หลังแสดงเจตนารมณ์ในการร่วมแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในการประชุมสมัชชาประเทศภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ สมัยที่ 26 (COP26) เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. 2564 ประเทศไทยก็มุ่งสู่เป้าหมายการสร้างความเป็นกลางทางคาร์บอนภายในปี ค.ศ. 2050 และบรรลุเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี ค.ศ. 2065 ด้านอุตสาหกรรมการก่อสร้างเองก็เกิดความเปลี่ยนแปลง เช่นการผลักดันการใช้ปูนซีเมนต์รูปแบบใหม่เพื่อลดปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ปล่อยออกมาในกระบวนการผลิต
ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก คือทางออกสำหรับปัญหาการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมากของอุตสาหกรรมปูน กระบวนการผลิตปูนซีเมนต์แบบเดิมที่เป็นที่นิยมคือแบบปอร์ตแลนด์ เป็นการใช้ความร้อนสูงเผาวัตถุดิบ หลอมละลายแร่ธาตุต่าง ๆ เพื่อเปลี่ยนให้เป็นปูนเม็ด (Clinker) จึงทำให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก ต่างจากปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกที่สามารถใช้ทดแทนได้ แต่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่าถึงประมาณ 40 กิโลกรัมต่อตัน หรือลดการปล่อยได้ถึง 3 ตัน หากใช้ทดแทนปูนซีเมนต์แบบปอร์ตแลนด์ได้ 5.8 ล้านตัน
ประสิทธิภาพเพื่อสิ่งแวดล้อมและเพื่อคุณ
ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีวิธีการผลิตเช่นเดียวกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ แต่ได้มีการวิจัยและพัฒนาเพื่อเน้นการเพิ่มประสิทธิภาพของปูนซีเมนต์ (Performance Based) รวมทั้งการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ด้วยการใช้วัสดุทดแทน ได้แก่ ส่วนประกอบของแคลเซียม ปอซโซลาน กากถลุง และวัสดุผสมเพิ่ม
เพราะใช้วัสดุทดแทนเป็นส่วนประกอบปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกจึงมีประสิทธิภาพการรับแรง ความไหลลื่น ความเรียบเนียน และความคงทนดีขึ้น ตอบสนองต่อความต้องการที่หลากหลายของงานก่อสร้างได้มากกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ถูกนำไปใช้ทั้งในงานโครงสร้างทั่วไป งานโครงสร้างขนาดใหญ่ งานพื้นทาง และงานปรับปรุงคุณภาพชั้นพื้นทางและชั้นรองพื้นทาง การันตีด้วยข้อมูลยืนยันจาก The European Association (CEMBUREAU) ว่าในสหภาพยุโรปมีการใช้ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมากกว่าร้อยละ 75 ของปริมาณการใช้ปูนซีเมนต์ทั้งหมด
ปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกยังสามารถช่วยลดภาวะก๊าซเรือนกระจกได้อย่างมีนัยสำคัญ และก่อให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพราะลดการเผาปูนเม็ด ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ เป็นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) นำไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ (Low Carbon Society)
คุณสมบัติของคอนกรีตที่ผลิตจากปูนไฮดรอลิก
- คุณสมบัติของคอนกรีตสด
- สามารถอุ้มน้ำได้เทียบเท่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1 แต่ต้องการน้ำน้อยกว่าเพื่อให้ได้ค่าการไหลที่เท่ากัน
- การยุบตัวเริ่มต้นมากกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์มากกว่าประมาณร้อยละ 12 – 17
- การรักษาค่าความสามารถยุบตัวเทียบเท่ากันกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1
- ระยะเวลาการก่อตัวใกล้เคียงกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1
- ระยะเวลาการก่อตัวใกล้เคียงกับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1
- การเยิ้มที่ผิวหน้าน้อยกว่าปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ประเภท 1 เหมาะกับงานก่อสร้างที่ต้องระวังเรื่องการเยิ้มน้ำที่ผิวหน้าเป็นพิเศษ เช่น การเทพื้นคอนกรีตและการเทคอนกรีตในงานเสาเข็มเจาะขนาดใหญ่
- คุณสมบัติของคอนกรีตที่แข็งตัวแล้ว
- มีค่ากำลังอัดเทียบเท่ากับปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ที่ค่ายุบตัวของคอนกรีตเท่ากัน
- มีค่าคาร์บอเนชั่นลึกกว่าคอนกรีตที่ผลิตจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์เล็กน้อยประมาณ 1 มิลลิเมตร
- แท่งมอร์ตาร์ที่ผลิตจากปูนซีเมนต์ไฮดรอลิกมีค่าความต้านทานซัลเฟตและคลอไรด์เทียบเท่ากับแท่งมอร์ตาร์ที่ผลิตจากปูนซีเมนต์ปอร์ตแลนด์ ด้วยสัดส่วนการผสมที่เหมือนกัน
- การหดตัวเทียบเท่ากันทั้งแบบแห้งและแบบออโตจีเนียส
- ค่าการทำปฏิกิริยาระหว่างด่างและมวลรวม (Alkali Aggregate Reaction: AAR) เทียบเท่ากัน
- การต้านทานการขัดสีสึกกร่อนเทียบเท่าหรือสูงกว่าเล็กน้อย
สู่เป้าหมายในพ.ศ. 2565
ด้วยความร่วมมือของภาคส่วนต่าง ๆ ในปี 2565 ประเทศไทยจะลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้ไม่น้อยกว่า 300,000 ตัน สนับสนุนนโยบายภาครัฐ Thailand NDC และข้อตกลงปารีสในการควบคุมการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิเฉลี่ยทั่วโลก โดยมีภาครัฐคอยส่งเสริมการผลิตและการใช้งาน ทำมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง จัดทำระบบรายงานและระบบข้อมูล ภาคอุตสาหกรรมนำนวัตกรรมมาใช้ในการผลิต ภาควิชาชีพเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจ และภาคการศึกษาส่งเสริมและสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา รวมทั้งภาคส่วนอื่น ๆ ที่ช่วยกันส่งเสริมปูนซีเมนต์ไฮดรอลิก เพื่อพาประเทศไทยสู่เป้าหมายของการเป็นสังคมคาร์บอนต่ำ
Source:
https://bangkok-today.com/cop-26-กับทิศทางการก่อสร้างใ/
https://www.greenpeace.org/thailand/story/21511/climate-emergency-cop26-net-zero-emission/
http://thaicma.or.th/cms/ghg-reduction/Hydrauliccement/
https://drive.google.com/drive/folders/1tRxtdPz3mvTq1tZ1jVr5x2eMQh_k3mWV
http://thaicma.or.th/cms/assets/Uploads/document/TCMAHydraulic-CementLeafletAs-of-Aug-2021.pdf