ธรรมชาติ เป็นสิ่งที่อยู่คู่มนุษย์เรามาเนิ่นนาน สถานที่สวย ๆ มากมายถูกค้นพบ และทำให้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยว ซึ่งหลายครั้งก็ทำลายระบบนิเวศเดิมและสร้างความเสียหายแก่ธรรมชาติไม่น้อยเลยทีเดียว

“Majamaja” คือบ้านพลังงานแสงอาทิตย์เพื่ออนุรักษ์ธรรมชาติที่สร้างจากต้นสนฟินแลนด์ และต้นเบิร์ซเพื่อทำเป็นบ้านสำหรับพักผ่อนซึ่งตั้งอยู่ที่โขดหินที่ยื่นออกมาจากริมทะเลนอกเมืองเฮลซิงกิ และบ้านหลังนี้ได้รับการออกแบบโดยสถาปนิกนามว่า Pekka Littow

สถานที่แห่งนี้ยังเป็นแหล่งของที่พักอาศัยเล็ก ๆ อีก 5 หลัง ซึ่งหนึ่งในนั้นสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว และมีห้องซาวน่าที่เหมาะสำหรับการค้างคืนแบบอนุรักษ์ธรรมชาติอีกด้วย

นอกจากบ้านหลังนี้จะสร้างจากไม้สนท้องถิ่นที่ทาสีดำทั้งหลังแล้ว มันยังไม่ต้องอาศัยพลังงานไฟฟ้าในการใช้งานภายในอีกด้วย เนื่องจากมีการติดแผงโซลาร์ไว้ที่หลังคาเพื่อสร้างพลังงานจากแสงอาทิตย์เป็นของตัวเองไว้แล้ว

บ้านหน้าจั่วเรียบง่ายสามารถเข้าไปได้โดยใช้ระเบียงไม้แคบ ๆ ที่เป็นเหมือนสะพานข้ามโขดหินระหว่างด้านนอกป่าและประตูบ้าน ส่วนประตูอีกบานจะเปิดออกสู่ทะเล โดยหน้าต่างบานใหญ่ภายในบ้านจะทำให้เห็นวิวทิวทัศน์ของรอบนอกได้โดยไม่มีสิ่งกีดขวาง

ภายในประกอบไปด้วยห้องครัวและห้องน้ำที่มีฝักบัว เฟอร์นิเจอร์ที่พับลงได้จากผนังจะช่วยประหยัดพื้นที่เพื่อทำให้พื้นที่ภายในบ้านกลายเป็นการติดตั้งที่มินิมัลที่สุด นอกจากนี้ประตูจากไม้เบิร์ซยังช่วยซ่อนส่วนที่เป็นครัวออกจากสายตาได้อีกด้วย

นอกจากจะมีแผงโซลาร์สำหรับสร้างพลังงานแล้ว บ้านหลังนี้ยังมีระบบน้ำปิด (Closed-loop water system) ที่จะช่วยลดการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลืองจากฝักบัวและอ่างล้างหน้าให้ได้มากที่สุด

“เป้าหมายของ Majamaja คือเพื่อแสดงให้เห็นว่าสถาปัตยกรรมขนาดเล็กที่ผสมผสานกับระบบที่อนุรักษ์ธรรมชาตินั้นสามารถชดเชยการใช้พลังงานขนาดใหญ่และระบบที่ใช้พลังงานไฟฟ้ารวมศูนย์ได้” Pekka Littow กล่าวMajamaja ทำให้ผู้อยู่อาศัยสามารถตัดขาดจากกิจวัตรประจำวันและให้ประสบการณ์การอยู่อาศัยแบบอนุรักษ์ธรรมชาติเชิงการศึกษา แถมมันยังไม่ได้ไกลจากตัวเมืองมากนัก” เนื่องจากว่ามันตั้งอยู่ที่ Vuorilahdenniemi ซึ่งใช้เวลาขับรถจากเมืองหลวงของฟินแลนด์เพียงแค่ 30 นาทีเท่านั้น

เฮลซิงกิตั้งอยู่บนคาบสมุทรซึ่งล้อมรอบด้วยทะเลทั้ง 3 ด้าน และมีเกาะทั้งหมด 330 เกาะในหมู่เกาะนั้น โดย Majamaja คือส่วนหนึ่งของ City of Helsinki’s Maritime Strategy 2030 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อลงทุนเพื่อสร้างให้เกาะดึงดูดนักท่องเที่ยวในขณะเดียวกันก็ได้อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปด้วย

ในอนาคต เราคงได้เห็นการออกแบบสถานที่ท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์แบบนี้อีกมากมาย ซึ่งแน่นอนว่าไม่ใช่แค่เพียงนักอนุรักษ์เท่านั้นที่มีบทบาทสำคัญ ทว่าสถาปนิกผู้ออกแบบ รวมไปถึงหลากหลายภาคส่วนก็เป็นส่วนสำคัญในการผลักดันสิ่งเหล่านั้นให้เกิดขึ้นจริงได้

 

 

อ้างอิงข้อมูลจาก

https://www.dezeen.com/2020/12/15/majamaja-off-grid-cabin-helsinki-finland-architecture/?fbclid=IwAR2npLKa8rq90XcSUEzk6A6l625MbNcGrFJLm9FmHaq8gTMN4FYVLgo7gSQ

Previous articleส่องสถาปัตยกรรมเมืองน่าเที่ยวในวันคริสต์มาส ที่สุดแห่งความมีเอกลักษณ์
Next article“Meditation Chambers” ห้องไฟหลากสี แหล่งสร้างสมาธิของเหล่าคนทำงาน
Porntiwa
สาวรัฐศาสตร์หน้าใส หัวใจรักการเขียน ผู้ผันตัวจากสายการเมือง มุ่งหน้าสู่สถาปัตยกรรมเต็มตัว