ปัจจุบันการเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศโลก ทำให้เกิดภัยพิบัติต่าง ๆ มากมายจนได้กลายเป็นเรื่องใกล้ตัวของมนุษย์และนับวันจะทวีความรุนแรงยิ่งขึ้น ซึ่งได้สร้างความเสียหายทั้งต่อชีวิตและที่อยู่อาศัย จนกลายเป็นปัญหาที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้เลยว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไร
วันนี้ BuilderNews มีเทคนิคการวางแผนก่อนออกแบบบ้าน เพื่อรับมือและป้องกันให้บ้านรับความเสียหายจากภัยพิบัติจากธรรมชาติให้น้อยที่สุด
พื้นดินที่ตั้ง
ควรหลีกเลี่ยงการสร้างบ้านบริเวณพื้นที่หินกรวด ทราย และดินเหลว ควรเลือกพื้นที่ชั้นหินแข็งแรงหรือชั้นดินที่มีความหนาแน่น โดยลองสำรวจด้วยตาเปล่าก่อนในขั้นแรกหรือเพื่อให้แน่ใจควรให้วิศวกรเจาะสำรวจอีกครั้ง
นอกจากนี้ควรหลีกเลี่ยงการสร้างบ้านบนหรือใต้เนินหินที่มีโอกาสถล่มลงมาได้ รวมถึงต้นไม้ใหญ่ที่สามารถล้มลงมาทับบ้านเมื่อเกิดลมพายุและควรเว้นระยะบ้านให้ห่างจากต้นไม้ใหญ่
ส่วนยอดและส่วนต่ำสุดนั้นอันตราย
ตามหลักการวิทยาศาสตร์ ลมพายุจะมีกำลังแรงที่สุด เมื่อพัดผ่านบริเวณยอดเขา ยอดเนินหรือที่ราบซึ่งเป็นหุบเขาต่ำลงไป จึงไม่ควรออกแบบบ้านให้อยู่ในบริเวณพื้นที่แบบนี้
หลังคาเบา
บ้านที่มีการออกแบบหลังคาหรือส่วนบนของบ้านให้มีโครงที่หนักเกินไป ไม่ว่าจะด้วยวัสดุที่ใช้ทำหรือการมีสิ่งของอยู่มากบริเวณหลังคา เมื่อเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวหลังคามีโครงจะเกิดการถล่มลงมามากกว่าอาคารที่มีหลังคาน้ำหนักเบา ดังนั้นควรเลือกใช้วัสดุที่มีความยืดหยุ่น เช่นไม้หรือเหล็กที่สามารถช่วยเพิ่มความแข็งแรงมากขึ้นด้วย
หลายวัสดุหลายรอยต่อ
การออกแบบผนังของบ้านหรืออาคาร ไม่ควรประกอบด้วยวัสดุที่หลากหลายมากเกินไป เพราะจะทำให้มีรอยต่อมากมาย จนกลายเป็นจุดที่อ่อนแอที่สุดของบ้านและมีโอกาสเสี่ยงที่จะเสียหายได้ก่อนส่วนอื่น ๆ ควรเลือกใช้วัสดุทำผนังเพียงชนิดเดียวและต้องมีความยืดหยุ่นสูง
สำรวจระดับน้ำที่เคยท่วมถึง
ควรออกแบบหรือสร้างบ้าน ให้สูงขึ้นจากระดับน้ำเดิมที่เคยท่วมถึง โดยยกตัวบ้านตั้งอยู่บนเสาเข็มหรือกำแพงกันดินที่มีความแข็งแรง อาจเสริมโครงสร้างทแยงเพื่อรัดโครงสร้างของบ้านให้แข็งแรงขึ้น
รูปทรงอาคารที่ปลอดภัย
รูปทรงอาคารที่ปลอดภัยที่สุด เมื่อเกิดลมพายุคือรูปทรงสี่เหลี่ยมขนาดเล็กและอาคารที่มีขนาดใหญ่หรือทอดตัวยาวเป็นรูปตัวแอล โดยไม่แยกอาคารออกจากกันก็จะมีความเสี่ยงที่จะเกิดความเสียหายมากกว่า
ทรงหลังคา
ควรออกแบบหลังคาทรงปั้นหยาหรือทรงหลังคาที่มีความลาดเอียงทั้งสี่ด้าน เป็นทรงหลังคาที่มีความปลอดภัยจากลมพายุมากกว่าทรงจั่ว ทรงหมาแหงน และหลังคาแบนราบระหว่างช่องเปิดเหนือผนังและไม่ควรออกแบบช่องลมที่ลมสามารถพัดผ่านได้ที่บริเวณระหว่างเหนือผนังกับใต้หลังคา เนื่องจากลมจะสามารถพัดผ่านและพัดเอาหลังคาหลุดลอยไปได้ แต่ทว่าหากต้องการช่องเปิดลม ควรพิจารณาตำแหน่งที่ต่ำลงมาประมาณ 1 เมตร
หลีกเลี่ยงกระจก
ควรออกแบบบ้านโดยหลีกเลี่ยงการใช้วัสดุกระจกมาทำเป็นประตูและหน้าต่าง ควรเลือกใช้ไม้ อะลูมิเนียม เหล็ก หรือพลาสติกแทน แต่ทว่าหากต้องการใช้กระจก ควรเป็นกระจกนิรภัยเพราะเมื่อแตกแล้วจะแตกละเอียดเป็นเม็ดเล็ก ๆ หรือเลือกกระจกลามิเนตที่มีฟิล์มสอดอยู่ตรงกลาง เวลาแตกก็จะไม่หล่นลงมา เพราะมีฟิล์มป้องกันอยู่
แยกกันสาดออกจากหลังคา
ควรออกแบบบ้านโดยไม่ควรให้มีส่วนใดส่วนหนึ่งของกันสาดเชื่อมต่อกับหลังคา เพราะหากเกิดความเสียหายกับกันสาดก็จะไม่ส่งผลไปถึงหลังคา นอกจากนี้ไม่ควรออกแบบชายคาที่ยื่นยาวเกินไป เพราะจะเพิ่มพื้นที่ในการปะทะของลมและจะทำให้เกิดความเสียหายมากขึ้น
BuilderNews หวังว่า 9 วิธีการวางแผนการออกแบบให้สามารถรับมือภัยพิบัติ จะเป็นแนวทางในการออกแบบบ้านให้สามารถรับมือภัยพิบัติต่าง ๆ และสร้างความมั่นใจในการออกแบบให้กับที่อยู่อาศัยในอนาคตได้
Source
www.autodoorcenter.com/home-and-building-technology/การออกแบบบ้าน-2/