ชุมชนคลองเตย ถือเป็นหนึ่งในชุมชนที่มีความแออัดมากที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ เลยก็ว่าได้ เพราะจากข้อมูลประชากรในเขตคลองเตยมีราว ๆ 160,000 คน อาศัยอยู่ในชุมชนคลองเตยไปแล้วกว่าแสนคน ทำให้โอกาสสัมผัสพื้นที่สีเขียวของผู้คนในพื้นที่แห่งนี้ลดลงหรือแทบจะไม่มีเลยก็ว่าได้

และปัญหาเหล่านี้ถูกทดแทนด้วยโมเดลสวนสาธารณะฉบับกระเป๋า ภายใต้โครงการ “สภาวิศวกรปันสุขให้ชุมชน” เป็นพื้นที่คนทุกในช่วงวัยสามารถใช้ประโยชน์จากตรงนี้ได้ตลอดทั้งวัน บนพื้นที่ขนาดพอเหมาะ ถือเป็นสิ่งแปลกใหม่สำหรับผู้คนในชุมชนคลองเตย

จุดเริ่มต้น

อยากที่ทราบกันดีของชุมชนคลองเตยในเรื่องของความหนาแน่นของที่อยู่อาศัย ประชากร ซึ่งที่เป็นไปไม่ได้เลยในพื้นที่แห่งนี้คือ “พื้นที่สีเขียว” แต่แล้วพื้นที่รกร้างแห่งหนึ่งในชุมชนก็ได้ไปเข้าตากับทีมงานสภาวิศวกรที่อยากนำโมเดลสวนสาธารณะฉบับกระเป๋าที่นิยมอย่างมากในโตเกียวเข้ามาปรับใช้ในไทยอยู่แล้ว การสานต่อโครงการจึงเริ่มต้นขึ้น บนพื้นที่ขนาด 72 ตร.ม.

ก่อสร้างภายใต้ความต้องการ

หนึ่งปัญหาที่เกิดขึ้นจากการสร้างสวนสาธารณะแล้วไม่มีคนใช้งานคือ ไม่ได้ทราบถึงความต้องการของชุมชนโดยรอบ โครงการนี้ได้ทีมวิศวกรอาสา สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) โดย สำนักวิจัยนวัตกรรมเมืองอัจฉริยะ (SCiRA) รวมถึงเขตคลองเตย ได้ลงพื้นที่เพื่อสอบถามความต้องการของชุมชนโดยรอบว่าต้องการอะไรในสวนสาธารณะแห่งนี้บ้าง เพื่อให้การ “เปลี่ยนแปลงพื้นที่รกร้าง” เป็น “พื้นที่สาธารณะ” ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เกิดประโยชน์สูงสุด รวมถึงตอบโจทย์ความต้องการของผู้คน

ไม่เน้นใหญ่ แต่เน้นคุณภาพ

ด้วยข้อจำกัดของพื้นที่ในขนาดเพียง 6 x 12 เมตร จึงเป็นเรื่องท้าทายให้กับทีมออกแบบอย่างมาก โดยต้องการเน้นคุณภาพในทุกกระบวนการ จึงนำไปสู่การออกแบบที่มีโครงสร้างสูงโปร่ง มีแสงสว่างส่องทั่วถึง ระบบระบายน้ำที่ดี มีบอร์ดสำหรับติดป้ายกิจกรรมหรือความรู้ต่าง ๆ รวมถึงการปลูกต้นไม้ยืนต้นโดยรอบ เช่น ต้นเตย ต้นโมก ต้นตะไคร้ ที่ให้ทั้งร่มเงาและยังมีกลิ่นที่หอมสะอาด แถมยังสามารถไล่ยุงและป้องกันการเกิดแหล่งเพาะพันธุ์ยุง ซึ่งเป็นภาหะนำโรคอีกด้วย

สำหรับงบประมาณทั้งหมดของ Pocket Park แห่งนี้อยู่ที่ 250,000 บาท ซึ่งได้รับการสนับสนุนจาก บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) และ สจล.

เป็นแรงบันดาลใจให้เด็ก ๆ ในชุมชน

สิ่งหนึ่งที่ตัวผู้เขียนได้ไปสัมผัสกับ Pocket Park แห่งนี้ คือการที่เห็นเด็ก ๆ วิ่งเล่นในพื้นที่ ผู้ใหญ่ในชุมชนมีการสานสัมพันธ์ที่ดีมากขึ้น รวมถึงการทำให้ทุกคนในชุมชนแสดงความเป็นเจ้าของสวนแห่งนี้ จะเห็นได้จากการที่เด็ก ๆ มีการรดน้ำต้นไม้ ต้นหญ้า ไม่เพียงแต่มนุษย์เท่านั้น แม้แต่สัตว์เองก็เข้ามาใช้บริการ Pocket Park แห่งนี้เหมือนกัน

อนาคตของ Pocket Park ในไทย

หลังจากส่งมอบ Pocket Park นำร่องแห่งนี้ให้กับชุมชนคลองเตยแล้ว สภาวิศวกร เตรียมจับมือกับ SCiRA นำต้นแบบแปลนก่อสร้าง Pocket Park ขยายไปติดตั้งตามจุดต่าง ๆ ในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตของคนในกรุงให้ดียิ่งขึ้น โดยชุมชนใดที่สนใจต้นแบบดังกล่าว สามารถติดต่อขอข้อมูล/แบบแปลนได้ที่ สายด่วนสภาวิศวกร 1303 หรือไลน์ไอดี @coethai อย่างไรก็ดี คนไทยทุกคนสามารถร่วมเป็นส่วนหนึ่งของการ “เปลี่ยน-แปลง” พื้นที่รกร้างเป็นพื้นที่สาธารณะได้ที่ เลขที่บัญชี 140-270-922-2 ธนาคารไทยพาณิชย์ ชื่อบัญชี สภาวิศวกร

Editor’s Opinion

การมาถึงของ Pocket Park แห่งนี้ สร้างสิ่งใหม่ ๆ ให้กับชุมชนคลองเตยที่มีอายุกว่า 60 ปี ทั้งในแง่ของการสร้างพื้นที่ธรรมชาติในชุมชนที่อัดแน่นไปด้วยประชากร สร้างพื้นที่พบปะสมาคมของผู้คนในพื้นที่ รวมถึงการให้เด็ก ๆ ในพื้นที่ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้นใน Pocket Park แห่งนี้

จากการสอบถามทีมพัฒนา Pocket Park ก็ได้เติมเต็มกิจกรรมต่าง ๆ ในพื้นที่แห่งนี้เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับผู้คนในชุมชนทุกวัย เช่น การปิดป้ายประกาศให้ความรู้ต่าง ๆ การฉายหนังหรือการ์ตูน การเปิดเวทีแสดงออกให้กับคนที่มีความสามารถในหลาย ๆ ด้าน เช่น ดนตรี ศิลปะ หรือการแสดง เป็นต้น

การมาถึงของ Pocket Park แห่งนี้ อาจะเป็นพื้นที่ที่ลดความเลื่อมล้ำในสังคม อาจเป็นเวทีฉายแสงให้กับเหล่าบรรดาผู้ที่มีพรสวรรค์ในหลาย ๆ ด้าน อาจเป็นพื้นที่การสร้างแรงบันดาลใจให้กับเด็ก ๆ ในชุมชน เป็นพื้นที่ที่สร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่งให้กับน้อง ๆ ก่อนจะก้าวออกจากพื้นที่ที่เรียกว่า Save Zone ของน้อง ๆ

แต่สิ่งเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นไม่ได้หากปราศจากการร่วมสร้างของทีมงาน รวมถึงการดูแลรักษาของผู้คนในชุมชน เมื่อโครงการนำร่องมากถึง การเปลี่ยนแปลงย่อมอาจเกิดขึ้นได้ แต่คงไม่ใช่ในเร็ววัน หากแต่เป็นการต่อสู้กับเวลา เวลาจะเป็นบทพิสูจน์สำคัญ

ตัวผู้เขียนเชื่อเหลือเกินว่า หากโครงการแรกเกิดขึ้น โครงการต่อ ๆ ไปจะเกิดขึ้นตามมา และเราจะได้เห็น Pocket Park ฝุดขึ้นทั่วกรุง รวมถึงขยายไปสู่หลาย ๆ จังหวัดทั่วประเทศไทย การยกระดับคุณภาพชีวิต ไม่ควรเกิดขึ้นแต่ในกรุงเทพฯ หรือเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น แต่ควรเกิดขึ้นกับทุกคน ทุกจังหวัด ทุกภูมิภาค และเมื่อไหร่ที่ผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น เมื่อนั้นคุณภาพของประเทศก็จะดีขึ้นตาม

Previous article“Imperial Kiln Museum” แหล่งวัฒนธรรมแห่งเมืองหลวงเครื่องปั้นดินเผา
Next articleCPAC: Construction Solution มากกว่าดูแลบ้าน อาคาร คือการใส่ใจคุณภาพชีวิต
และการอยู่อาศัยของคนไทย
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ