ทางหลวงเล็งเบิกงบ 420 ล้านบาท รังสรรค์ “ทางลอดหน้า ม. พะเยา” ยกเลิกไฟแดง ลดปัญหารถติด หากไฟเขียว สร้างต้นปี 65 คาดเสร็จสิ้นในปี 68 เปิดฟังก์ชัน อุโมงค์ 4 ช่อง กว้าง 3.5 เมตร มาพร้อมวงเวียนในรถเคลื่อนลื่น ๆ

กรมทางหลวง (ทล.) ได้เสนอของบประมาณปี 65 จำนวน 420 ล้านบาท  เพื่อก่อสร้างโครงการทางแยกต่างระดับจุดตัดทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) กับทางเข้ามหาวิทยาลัยพะเยา (ม.พะเยา) คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างได้ประมาณต้นปี 2565  แล้วเสร็จประมาณปี 2568

โดยโครงการดังกล่าวอยู่บนถนนพหลโยธิน ที่กม. 822+500 พื้นที่ ต.แม่กา อ.เมือง จ.พะเยา ที่ตั้งของมหาวิทยาลัยพะเยา ศูนย์การแพทย์ และรพ.มหาวิทยาลัยพะเยา โดยดำเนินการออกแบบเป็นทางลอดขนาด 4 ช่องจราจรไปกลับบนทางสายหลักและปรับปรุงทางคู่ขนานแบบ 2 ทิศทาง ทั้ง 2 ฝั่งของถนน ความกว้างช่องจราจร ช่องละ 3.50 เมตร ไหล่ทางกว้างข้างละ 2.50 เมตร พร้อมทางเท้าและระบบระบายน้ำใต้ทางเท้า แบ่งทิศทางการจราจรด้วยแบริเออร์คอนกรีต ความยาวทางลอด 760 เมตร พร้อมปรับปรุงขยายช่องจราจรให้สัมพันธ์กับทางลอดเพื่อให้เกิดความปลอดภัย

สำหรับการเชื่อมต่อระหว่างทางเข้าหน้ามหาวิทยาลัยและชุมชนฝั่งตรงข้ามจะใช้วงเวียนในการเปลี่ยนทิศทางการจราจร เพื่อระบายรถเข้าสู่ถนนคู่ขนาน ออกแบบวงเวียนขนาด 1 ช่องจราจร กว้าง 4 เมตร ไหล่ทางด้านในกว้าง 1 เมตร ไหล่ทางด้านนอกกว้าง 2 เมตร รวมความกว้าง 7 เมตร พร้อมทั้งปรับปรุงทางคู่ขนานทั้ง 2 ฝั่งตลอดแนวทางลอดให้รถวิ่งสวนทางกันได้ เพื่อเชื่อมต่อระหว่างทางเข้าหน้ามหาวิทยาลัยและชุมชนฝั่งตรงข้ามให้ระบบวงเวียนเปลี่ยนทิศทางการจราจรและระบายรถเข้าสู่ถนนคู่ขนานทำให้การจราจรทั้งสองฝั่งเดินทางถึงกันได้อย่างปลอดภัย

จากการสอบถามคนในพื้นที่ บริเวณทางเข้ามหาวิทยาลัยพะเยาเป็นทางแยกสัญญาณไฟจราจร ตัดกับทางหลวงหมายเลข 1 เป็นจุดที่เกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง และการจราจรหนาแน่น เนื่องจากถนนพหลโยธินเป็นเส้นทางหลักในการขนส่งสินค้า จึงต้องมีการปรับปรุงเส้นทางใหม่เพื่อแก้ปัญหาการจราจรที่หนาแน่นในอนาคต

ทางลอดหน้า ม. พะเยา นี้ จะแก้ไขปัญหาด้านการจราจรปัจจุบันและสอดคล้องกับแผนพัฒนาโครงข่ายทางหลวงในอนาคต ยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางของประชาชน ลดการเกิดอุบัติเหตุ ทำให้การสัญจรมีความคล่องตัว ลดผลกระทบต่อชุมชน รวมทั้งเป็นประโยชน์ต่อการคมนาคมขนส่งโดยรวม

Previous articleเปิดการตกแต่ง 5 คาเฟ่และร้านอาหารสไตล์ Industrial Loft สุดชิลล์
Next article“Sindhorn Kempinski” โรงแรมลูกคลื่นแห่งใจกลางเมือง ผลงานการออกแบบของ
PLAN Architect
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ