การสร้างตึกหรืออาคารสูง ๆ ในปัจจุบัน กลายเป็นเรื่องที่ดูไม่น่าตื่นตาตื่นใจเท่าไหร่นัก เพราะมีการขับเคี่ยวกันอยู่หลายประเทศ การมีตึกสูงถือเป็นการสร้างแลนด์มาร์กอย่างหนึ่ง กระตุ้นเศรษฐกิจ ดึงดูดนักท่องเที่ยวทั้งในและนอกประเทศ

แต่สำหรับตึก Passivhaus หรือตึกอนุรักษ์พลังงานที่สูงที่สุดในโลก ก็เป็นหนึ่งในสิ่งที่สร้างความท้าทายให้กับทีมนักออกแบบและก่อสร้าง รวมถึงเจ้าของโครงการที่สามารถสร้างชื่อเสียงในแวดวงอสังหาริมทรัพย์ในยุคที่สังคมพยายามออกมาแสดงความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

เกร็ดน่ารู้

  • แนวคิด Passive House เริ่มต้นในปี 1988 หมายถึงสิ่งปลูกสร้างที่ออกแบบมาให้ประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยมลพิษ ซึ่งพัฒนามาจากอาคารพลังงานต่ำ
  • Passive House ในอดีตจะใช้แผง Solar Cell เปลี่ยนแสงแดดเป็นพลังงานภายในบ้าน
  • อย่างไรก็ตาม การใช้แหล่งพลังงานสำรองอื่นยังคงจำเป็นต้องมีไว้ โดยต้องเป็นเชื้อเพลิงที่ปล่อยของมลพิษกลับสู่อากาศในปริมาณน้อยเท่านั้น
  • Passive House แห่งแรกของโลกตั้งอยู่ในเมือง Darmstadt-Kranichstein ประเทศเยอรมนี สร้างขึ้นในปี 1991
  • หลังจากนั้น Passivhaus กลายเป็นมาตรฐานของตึกประหยัดพลังงานโดยจะต้อง ใช้พลังงานทำความร้อนความเย็นไม่เกิน 15 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี และใช้พลังงานพื้นฐานไม่เกิน 120 กิโลวัตต์-ชั่วโมงต่อตารางเมตรต่อปี
  • และยังมีข้อกำหนดเรื่องวัสดุก่อสร้างและระบบระบายอากาศอีกด้วย
  • Passive Hose(EN) และ Passivhaus(GER) เป็นคำที่มีความหมายเดียวกัน
Passive House แห่งแรกของโลกตั้งอยู่ในเมือง Darmstadt-Kranichstein ประเทศเยอรมนี สร้างขึ้นในปี 1991

สตูดิโอสถาปนิกนาม “WKK Architects” ได้ปล่อยภาพ Visuals ของตึกนามว่า 1075 Nelson Street ที่มีลวดลายเป็นคลื่น ในเมือง Vancouver ประเทศ Canada และกำลังจะกลายเป็นตึก Passivhaus ที่สูงที่สุดในโลก ออกแบบมาเพื่อเป็นแลนด์มาร์กที่หนึ่งที่สามารถมองเห็นได้ง่าย อยู่ใกล้กับสวนสาธารณะ Nelson Park ในย่าน West End โดยตึกแห่งนี้จะเป็นตึกสำหรับอยู่อาศัย มีความสูงถึง 178 เมตร

WKK Architects ได้พัฒนาร่วมกับ IBI Group เพื่อสร้างตึกแห่งนี้ให้กับ Henson Developments บริษัทด้านอสังหาริมทรัพย์ที่เน้นอาคารที่มีความยั่งยืน ไม่สร้างผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสร้างรากฐานชุมชนที่แข็งแรงและตอบสนองต่อสังคม เป้าหมายของตึกนี้เน้นที่ความร่วมสมัยของสถาปัตยกรรม และการฉีกกรอบข้อจำกัดของตึกสูงว่า สามารถสร้างได้อย่างยั่งยืนและที่สำคัญ ผ่านมาตรฐาน Passivhaus สุดเข้มข้นเป็นที่เรียบร้อย

Passivhaus เป็นมาตรฐานประสิทธิภาพการใช้งานระดับสากลที่ช่วยลดความต้องการในเรื่องความร้อนและความเย็นของพื้นที่ในอาคารโดยจะลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนออกสู่ธรรมชาติ

“Vancouver เป็นที่รู้กันดีอยู่แล้วว่า เป็นหนึ่งในสถานที่ที่น่าอยู่ที่สุดแห่งหนึ่งในโลก ผมต้องการผลักดันให้เมืองนี้กลายเป็นเมืองที่ยั่งยืนในเรื่องต่าง ๆ รวมถึงตึก ๆ นี้ ผมเชื่อว่าตึกที่เรากำลังจะสร้างแห่งนี้ เป็นการนำร่องของการสร้างตึกสูงที่มีมาตรฐาน Passivhaus ผมคาดหวังว่าจะได้โครงการนี้จะได้รับความสนใจในระหว่างการก่อสร้างและเสร็จสิ้นโครงการ” Tom Wright ผู้ร่วมก่อตั้ง WKK Architects กล่าวถึงโครงการ

Tom ยังบอกอีกว่าเมื่อ 1075 Nelson Street สร้างเสร็จ จะโค่นตึก Bolueta Tower ตึก Passivhaus ที่สูงที่สุดในขณะนี้ ที่มีจำนวนชั้น 28 ชั้นในประเทศ Spain ที่มีความสูง 88 เมตร

ทางด้านสถาปัตยกรรมภายนอก ได้รับการออกแบบและพัฒนาเพื่อกระตุ้นให้เกิดการเอาใจใส่และการรับรู้ถึงสภาพแวดล้อมโดยรอบที่เป็นรูปธรรมมากขึ้น จะยังออกแบบนอกกรอบของอาคารประหยัดพลังงานแบบเดิม ๆ ที่ไม่จำเป็นที่เรียบง่าย แต่สามารถเล่นเป็นคลื่น ราวกับว่าตึกแห่งนี้เคลื่อนที่ตามอากาศที่หมุนเวียนตลอดทั้งวัน

เพื่อให้ได้มาตรฐาน Passivhaus ภายนอกของตึกเลือกใช้กระจกพิเศษ มีชั้นกรองแสงถึง 3 ชั้น เพื่อให้ภายในดูโปร่งโล่งแต่ในขณะเดียวกันก็สามารถกักเก็บความร้อนไว้ในตัวอาคารในเวลาหน้าหนาวทำให้ไม่ต้องเปิดฮีทเตอร์มากนัก นอกจากนี้ยังมีระบบระบายอากาศพลังงานต่ำ 2 ระบบ ทางหนึ่งจะส่งอากาศบริสุทธิ์ไปยังอพาร์ทเมนท์ อีกทางหนึ่งช่วยระบายกลิ่นไม่พึงประสงค์ออกจากบริเวณที่พัก

สำหรับตึก 1075 Nelson Street ยังไม่มีการเปิดเผยยูนิตที่ชัดเจน แต่มีการคาดการณ์กันไว้ว่าน่าจะราว ๆ 480 ยูนิต โดยแบ่งเป็น ที่อยู่อาศัยเพื่อสังคม 102 ยูนิต สำหรับเช่า 50 ยูนิต และสำหรับคอนโด 328 ยูนิต ส่วนวันที่จะเริ่มก่อสร้างยังไม่ได้ระบุ แม้ว่าสภาเมือง Vancouver จะอนุมัติแล้วก็ตาม

“ตึกแห่งนี้เป็นสัญลักษณ์ของการเริ่มต้นและความหวังใหม่ ที่วางแนวทางการก่อสร้างให้ก้าวสู่อนาคตที่ยั่งยืนของวงการสถาปัตยกรรมโลก” Tom Wright กล่าวปิดท้าย

หวังว่าไอเดียชิ้นนี้จะเป็นตัวจุดประกายให้กับเหล่าสถาปนิก นักออกแบบ รวมถึงนักลงทุนในบ้านเรา ได้เริ่มต้นโครงการตึกพลังงานสะอาดกันให้มากขึ้น

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.dezeen.com/2020/11/23/wkk-architects-1075-nelson-street-passivhaus-skyscraper/

https://passipedia.org/examples/residential_buildings/multi-family_buildings/central_europe/the_world_s_first_passive_house_darmstadt-kranichstein_germany

https://bit.ly/3qaJLSf

Previous article‘ดร.พัฒน สุวรรณสัมฤทธิ์’ สถาปนิกผู้นำบริการ ‘รับออกแบบโรงเรียนนานาชาติ’ พร้อมแนะวิถี ‘NEW LERNING OF NEW NORMAL’ ในงาน ACT FORUM ’20 Design + Built
Next articleหัวหน้าอุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี ชี้แจง! ปมร้อนน็อตโครงสร้างหายไปไหน
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ