้นที่สีเขียวเพียงฝ่ายเดียว ผลที่เกิดขึ้นคือการสร้างที่ยังไม่ยั่งยืนมากพอ หากดึงเอาผู้ที่มีส่วนร่วมในพื้นที่ละแวกนั้นและส่วนที่เกี่ยวข้องเข้ามาเสนอความคิดเห็น ความต้องการ ผลที่ได้คือการพัฒนาที่ยั่งยืน เพราะทุกคนมีส่วนร่วมในการก่อสร้างและเป็นเจ้าของพื้นที่สีเขียวเหล่านี้

วันนี้เราขอชวนทุกท่านมาร่วมพูดคุยกับ “คุณยศพล บุญสม” ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ “we!park” กับโครงการคืนพื้นที่สีเขียว พื้นที่รกร้างให้กลับมามีชีวิตชีวา สามารถออกแบบพื้นที่สีเขียวเองได้ และขับเคลื่อนความเป็นพลเมืองให้ทุกคน

คุณยศพล บุญสม ผู้ร่วมก่อตั้งโครงการ we!park และกรรมการผู้จัดการ Shma CO., LTD.

จุดเริ่มต้นจากความต้องการ

จากการที่ได้พูดคุยกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน หรือแม้กระทั่งคนในชุมชน ก็พูดไปในทางเดียวกันว่า “อยากทำพื้นที่สีเขียว แต่ไม่มีนักออกแบบ” เราก็เห็นว่ามันเกิดช่องว่างตรงนี้ ที่ทำอย่างไรที่จะเชื่อมคน เชื่อมทรัพยากร เชื่อมองค์ความรู้ เพื่อให้ปัญหาเรื่องพื้นที่สีเขียวถูกแก้ไข ซึ่งแต่ละฝ่ายควรจะเริ่มมีกลไกเพื่อให้ทุกคนสามารถลงมือทำร่วมกันได้ เพื่อให้เรื่องนี้ประสบความสำเร็จ จึงเกิดเป็นแพลตฟอร์มที่ชื่อว่า “we!park” ขึ้นมา”

ซึ่งเราสนใจในเรื่องนโยบาย เพราะปัญหาเรื่องพื้นที่สีเขียวไม่ได้แก้ไขด้านการออกแบบอย่างเดียว เราเลยร่างนโยบายไปเสนอกับหน่วยงานต่าง ๆ เช่น สมัชชาสุขภาพแห่งชาติ หรือกระทรวงสาธารณสุข ก็ได้เป็นมติออกมาช่วยขับเคลื่อนนโยบายให้ประสบความสำเร็จและสามารถพัฒนาต่อเนื่องในระยะยาวได้

ถอดบทเรียนกับโมเดลต้นแบบจาก 4 พื้นที่นำร่องรอบกรุงเทพฯ

ตอนนี้ we!park กำลังถอดบทเรียนจาก 4 พื้นที่นำร่อง ได้แก่ 1. หลังวัดหัวลำโพง ด้านหลังร้านกาแฟ Too Fast To Sleep 2. ย่านอ่อนนุช บริเวณหลังโครงการ T77 3. ย่านเอกมัย และ 4. River City เพื่อศึกษาถึงความต้องการในหลาย ๆ ด้าน เช่น ทำอย่างไรถึงจะกระตุ้นการมีส่วนร่วมของคนในพื้นที่ หรือการชักชวนเอกชนที่มีที่ดินอยู่แล้วไม่รู้จะทำอะไร นำพื้นที่มาสร้างเป็นพื้นที่สีเขียวดีกว่า ตลอดระยะเวลาที่ทำมาได้เกือบ 1 ปี มันก็เริ่มเห็นแนวโน้มที่ดีขึ้น มีเอกชนที่บริจาคพื้นที่ให้ทำเลย

we!park มีหน้าที่เข้าไปช่วยจัดกระบวนการหานักออกแบบมาทำในพื้นที่ตรงนั้น อย่างพื้นที่ของการทางตรงเอกมัย เราก็จัดประกวดแบบหลังจากนั้นก็จะระดมทุนหรือทำกลไกในเรื่องขอสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่อยากมีส่วนร่วมตรงนี้ก็เริ่มเห็นแนวโน้มว่า มีคนที่สนใจอยากให้ทุน ที่ดิน หรือซัพพอร์ทเรื่องการทำกิจกรรม

แต่ก็ยังพบช่องโหว่อยู่ เช่น เรื่องภาษีที่ดินที่มีกรอบในการพัฒนามากขึ้น การนำพื้นที่มาทำสวนสาธารณะที่เข้าหลักเกณฑ์จะช่วยลดหย่อนภาษีมากขึ้น ตัวโครงการนี้ก็จะเป็นโครงการนำร่องกึ่งทดลองเพื่อสรุปแล้วนำผลที่ได้ทั้งข้อดีและข้อเสนอแนะให้กับภาครัฐ อีกส่วนหนึ่งก็สรุปในแง่ขององค์ความรู้ว่า การทำพื้นที่สีเขียวผ่านกระบวนการที่ถูกต้อง ผลลัพธ์ก็จะต่างออกไป หากผ่านกระบวนการมีส่วนร่วมชวนคิดชวนทำ จะทำให้สวนสาธารณะนั้นยั่งยืนมากขึ้น

องค์ความรู้ต่าง ๆ ที่สรุปออกมาก็สามารถส่งต่อไปยังท้องถิ่นอื่น ๆ ซึ่งนำไปพัฒนาและปรับใช้กับพื้นที่ต่างจังหวัดได้ ตรงนี้ก็อาจจะไปเริ่มในระยะที่ 2 ที่จะขยายผลต่อในอนาคต

กระจายการมีส่วนร่วมเพื่อความยั่งยืน

เนื่องจากเราใช้คำว่า “WE” เลยอยากให้ทุกภาคส่วนมีส่วนร่วมทุกกระบวนการตั้งแต่

  • ที่ดิน คุณมีที่ดินก็มีส่วนร่วมได้ หรือในอนาคตอาจจะมีแอปฯ ที่สามารถเช็คได้ว่าที่ดินที่ไหนน่าสนใจที่จะนำไปใช้ได้
  • แนวคิด ระดมความคิดเห็น เราก็ถามคนในพื้นที่ว่าต้องการอะไร เพื่อที่จะปรับฟังก์ชันให้เหมาะสมกับพื้นที่นั้น ๆ
  • การออกแบบ เราไม่ได้ออกแบบเอง แต่จะหานักออกแบบมาในวิธีต่างกัน เช่น การจัดประกวดออกแบบที่ให้ทั้งบุคคลทั่วไปหรือนักออกแบบวิชาชีพมาช่วยกันเสนอความคิดเห็น
  • การสร้าง การให้คนในชุมชนบริเวณนั้น ๆ มาช่วยกันสร้างให้สำเร็จ เช่น การทาสี ปลูกต้นไม้ จัดพื้นที่กิจกรรมสำหรับชุมชนนั้น ๆ
  • บริหารจัดการพื้นที่ คือให้ทุกคนบริเวณโดยรอบได้มีส่วนร่วมในการรักษา ดูแลความปลอดภัย คิดกิจกรรมขึ้นในวันหยุดสุดสัปดาห์เพื่อให้มีกิจกรรมสร้างความสัมพันธ์

จะเห็นได้ว่า ทั้งหมดมีส่วนร่วมทุก ๆ กระบวนการ ซึ่งเราก็จะเห็นว่าบางอันมันเริ่มทำได้เลย บางอันยังติดข้อกฏหมาย บางอันคนอาจจะยังไม่แน่ใจว่าทำไมเราต้องทำด้วย ตรงนี้อาจต้องสื่อสารให้เข้าใจใหม่

เราคิดว่าครั้งนี้จะเป็นครั้งแรกที่ทำให้ทุก ๆ กระบวนการอยู่ภายใต้รูปแบบเดียวกัน แต่ก่อนการพัฒนาพื้นที่สาธารณะแบบนี้ จะเกิดเป็นจุด ๆ แล้วแต่เหตุปัจจัยแต่ไม่ได้ถูกจัดระบบให้ใช้องค์ความรู้แบบไหน นโยบายอะไร กลไกอย่างไร โครงการที่เกิดขึ้น ถ้าสำเร็จจะเป็นต้นแบบที่สามารถนำไปใช้ได้ในอนาคตอย่างแน่นอน

แก้ปัญหาต้องแก้ให้ถูกจุด

กลไกการทำสวนสาธารณะแบบเดิมมันยังเกิดปัญหาอยู่ เช่น เรื่องของระยะเวลาการดำเนินการของภาครัฐ ขั้นตอนการพูดคุยกับเจ้าของที่ดินที่มีหลากหลายหน่วยงานเป็นเจ้าของ หรือบุคลากรที่จะเข้ามาร่วมทำก็อาจไม่เพียงพอ ฐานข้อมูลเมืองหรือกลไกความรู้ความเข้าใจอาจยังกระจัดกระจาย ต้องมีการจัดระเบียบใหม่

ข้อดีคือ เรื่องพื้นที่สีเขียวอยู่ในความต้องการหรือสนใจของหลาย ๆ คนเป็นทุนตั้งต้นที่ดี ไม่ว่าจะรัฐฯ เอกชน หรือประชาชนทั่วไป ทุกคนอยากจะเห็นพื้นที่สีเขียวในเมืองมากกว่านี้ อาจจะด้วยเรื่อง pm 2.5 เรื่องมลพิษต่าง ๆ ที่มันทำให้เห็นว่า เรื่องนี้สำคัญมาก และความท้าทายคือ แล้วเราจะทำอย่างไรให้มันเกิดขึ้น เราไม่ได้อยากให้เกิดขึ้นเพียงแค่ ปลูกต้นไม้ทั่วไป แต่อยากให้การทำพื้นที่สีเขียวพัฒนาอย่างยั่งยืน ถือว่าเป็นโจทย์ที่ยากและท้าทายมาก

นอกจากนี้พื้นที่สีเขียวยังลดความเหลื่อมล้ำทางสังคมอีกด้วย ในเรื่องของการมีส่วนร่วมเหล่านี้ เราจึงต้องลงพื้นที่เพื่อไปดูปัญหาแล้วหาทางแก้ไขผ่านพื้นที่สีเขียว ทั้งหมดเป็นเหมือนการ unlocked ทรัพยากรที่มีอยู่ในเมืองให้เกิดประโยชน์กับทุกคน ทุกฝ่าย และยัง unlocked ศักยภาพของพลเมืองในด้านแนวคิดในการร่วมพัฒนาได้ด้วย

we!park ไม่ได้มีเป้าเพียงแค่เพิ่มพื้นที่สีเขียว แต่ยังเพิ่มพลังให้กับพลเมืองทุกคนรวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วม
และพื้นที่สีเขียวยังเป็นพื้นที่สำหรับให้ทุกคนแชร์ประเด็นเพื่อสร้างประโยชน์ร่วมกัน ตรงนี้แหละ
เป็นบทบาทของวิชาชีพภูมิสถาปนิกที่จะเข้ามาเป็นกลไกในการทำเรื่องนี้ ในเมื่อเรามองเห็นปัญหาที่อยู่ในสังคม
และบทบาทวิชาชีพของเราทำอะไรได้บ้าง

สัดส่วนของการออกแบบตามชุมชน

เราทำ Stakeholder Mapping ในรัศมีที่จะมีพื้นที่สีเขียวว่ามีใครบ้าง และจะต้องชวนให้ครบ ทั้งเอกชน ชุมชน รัฐ สถาบันการศึกษา และภาคประชาสังคม พื้นที่สาธารณะมันไม่ได้หมายถึงชุมชนอย่างเดียว ทุก ๆ ภาคส่วนก็คือส่วนหนึ่งของชุมชน เมื่อตัวแทนแต่ละฝ่ายเข้ามาร่วมพูดคุยกัน ก็จะสามารถเข้าใจถึงปัญหาและหาแนวทางการแก้ไขที่ไปในทิศทางเดียวกัน และเห็นว่าทั้งหมดนี้เป็นประโยชน์ร่วมกันหากประสบความสำเร็จ

และต้องทำให้ทุกฝ่ายที่ร่วมพูดคุยเท่าเทียมกัน เพราะเรื่องพวกนี้ไม่สามารถใช้กฏหมายมาบอกให้ทำได้ เพราะไม่อย่างนั้นมันจะไม่ยั่งยืน แต่การให้ทุกคนรู้มากขึ้น เข้าใจกันมากขึ้น ร่วมพัฒนาอย่างมีประสิทธิภาพ จะทำให้ประสบความสำเร็จอย่างเข้าใจกัน

ปลุกบทบาทหน้าที่ความเป็นพลเมือง

โมเดลสวนของ we!park จะแตกต่างจากสวนทั่ว ๆ ไป ตรงที่เราสามารถเข้าไปมีส่วนร่วมในแง่ของการจัดกิจกรรมได้ และยังปลุกความเป็นพลเมืองขึ้นมา ว่าเราไม่ใช่ฝ่ายรับอย่างเดียว แต่สามารถแอคชั่นกับสิ่งนั้นแล้วทำให้มันเกิดขึ้นมาได้ และยั่งยืนอีกด้วย โมเดลของ we!park อาจจะช่วยให้สวนสาธารณะมีปริมาณที่เพิ่มมากขึ้น พื้นที่รกร้างจะกลายเป็นพื้นที่สีเขียว อย่างตัวชี้วัดที่บอกว่า ทุก ๆ 400 เมตรควรจะมีพื้นที่สีเขียว ซึ่งปัจจุบันคือน้อยมาก ราว ๆ 13% ของพื้นที่เมืองเท่านั้น

ถ้า Pocket Park หรือ Green Link ทุก ๆ 400 เมตรในเมืองเกิดขึ้นได้จริง จะช่วยเชื่อมโยงผู้คนกับพื้นที่เหล่านี้ได้ง่ายขึ้น เดิน วิ่ง ขี่จักรยาน ได้อย่างปลอดภัย ลดปริมาณการใช้รถยนต์ทำให้อากาศดีขึ้น และผลักดันให้พื้นที่ว่างหรือรกร้างถูกใช้งานให้เกิดประโยชน์มากขึ้น ลองมองในบ้านเรา การจะเดินทางไปสวนสาธารณะอาจจะต้องขับรถไปหรือนั่งรถไฟฟ้า รถสาธารณะ ปัญหาทั้งหมดคือสิ่งที่ we!park พยายามจะแก้ไข และเป็นช่องทางหนึ่งที่ทำให้คนหันกลับมามอง

“ที่ผ่านมาวิชาชีพเราจะไม่ได้เข้าไปอยู่กลไกของการพัฒนานั้น เราจะถูกพิจารณาในกระบวนการท้าย ๆ ประเด็นปัญหาคือเมื่อไม่ได้แสดงบทบาทที่สำคัญมากพอ การพัฒนาเหล่านี้จะพัฒนาไปสู่การทำลาย และเราเชื่อว่า วิชาชีพนี้จะเป็นกลไกกลางในการที่ทำให้มนุษย์อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างกลมกลืนและยั่งยืน”

Previous articleก.คมนาคม อัดงบทำทาง 2.5 หมื่นล้าน ให้ “อำนาจ-ยโส-มุกดาหาร”
Next article5 เหตุผลที่ต้องไปงาน SCG HOME & Living Fair
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ