การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 สร้างความตื่นตระหนกให้แก่ผู้คนทั่วโลก แต่เมื่อเวลาผ่านไปมันกลับกลายเป็นความเคยชินที่เราจะใช้ชีวิตโดยที่ต้องสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลาที่อยู่นอกบ้าน หรือแม้กระทั่งการตรวจวัดอุณหภูมิ รวมไปถึงการรักษาระยะห่าง ซึ่งล้วนแล้วแต่กลายเป็นวิถีชีวิตใหม่ของผู้คนในสังคมไปโดยปริยาย

แน่นอนว่าการแพร่ระบาดของโรคดังกล่าวไม่อาจจำกัดจินตนาการของมนุษย์ได้ การปรับตัวที่ว่าจึงมาพร้อมกับความคิดสร้างสรรค์ จนเกิดเป็น “โน้ตดนตรีรักษาระยะห่าง (Social Harmony)” ซึ่งถูกสร้างสรรค์โดย NOSIGNER นักเคลื่อนไหวด้านการออกแบบเพื่อสังคม (social design activists) ทั้งนี้ เพื่อให้มาตรการทางสังคมนั้นสนุกเท่าที่จะเป็นไปได้นั่นเอง

หากคุณคิดว่าการเดินห่างกันธรรมดาช่างน่าเบื่อ…ถ้างั้นไปรักษาระยะห่างด้วยโน้ตดนตรีกัน!

Social Harmony คือ แผ่นของตัวโน้ตดนตรีขนาดมหึมาที่วางไว้กับพื้นให้ผู้เข้าชมได้บรรเลงฝีเท้าไปกับจังหวะของมัน ซึ่งแปะเป็นโน้ตผลงานประพันธ์ Gymnopédie No.1 ของ Eric Satie ทำให้เกิดการรักษาระยะห่างระหว่างบุคคลในจังหวะที่พวกเขาก้าวไปตามโน้ตแต่ละตัว นอกจากนี้ยังทำให้ผู้เยี่ยมชมสามารถสร้าง Gymnopédie ของตนเอง และสร้างความโดดเด่นให้แก่พื้นที่นี้ได้อย่างสวยงาม

โดยได้มีการจัดแสดง Social Harmony ที่ Yokohama Minato Mirai Hall บริเวณทางเข้าสู่งาน DESIGNART TOKYO 2020

“พวกเราตั้งใจไว้ว่าจะขยายขอบเขตการใช้งานของมันไม่ใช่แค่ที่ Yokohama Minato Mirai Hall เท่านั้น แต่เราอยากทำงานร่วมกับรัฐบาลท้องถิ่น สาธารณูปโภค และในร้านค้าทั่วไป” กลุ่ม NOSIGNER กล่าวไว้ “นอกจาก Gymnopédie No.1 พวกเรากำลังเตรียมเพลงอื่น ๆ ที่เข้ากับฤดูและอีเวนต์เพื่อทำให้การป้องกันโรคระบาดนั้นกลายเป็นเรื่องสนุกไป โดยเป้าหมายของพวกเราคือต้องการสร้างสังคมให้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถใช้วิถีชีวิตใหม่ของพวกเขาด้วยความสนุกสนานจนกว่าเราจะก้าวผ่านวิกฤตการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไปได้”

ทั้งนี้ จึงเรียกได้ว่าโน้ตดนตรีรักษาระยะห่างถูกสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์จากพลังของดนตรีคลาสสิกผสานกับศิลปะเพื่อต่อสู้กับการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยที่คำนึงผลประโยชน์ของสังคมในแง่ของการที่ทำให้ชีวิตวิถีใหม่นี้มีความสนุกสนานมากขึ้นนั่นเอง

 

อ้างอิงข้อมูลจาก https://www.designboom.com/art/nosigner-social-harmony-eric-satie-11-30-2020/

Previous articleสถาปัตยกรรมโบราณเหล่านี้…มีราคาเท่าไหร่?
Next articleเยี่ยมชม “พิพิธภัณฑ์ช้าง” สถาปัตยกรรมจากอิฐแดงโบราณสุดยิ่งใหญ่
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว