CHINDAMANEE SCHOOL
ENGLISH PROGRAM
WORLDCLASS EDUCATION CENTER
โรงเรียนถือเป็นจุดเริ่มต้น เป็นสถานที่แห่งการเรียนรู้ ทั้งในแง่วิชาการและประสบการณ์ชีวิต ดังนั้นการออกแบบพื้นที่ใช้สอยสำหรับเด็กเล็ก จึงต้องคำนึงถึงสัดส่วนของขนาดร่างกาย การสร้างบรรยากาศภายในพื้นที่นั้น ๆ เพื่อให้เกิดพัฒนาการและการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับช่วงวัย อีกทั้งควรจะช่วยส่งเสริมจินตนาการและการเรียนรู้อย่างมีศักยภาพ พร้อมกับการเรียนรู้เทคโนโลยีอันทันสมัยเช่นเดียวกัน
โรงเรียนจินดามณี เป็นหนึ่งโรงเรียนในเครือของบริษัท Marmara ซึ่งนอกเหนือจากนี้ยังมีโรงเรียนอื่น ๆ อีกด้วย ได้แก่ โรงเรียน Siriwat Wittaya Bilingual School บนถนนสายไหม กรุงเทพฯ, Pan Asia International School ในเขตประเวศ กรุงเทพฯ และ Wichai Wittaya Bilingual School ในจังหวัดเชียงใหม่
ด้วยปณิธานอันมุ่งมั่นของผู้บริหารที่ต้องการจะให้โรงเรียนในเครือนั้นเป็นผู้นำทางด้านมาตรฐานการศึกษาอย่างแท้จริง ทางโรงเรียนจึงมุ่งเน้นไปที่การให้นักเรียนเป็นศูนย์กลางในการเรียนรู้ ไม่ว่าจะเป็นคณะครูผู้สอนที่ได้รับการฝึกฝนมาเป็นอย่างดีทั้งเรื่องของความรู้ความสามารถด้านภาษาไทยและภาษาอังกฤษ การถ่ายทอดองค์ความรู้ทางวิชาการ การช่วยให้นักเรียนมีพัฒนาการทางด้านร่างกายที่สมบูรณ์ และการพัฒนาทางด้านอารมณ์รวมไปถึงการปลูกฝังคุณธรรมและจริยธรรมให้กับนักเรียน ทั้งนี้ทางโรงเรียนยังให้ความสำคัญในเรื่องเทคโนโลยีของสื่อการเรียนการสอนที่ทันสมัยอีกด้วย เช่น Smart Board และ Star Fall เพื่อช่วยในการเรียนรู้และเพื่อให้นักเรียนได้แสดงศักยภาพของตัวเองออกมาได้อย่างเต็มที่ที่สุด
โดยการออกแบบโรงเรียนจินดามณีนั้น เน้นให้มีพื้นที่ที่มีลักษณะเฉพาะสำหรับเด็กเพื่อส่งเสริมการใช้งานทางด้านกายภาพ และให้มีพื้นการเรียนรู้ที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดสำหรับนักเรียนทั้งบรรยากาศภายในห้องเรียนและห้องกิจกรรมต่าง ๆ รวมไปถึงบรรยากาศโดยรวม โดยมุ่งเน้นให้ส่งเสริมจินตนาการและการเรียนรู้ที่มีศักยภาพร่วมกับเทคโนโลยีอันทันสมัย เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่แตกต่างของนักเรียนแต่ละบุคคลอย่างแท้จริง
ด้วยลักษณะของอาคารรูปทรงตัว U ที่สูง 5 ชั้น ก่อให้เกิดความรู้สึกโอบล้อมและปลอดภัย โดยมีลานกิจกรรมอยู่ตรงกลางของโรงเรียนเพื่อความสะดวกในการใช้สอย และคุณครูสามารถจะดูแลนักเรียนได้อย่างทั่วถึง นอกเหนือจากส่วนของห้องเรียนและพื้นที่กิจกรรมในการเรียนรู้แล้ว ทางผู้ออกแบบยังคำนึงถึงพื้นที่ในส่วนพักผ่อนของคณะครูอาจารย์ รวมทั้งผู้ที่มาติดต่ออีกด้วย
CONCEPT DESIGN
โรงเรียนจินดามณีมีแนวคิดการออกแบบที่สำคัญคือ ใช้หลักการออกแบบที่ให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง (Human Centered Design) ซึ่งเน้นที่ความต้องการของเด็กนักเรียนเป็นปัจจัยหลัก โดยแบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ ความต้องการทางกายภาพและความต้องการทางอารมณ์หรือความรู้สึก เพื่อที่จะตอบสนองความต้องการนี้ จึงมีการการออกแบบที่ส่งเสริมให้เกิดกระบวนการเรียนรู้ที่ดี (Cognitive effectiveness) อันประกอบด้วย
1) ส่งเสริมการเกิดปฎิสัมพันธ์ทางสังคมระหว่างผู้ใช้งาน (Social Support) กิจกรรมที่จะเกิดขึ้นรวมถึงจำนวนของนักเรียนในแต่ละห้องเรียนนั้นจะมีผลโดยตรงกับการออกแบบพื้นที่การใช้งาน ซึ่งจะมีลักษณะที่แตกต่างกันไป เช่น ในห้องศิลปะจะถูกออกแบบให้จัดวางด้วยโต๊ะยาวแทนที่จะแยกโต๊ะเป็นแต่ละตัว เพราะขนาดของงานศิลปะนั้นไม่มีขนาดจำกัด หรือในห้องวิทยาศาสตร์จะต้องมีพื้นที่สำหรับทำการทดลอง ทั้งแบบเดี่ยวและแบบกลุ่ม ซึ่งนักเรียนแต่ละคนต้องได้รับการดูแลจากครูอย่างทั่วถึง หรือต้องมีพื้นที่สำหรับวางอุปกรณ์ที่สะดวกในการใช้งาน และต้องมีความปลอดภัยกับเด็กนักเรียนด้วย
2) งานออกแบบที่ก่อให้เกิดความพึงพอใจทางความรู้สึก (Emotional Functioning) ที่เน้นในเรื่องของโทนสีที่น่าสนใจเป็นหลัก โดยสีในโทนสดใสนั้นจะส่งผลให้ช่วยกระตุ้นกระบวนการเรียนรู้ได้อย่างดี
3) สามารถตอบสนองต่อความต้องการทางกายภาพ (Physical Function) เพื่อให้สะดวกและปลอดภัยต่อการใช้งานในสเกลสำหรับเด็ก หรือสัดส่วนร่างกายของเด็กนั้นมีผลมากที่สุดต่อโครงการประเภทนี้ ทั้งการออกแบบเฟอร์นิเจอร์ในห้องเรียน และโถสุขภัณฑ์สำหรับเด็ก ซึ่งต้องมีการกำหนดขนาดและพิจารณาเลือกสรรค์อย่างถี่ถ้วน สำหรับโครงการนี้ได้เลือกใช้สุขภัณฑ์คอตโต้ รุ่นกุ๊กไก่ ไฮยีน เป็นต้น
ภายในหอพักอาศัย
ข้อมูลโครงการ
ชื่อโครงการ: Chindamanee English Program School
ที่ตั้ง: เขตจอมทอง กทม.
พื้นที่ใช้สอย 10,000 ตารางเมตร
ก่อสร้างแล้วเสร็จเมื่อปี: 2015
เจ้าของโครงการ: Marmara
สถาปนิก: Takawa Design and Construction Co.,Ltd.
Project Architect: คุณสมัคร สุทธิผุย
วิศวกรโครงสร้าง: คุณชัยพฤกษ์ เสถียรศักดิ์พงศ์
วิศวกรงานระบบ: คุณภาคภูมิ สิเณหรุณ
ผู้รับเหมาก่อสร้างบริษัท: Takawa Design and Construction Co.,Ltd.
แหล่งรูปภาพ: Takawa Design and Construction Co.,Ltd.
ห้องโถงกลาง
ห้องทานอาหาร
โถงทางเดิน
นิตยสาร Builder Vol.31 MAY 2016