กภายหลังจากมีราชกิจจาฯ ประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินใน 10 จังหวัดพื้นที่สีแดงเข้ม ได้แก่ กรุงเทพมหานคร ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสาคร สมุทรปราการ นครปฐม สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ให้ปิดแคมป์คนงานก่อสร้าง งดการเดินทางและเคลื่อนย้ายแรงงานเป็นเวลา 1 เดือน ล่าสุดรัฐบาลได้เตรียมงบประมาณจากเงินกู้ และเงินจากกองทุนประกันสังคมรวมแล้วประมาณ 7.5 พันล้านบาท

Fast Fact

  • 896 แห่ง เป็นตัวเลขของจำนวนแคมป์คนงานในกรุงเทพฯ และปริมณฑล (กทม. 575, นนทบุรี 140, สมุทรปราการ 32 แห่ง)
  • 83,375 คน จำนวนคนงานในแคมป์ก่อสร้างทั่วกรุงเทพฯ
  • 3-5 ล้านคน จำนวนคนงานในแคมป์ก่อสร้างทั่วประเทศ
  • กว่า 697,000 คน จำนวนแรงงานใน 6 จังหวัด
  • 7.5 พันล้านบาท งบประมาณจากเงินกู้และประกันสังคม ที่เยียวยาผู้ประกอบการ-แรงงาน 6 จังหวัด

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน แถลงผลการหารือร่วมกับสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ กระทรวงแรงงานจะชดเชยเยียวยาพี่น้องแรงงานจากเหตุสุดวิสัย 50% ของค่าจ้าง แม้ต้องหยุดงาน แต่กระทรวงแรงงานจะถือเงินสดไปจ่ายให้ที่แคมป์คนงานทุก 5 วัน ส่วนเรื่องอาหารการกินอยู่เจ้าของกิจการจะดำเนินการเอง และรัฐดูแลบางส่วน

รมว. แรงงานคาดว่าจะมีการจ่ายค่าแรงชดเชยงวดแรกในวันที่ 6 ก.ค.นี้

“ขอความร่วมมือในการควบคุมคนงานให้อยู่กับแคมป์ที่พักอยู่กับที่ สำหรับอาหาร เจ้าของกิจการจะดำเนินการดูแลพนักงานและลูกจ้างเอง โดยกระทรวงแรงงานและรัฐบาลเองก็มีบางส่วนที่จะช่วยได้ แต่ก็ไม่ได้มากมายเท่ากับนายจ้างดูแลลูกจ้างอยู่แล้ว” สุชาติ กล่าว

รมว.แรงงาน ยืนยันว่า ข่าวที่มีแรงงานทยอยออกจากแคมป์นั้น “เป็นส่วนน้อย” ส่วนการหยุดงาน 1 เดือนที่ ผู้ประกอบการต้องขยายสัญญา เป็นสิ่งที่กระทรวงแรงงานจะประสานต่อไป

ความกังวลจากสมาคมอุตสาหกรรมก่อสร้างไทยฯ กับแรงงานไร้ประกันสังคม

รมว.แรงงาน ได้อ้างคำตอบจากเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (ปกส.) ที่ระบุว่า แรงงานส่วนนี้ที่ไม่มีประกันสังคม เป็นส่วนน้อยเท่านั้น

นายสุชาติระบุว่า แรงงานที่ไม่มีประกันสังคม “ทางผู้ประกอบการต้องช่วยแบ่งเบาตรงนี้ไป” หากมีการนำเข้าระบบประกันสังคม อาจต้องมีการเสียค่าปรับบางส่วนและจ่ายสมทบย้อนหลัง สำหรับรายละเอียดให้ ผอ.เขตประกันสังคมประสานงานกับทางผู้ประกอบการ “ถ้ามีไม่เยอะผู้ประกอบการยินดีช่วยเหลือ” รมว. แรงงานกล่าว

มาตรการเชิงรุก ประเมินทุก 15 วัน วัคซีนคือทางออก

ช่วงระยะเวลาปิด 1 เดือน จะให้มีการแต่ประเมินครั้งละ 15 วัน เพื่อให้ข้อมูลกับ ศบค. ว่าในบางแคมป์ ถ้าคนงานได้วัคซีนเพียงพอปลอดภัยแล้วจะสามารถยื่นขออนุญาตปลดล็อกให้เปิดได้

“จะทำเรื่องเสนอ ศบค. ปลดล็อกเป็นบางแคมป์ แต่เป้าหมาย 1 เดือน นายกรัฐมนตรีมองว่าเป็นกรอบระยะเวลา และจะหารือทุก 15 วัน”

อาฟเตอร์ช็อก สู่โครงการก่อสร้างทั้งเล็กและใหญ่ ทางด่วน-มอเตอร์เวย์-รถไฟฟ้า

สุรเชษฐ์ เหล่าพูลสุข ผู้ว่าการการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) ระบุว่า โครงการก่อสร้างของ กทพ. ได้รับผลกระทบเต็ม ๆ 2 โครงการ คือ
1. โครงการก่อสร้างทางด่วนสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกด้านตะวันตก สัญญาที่ 2 (งานโยธา) ช่วงตั้งแต่เซ็นทรัลพระราม 2 ถึงโรงพยาบาลบางปะกอก 9 ที่มีกลุ่มบริษัท ไชน่าฮาร์เบอร์-ทิพากร-บุรีรัมย์ธงชัย เป็นผู้ก่อสร้าง ที่ขณะนี้มีการก่อสร้างคืบหน้าไปเพียง 20% เท่านั้น และสัญญาที่ 4 งานสะพานขึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ก่อสร้างโดย กลุ่มบริษัท ช.การช่าง นั้นมีความคืบหน้าไปเพียง 40%
2. โครงการก่อสร้างสำนักงานใหญ่ แห่งใหม่ของ กทพ. บริเวณพระราม 9 ซึ่งงานในส่วนนี้มีการก่อสร้างไปแล้วกว่า 99.99% และเนื้องานที่เหลือจะเป็นการเก็บงาน จึงไม่กระทบมากนัก

เมื่อประเมินผลกระทบภาพรวมหากต้องหยุด 30 วัน หลัก ๆ จะกระทบในเรื่องของระยะเวลาสัญญาจ้างกับผู้ดำเนินการ ซึ่งต้องมาดูว่าจะเร่งรัดอย่างไรได้บ้าง หลังหยุดก่อสร้างไป 30 วัน เพื่อไม่ให้มีผลต่อระยะเวลาสัญญา และจะพยายามเร่งรัดงานเพื่อไม่ต้องขยายเวลาการก่อสร้างต่อ หากกระทบจริง ๆ ทาง กทพ.ต้องเตรียมมาตรการเยียวยาไว้รองรับ และเสนอกระทรวงคมนาคมต่อไป

กิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าการ (วิศวกรรมและก่อสร้าง) การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) เผยว่า ในส่วนของโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าทั้ง 3 โครงการ ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย – มีนบุรี, โครงการรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วง แคราย – มีนบุรี และโครงการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง ช่วงลาดพร้าว – สำโรง มีความคืบหน้างานโยธาเกือบร้อยละ 80 ปัจจุบันอยู่ในช่วงงานตกแต่ง งานสถาปัตย์และงานติดตั้งระบบไฟฟ้าเครื่องกล

หลังประกาศปิดแคมป์คนงาน รฟม. ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษาฯ กำชับผู้รับจ้างก่อสร้างทุกโครงการ ให้ปฏิบัติตามข้อกำหนดและประกาศของภาครัฐ ในกลุ่มแรงงานก่อสร้างในเขตพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งเร่งประเมินสถานการณ์และผลกระทบต่าง ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในภาพรวม รวมถึงดำเนินการปรับแผนงานให้สอดคล้องกับสถานการณ์ และมีผลกระทบต่อระยะเวลาตามสัญญาให้น้อยที่สุด

ความเห็นสภาหอการค้าฯ “ปิดแคมป์ 30 วัน กระทบ 4 หมื่นล้าน”

อิสระ บุญยัง ประธานคณะกรรมการอสังหาริมทรัพย์ออกแบบและก่อสร้าง สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ระบุ มาตรการนี้ส่งผลกระทบมากกว่าที่คิด”

ผลของคำสั่งดังกล่าว ครอบคลุมไปถึงแคมป์คนงานก่อสร้างในโครงการบ้านจัดสรรหรือโครงการแนวราบด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ไม่พบปัญหาคลัสเตอร์โควิด เพราะการพักอาศัยในแคมป์มีพื้นที่กว้างกว่า ทำให้อยู่กันแบบหลวม ๆ และจำนวนคนงานก็น้อยกว่า ไม่เหมือนแคมป์คอนโดมิเนียมที่มีจำนวนคนงานเยอะกว่า”

จำนวนของแคมป์คนงานก่อสร้าง ยังไม่ชัดเจนนัก เนื่องจากไม่มีตัวเลขภาพรวมเพราะเอกชนไม่เคยเก็บสถิติไว้ แต่จากจำนวนของโครงการที่เปิดขึ้นมา คาดว่าไม่ต่ำกว่า 1,000 แคมป์ขึ้นไป

“ถามว่ามูลค่าการก่อสร้างมีเท่าไหร่ คำนวณเร็ว ๆ เปรียบเทียบกับมูลค่าตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศไทยเฉลี่ยปีละ 6-7 แสนล้านบาท อยู่ในเขตกรุงเทพ-ปริมณฑลสัดส่วน 70% เท่ากับเป็นมูลค่าปีละ 4-5 แสนล้านบาท ถ้าหากต้องหยุดก่อสร้างแบบกระทันหันนานถึง 1 เดือน ผลกระทบน่าจะมีมูลค่าตกเดือนละ 3.5-4 หมื่นล้านบาท ที่สำคัญ ตัวเลขนี้ยังไม่รวมมูลค่าการใช้วัสดุ งานตกแต่ง และการก่อสร้างงานภาครัฐที่มีการก่อสร้างถนน ทางด่วน รถไฟฟ้า ซึ่งหากนำมารวม ผลกระทบน่าจะมากกว่านี้อีกมหาศาล” อิสระกล่าว

อาจารย์วิศวกรรม เตือน! ปิดแคมป์กะทันหัน หวั่นโศกนาฏกรรม

รศ.ดร.สุทธิศักดิ์ ศรลัมพ์ อาจารย์สาขาวิศวกรรมปฐพี คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้ออกมาเตือนเรื่องนี้ว่า “งานขุดระดับลึกลงไปตั้งเเต่ 5 เมตรจนบางที่ถึง 30 เมตร ในพื้นที่กรุงเทพฯ เป็นงานที่ยากเเละอันตรายระดับต้น ๆ ในงานด้านโยธาในโลกนี้ เพราะพื้นดินกรุงเทพฯ เป็นดินอ่อน เเถมปัจจุบันตั้งเเต่เราหยุดใช้น้ำบาดาล น้ำใต้ดินใน กทม. ก็ยกระดับสูงขึ้นมากจึงต้องการการควบคุมน้ำใต้ดินตลอดเวลา เเละต้องมีโครงสร้างกันดินทั้งชั่วคราวเเละถาวรที่เเข็งเเรง รวมถึงต้องทำการตรวจวัดการเคลื่อนตัว ฯลฯ เพื่อปรับมาตราการความปลอดภัยระหว่างก่อสร้าง

ความอันตรายที่สุดคือ ช่วงที่ขุดถึงระดับลึกสุด ที่เเรงดันดินเเละเเรงดันน้ำมหาศาลสามารถจะทะลุก้นบ่อขุดขึ้นมาเเล้วทำลายทุกสิ่งอย่างจนค้ำยันต่าง ๆ พังลงเเล้วทำให้บ่อขุดยุบพัง ส่งผลให้บ้านข้างเคียงได้รับผลกระทบ

ในสภาวะการก่อสร้างปกติ ความอันตรายดังกล่าวได้ถูกควบคุมด้วยวิศวกร ทำให้ปลอดภัย โดยการสูบน้ำใต้ดินหรือการรีบเทคอนกรีตพื้นล่างสุดเมื่อขุดถึงระดับลึกสุด (base slab) เเละเราก็ไม่เคยได้ยินข่าวที่รุนเเรงดังกล่าวใน กทม. มากนัก เเต่ในสถานะการณ์ที่งานขุดกำลังลงไปในระดับลึกเเละอันตราย เเต่ไซต์งานต้องถูกปิดอย่างกะทันหัน ทำให้ไม่มีใครที่จะทำการป้องกันอันตรายดังกล่าว โดยเฉพาอย่างยิ่งไซต์งานที่กำลังขุดในระดับลึกสุดเเละยังไม่ได้เท base slab ประเด็นนี้อันตรายยิ่งนัก

อยากขอเสนอให้ ศบค. ออกประกาศเพิ่มเติมเกี่ยวกับการหยุดไซต์งานให้มีข้อยกเว้นด้านเวลาสำหรับไซต์ที่ต้องการเวลาในการจัดการด้านความปลอดภัยต่างๆ จริงๆ ไม่ใช่เเค่งานขุดที่ผมว่า เเต่เรื่องอื่นเช่น อัคคีภัย สารเคมี ฯลฯ โดยน่าจะมีช่วงเวลาหรือให้ทางไซต์ทำเเผนด้านความปลอดภัยสาธารณะเผื่อให้เวลาเพิ่มเติมเพื่อจัดการเรื่องความปลอดภัยดังกล่าว ก่อนจะปิดยาวๆ เพราะถ้าปล่อยให้เกิดเหตุขึ้น ใครจะรับผิดชอบ ถ้าไม่ใช่ผู้ประกอบการเอง”

หุ้น “รับเหมา” ร่วงยกแผง กดกำไรกลุ่มวัสดุฯ 510%

ความเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในกลุ่มรับเหมาก่อสร้างเช้าวันนี้ (28 มิถุนายน) ได้ปรับลดลงจากผลกระทบการปิดแคมป์อย่างเห็นได้ชัด

  • CK ซื้อขายที่ 18.90 บาท ลดลง -3.08%
  • STEC ซื้อขายที่ 13.60 บาท ลดลง -2.16%
  • SEAFCO ซื้อขายที่ 4.56 บาท ลดลง -3.80
  • PYLON ซื้อขายที่ 4.40 บาท ลดลง -2.22%
  • RT ซื้อขายที่ 2.46 บาท ลดลง -2.38%

และจะกดดันกำไรผู้ประกอบการกลุ่มรับเหมาก่อสร้างและวัสดุก่อสร้างราว 5-12% ต่อเดือน เนื่องจากผู้ประกอบการยังต้องแบกรับต้นทุนแรงงานอยู่ และการที่ต้องปิดแคมป์คนงานและไซต์ก่อสร้างทำให้ไม่สามารถส่งมอบงานได้ การรับรู้รายได้จึงไม่เกิดขึ้น

บทวิเคราะห์ บล.เคทีบีเอสที ระบุว่า มีมุมมองเป็นลบต่อกลุ่ม Construction Services โดยประเมินเบื้องต้น จะกระทบประมาณการกำไรสุทธิปี 2564 โดยเรียงลำดับจากมากไปน้อย ได้แก่ SEAFCO -8%, CK -6%, PYLON -6%, STEC -4%, และ RT -2% เนื่องจาก SEAFCO, CK, และ PYLON ปัจจุบันมีสัดส่วน Backlog ในพื้นที่ดังกล่าวมากกว่า 90% ขณะที่ STEC มีราว 50% และ RT เพียง 25%

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายวิจัยคาดว่าภาครัฐจะมีมาตรการเยียวยาชดเชย เช่น การชดเชยแรงงาน รวมถึงการขยายเวลาการก่อสร้างในภายหลัง ขณะที่เรามองว่าการหยุดงานก่อสร้างเป็นปัจจัยชั่วคราวและเป็นเพียงการเลื่อนรับรู้รายได้ และคาดว่าสถานการณ์โควิด-19 จะทยอยคลี่คลายขึ้นในครึ่งปีหลัง 2564 ตามการเร่งฉีดวัคซีนในประเทศโดยเฉพาะในกลุ่มเสี่ยง โดยคาดว่าปัจจัยดังกล่าวจะเป็น Sentiment เชิงลบต่อราคาหุ้นในระยะสั้น

สถานการณ์นี้ยังคงต้องดูกันต่อไปว่ายอดผู้ติดเชื้อจากการปิดแคมป์จะเพิ่มขึ้นหรือลดลง ผลกระทบข้างต้นที่กล่าวมาจะส่งผลอย่างไรต่อไปกับทิศทางวงการก่อสร้างไทยรวมถึงอสังหาริมทรัพย์ด้วย หากมีการปิดเพิ่มไปอีกจะสร้างความเสียหายไปอีกเท่าไหร่ คงต้องติดตามกันต่อไป

 

ที่มา: ไทยรัฐ, BBC, The Standard, มติชน

Previous article“Ari House” บ้านสีขาวบริสุทธิ์
ตัวแทนของความโอบอ้อมอารี ที่เน้นดีไซน์
เรียบง่าย บรรยากาศอบอุ่น
Next article“Energy Transparent Glass” กระจกใสพลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมที่นักออกแบบควรจับตามอง
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ