Source: Prachatai

ชื่อของ ‘ศาลเจ้าแม่ทับทิม สะพานเหลือง’ ปรากฏอยู่ในข่าวอีกครั้งหลังรอดจากการรื้อถอนโดยจุฬาฯ มาได้เมื่อปี 2563 เมื่อมีการเผยแพร่ภาพถ่ายที่อ้างว่าเป็นศาลเจ้าที่จุฬาสร้างในอินเทอร์เน็ตซึ่งตามมาด้วยคำวิจารณ์มากมายเกี่ยวกับรูปแบบที่ดูโมเดิร์นแต่ไม่คำนึงถึงหลักความเชื่อ เช่น การเปิดให้แสงเข้ามาจำนวนมากที่หลังคารและหน้าต่าง ขัดกับหลักฮวงจุ้ยที่ระบุให้ศาลเจ้ามีหน้าต่างน้อยเพื่อส่งเสริมพลังอิม การไม่มีธรณีประตู และการปูกระเบื้องผิดธรรมเนียม เป็นต้น แล้วหลักการของสถาปัตยกรรมศาลเจ้าจีนเป็นอย่างไร? BuilderNews ชวนเปิดประวัติศาสตร์ ศึกษาลักษณะรูปแบบและการใช้วัสดุของศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ ไปด้วยกันในบทความนี้

แม้คนจีนในกรุงเทพฯ จะมีความหลากหลายหากจำแนกตามภาษาที่ใช้ แต่ศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ ช่วงรัชกาลที่ 1 – 5 กลับมีลักษณะร่วมทางสถาปัตยกรรมมากกว่าลักษณะเฉพาะตัว ในระดับที่กล่าวได้ว่าการมองเพียงรูปแบบทางสถาปัตยกรรมไม่สามารถทำให้แบ่งแยกหรือแยกได้ยากมากว่าเป็นศาลเจ้าของกลุ่มภาษาใด เพราะล้วนแต่มีลักษณะพื้นฐานทางสถาปัตยกรรมเดียวกัน คือเป็นการพัฒนาจากสถาปัตยกรรมบ้านเรือนที่อยู่อาศัย เนื่องจากเป็นการสร้างบ้านถวายแด่องค์เทพของผู้คน

ทำเลที่ตั้ง

Source: Prachatai

ศาลเจ้าจีนส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในชุมชนจีน มีทั้งที่ติดกับน้ำและหันหน้าเข้าสู่น้ำ ติดถนนและหันหน้าสู่น้ำ และทั้งติดถนนทั้งหันหน้าสู่ถนน โดยสาเหตุของการตั้งศาลเจ้าติดน้ำและหันสู่น้ำคือความเชื่อเรื่องฮวงจุ้ย ลักษณะของเทพเจ้า เช่น เจ้าแม่ทับทิมที่เป็นเทพเจ้าแห่งน้ำ และการคมนาคมซึ่งทั้งอำนวยความสะดวกให้ตั้งศาลเจ้าริมน้ำและเป็นข้อจำกัดเมื่อระบบคมนาคมในกรุงเทพฯ เปลี่ยนไป เห็นได้จากศาลเจ้าที่สร้างในช่วงรัชกาลที่ 3 – 5 ซึ่งมีการตั้งติดถนนและหันหน้าสู่น้ำต่างจากยุคก่อนหน้าที่ตั้งติดกับน้ำเลย แสดงให้เห็นถึงการคมนาคมที่เปลี่ยนไปในประวัติศาสตร์ เช่นเดียวกับที่ศาลที่ตั้งริมถนนและหันหน้าเข้าสู่ถนนซึ่งตั้งขึ้นสมัยรัชกาลที่ 5 เกือบทั้งหมด เป็นหลักฐานแสดงการเปลี่ยนการคมนาคมทางน้ำมาสู่ทางบกอย่างชัดเจน

การวางผังบริเวณและผังอาคาร

การวางผังของศาลเจ้าในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่เป็นตามคติจักรวาลวิทยาจีน (Chinese Cosmology) ซึ่งมีหลักใหญ่คือ การโอบล้อมด้วยแนวกำแพงโดยรอบ, การเน้นแนวแกน, การวางผังบริเวณเป็นระบบสมดุลสองข้างเท่ากัน, การเน้นการจัดผังแบบมีลานโล่ง และการลำดับการเข้าถึงอาคารสู่ความเป็นส่วนตัว โดยมีการคำนึงถึงทั้งรูปแบบการใช้ประกอบด้วย

รูปแบบสถาปัตยกรรมและส่วนประกอบทางสถาปัตยกรรม

ประกอบไปด้วยส่วนฐาน ตัวอาคาร และหลังคา แนวทางการสร้างฐานในสถาปัตยกรรมจีนประเพณีจะมีการเน้นฐานเพื่อป้องกันน้ำและแสดงฐานะของผู้สร้าง แต่คนจีนอพยพในประเทศไทยช่วงแรกยังมีฐานะไม่ร่ำรวยจึงมักพบเพียงฐานเตี้ย ส่วนตัวอาคารสามารถแบ่งเป็น “อาคารหลัก” เป็นชั้นเดียวยาว 3 ห้อง มีผนังก่ออิฐโอบล้อมแค่ 3 ด้านเป็นส่วนใหญ่ ปิดด้านหน้าหรือด้านหลังด้วยประตูไม้และ Partition Wall หรือเปิดโล่ง และ “อาคารประกอบ” เป็นอาคารแบบธรรมดาโอบล้อมด้วยผนังทั้งสี่ด้าน มีทั้งที่เป็นชั้นเดียวและ 2 ชั้น ด้านหลังคา ศาลเจ้าในจีนมักมีรูปแบบเหมือนหลังคาทางภาคใต้ของจีนซึ่งโดดเด่นด้วยการตกแต่ง

โครงสร้างและวัสดุ

Source: Chainwit

โครงสร้างฐานราก มีการใช้ทั้งท่อนซุงเช่นในการเรียงแน่นในหลุมขุดลึก การใช้ผนังอิฐตรงกึ่งกลางของแนวซุง หรือการใช้อิฐทำฐาน ส่วนโครงสร้างอาคาร มีการสร้างผนังเพื่อเป็นกรอบของอาคารเท่านั้น ไม่ได้รับน้ำหนักอาคาร มักเป็นผนังก่ออิฐถือปูนและมักเป็นผนังก่ออิฐโชว์แนว หนาประมาณ 30 – 40 เซนติเมตร และส่วนโครงสร้างหลังคา เป็นระบบเสาและคาน (Post and Beam หรือ Beam-frame System) สร้างขึ้นจากไม้เนื้อแข็ง มีการออกแบบรอยต่อหรือข้อต่อให้ยืดหยุ่นได้ ต่อโครงสร้างแบบไม่ใช้ตะปูด้วยระบบถอดประกอบ โดยสร้างโครงสร้างอยู่บนฐานก่ออิฐถือปูนทึบ วางอยู่บนฐานรากท่อนซุงในโครงสร้างฐานราก เสามีรูปร่างทั้งวงกลม สี่เหลี่ยม และแปดเหลี่ยม นอกจากนี้ยังพบการใช้หินหรือสัมฤทธิ์ทำฐานเพื่อเสริมเสาให้สูงขึ้น รวมทั้งป้องกันความชื้นและอันตรายต่าง ๆ และมีการใช้กระเบื้องปูแทนการทำฝ้าเพดาน โดยในส่วนหลังคามีการใช้กระเบื้องดินเผาเคลือบเงาสีรูปแบบต่าง ๆ ทั้งกระเบื้องกาบกล้วย, กระเบื้องไม้ไผ่, กระเบื้องตัวริมปิดกระเบื้องกาบกล้วย, กระเบื้องตัวริมปิดกระเบื้องไม้ไผ่ และรางน้ำ โดยปูกระเบื้องตามหลักฮวงจุ้ย มักทาด้วยสีแดงหรือสีดำ

อย่างไรก็ตาม โครงสร้างทั้งหมดในสถาปัตยกรรมจีนส่วนใหญ่จะใช้ไม้เป็นหลักในการผลิต ด้วยคุณสมบัติความยืดหยุ่นทนทานและหาง่าย นำมาก่อสร้างหรือปรับปรุงง่าย โดยเฉพาะเมื่อเทียบกับวัสดุธรรมชาติอื่น ๆ เช่น หินหรือดิน โดยมีการเขียนหรือทาสีเป็นวิธีป้องกันความเสียหายและรักษาเนื้อไม้รวมถึงสร้างความสวยงามด้วย

ศิลปกรรมและส่วนตกแต่งอาคาร

Source: Chainwit

พบได้ทั้งสถาปัตยกรรมที่ติดมากับตัวสถาปัตยกรรม เช่น ลวดลายและสีที่ผนัง ประตู ช่องเปิด หลังคา และโครงสร้าง  และศิลปกรรมส่วนตกแต่งอื่น ๆ เช่น ประติมากรรมรูปเคารพหรือ “เจ้า” แท่นบูชา โต๊ะบูชา เครื่องแสดงฐานะองค์เทพ กลองระฆัง ป้าย โคมไฟ เตาเผา และสิงโตคู่ เป็นต้น

วัสดุที่สำคัญในศิลปกรรมจีนคือกระเบื้อง ซึ่งมีกรรมวิธีการสร้างสรรค์ที่ซับซ้อนและเป็นเอกลักษณ์ สามารถพบได้เช่นที่การตกแต่งส่วนหลังคา บ่อเสือบ่อมังกร และผนังด้านหน้าของวิหารหน้าเป็นต้น

ศาลเจ้ากับการอนุรักษ์

จากข้อค้นพบเกี่ยวกับสถาปัตยกรรมศาลเจ้าจีนในกรุงเทพฯ ดังกล่าว จะเห็นได้ว่าทุกองค์ประกอบล้วนแต่มีความหมาย แสดงให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ แนวคิด และวัฒนธรรมความเชื่อมากมาย ซึ่งมีคุณค่าต่อสังคม การปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลงอะไรจึงอาจพิจารณาจากหลักการแนวคิดดังกล่าวได้ ควบคู่ไปกับการพัฒนาเมืองให้ทันสมัย

Source: Chainwit

Sources

http://cuir.car.chula.ac.th/handle/123456789/12121

https://twitter.com/titleforever/status/1478230711026872320

https://twitter.com/2646_yang/status/1478372987132944389

https://twitter.com/AssemblySD/status/1478753679108820992

https://twitter.com/2646_yang/status/1478738832921034753

https://twitter.com/NetiwitC/status/1478596989390446594

Previous articleรู้ก่อนเผื่อโดนแก้! อัปเดตล่าสุดฮวงจุ้ยประจำปี 2565 / 2022 เผย “ทิศมงคล” และ “พลังทิศ 3 อสูร”
Next articleสวยเหมือนไม้ ทนเหมือนหิน! พื้น SPC
SMARTAMTT จาก BRT INTERTECH
ในงานสถาปนิก’65