เผยโฉมแล้ว ผลการประกวดจ้างออกแบบ Ratchadamnoen Knowledge & Culture Avenue โดยมีผู้ได้รับการคัดเลือกคือ กิจการร่วมค้า บริษัท จีโอเดสิค ดีไซน์ จำกัด บริษัท เอ็มสเปซ จำกัด และบริษัท จั่นอาร์คิเทค จำกัด เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2565 นำมาสู่ความคิดเห็นที่หลากหลาย ทั้งที่แสดงความต้องการให้พื้นที่บนถนนราชดำเนินแห่งนี้ปลอดการเมือง หรือที่เห็นว่านี่คือการพยายามทำลายศิลปะคณะราษฎร

ภาพจากเฟซบุ๊ก : Kittitouch Chaiprasith

4 มุมราชดำเนิน – ผังเมืองและการเมือง

“ถนนราชดำเนินถือเป็นถนนสายประวัติศาสตร์ที่มีความสำคัญสายหนึ่งของประเทศไทย เป็นถนนที่ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นในปี พ.ศ. 2442 เพื่อเชื่อมโยงระหว่าง พระบรมมหาราชวังกับพระราชวังดุสิต และเพื่อเป็นสัญลักษณ์ของความเจริญรุ่งเรืองในสยามประเทศ โดยมี พระราชประสงค์ให้เป็นถนนที่มีขนาดใหญ่และมีพื้นที่สองข้างทางเป็นที่ตั้งของวังและสถานราชการขนาดใหญ่ มิใช่เป็นย่านการค้า”

ตอนต้นของคำอธิบายถึงสภาพแวดล้อม ภาพลักษณ์ และลักษณะเฉพาะของโครงการดังกล่าวชวนให้นึกถึงการจำแนกความหมายของถนนราชดำเนินแบบต่าง ๆ ของ ชาตรี ประกิตนนทการ อาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ที่มอง 4 มุม คือ “ระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ คณะราษฎร ราชดำเนินในฐานะถนนประชาธิปไตย และความทรงจำส่วนบุคคลของคนเล็กคนน้อย กลุ่มคนไร้เสียง” ซึ่งนำไปสู่ความเป็นถนนเฉลิมพระเกียรติของถนนราชดำเนิน การสร้างความทรงจำในถนน เชื่อมโยงกับพระราชกรณียกิจตั้งแต่ในอดีต

สอดคล้องไปกับภาพความร่มรื่นสีเขียวบริเวณถนน ที่เขาเห็นว่าเป็นการลดความร้อนแรงของพื้นที่ และเพิ่มความนุ่มนวลลงไป ไม่เอื้อให้กับการใช้งานในฐานะพื้นที่สาธารณะในประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางประชาธิปไตย

ภาพจากเฟซบุ๊ก : Kittitouch Chaiprasith

สู่ “พื้นที่แห่งการเรียนรู้”

Ratchadamnoen Knowledge & Culture Avenue คือ “พื้นที่แห่งการเรียนรู้” ที่ตั้งอยู่บนถนนราชดำเนิน บริเวณที่เดิมเป็นกองสลาก

การดำเนินการออกแบบพื้นที่แห่งนี้ไม่ใช่ความลับอะไร เราสามารถดาวน์โหลดเอกสารที่เกี่ยวข้องได้จากเว็บไซต์ของสำนักงานบริหารและพัฒนาองค์ความรู้โดยตรง ซึ่งเปิดเผยข้อมูลมากมาย ข้อมูลจาก “TOR จ้างออกแบบ Ratchadamnoen Knowledge & Culture Avenue” ประกาศเมื่อวันที่ 30 พฤศจิกายน 2564 และสิ้นสุดเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2564 ระบุแนวคิดหลักของโครงการไว้ว่า

  1. การเป็นศูนย์กลางความรู้สำหรับทุกคน : Knowledge Center for All
  2. การเป็นพื้นที่เรียนรู้ที่มีความยืดหยุ่น เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้/มีส่วนร่วมของประชาชน และสามารถปรับเปลี่ยนรูปแบบได้ตามความต้องการและพฤติกรรมการเรียนรู้ของผู้ใช้บริการ : Flexible, Sharable and Customizable
  3. การเป็นพื้นที่กิจกรรมทางสังคมและการเชื่อมโยงเครือข่าย : A Place for Social Activities and Collective Synergy
  4. การเป็นพื้นที่ที่รักษาความสมดุลระหว่างผู้คน องค์ความรู้ และพื้นที่ : The Balance of People, Knowledge and Space

นอกจากนี้ยังมีรายการพื้นที่ใช้สอยในอาคารที่จะเป็นห้องสมุด พื้นที่เรียนรู้และพัฒนาทักษะ พื้นที่เพื่อการแสดง พื้นที่สำนักงาน พื้นที่ใช้สอยร่วมกัน และพื้นที่ของผู้บริหาร อีกด้วย

 

Sources

Previous articleเปลี่ยน – ปรับ – ขยับมุม แจกไอเดียเปลี่ยนบ้านให้เป็น “โฮมออฟฟิศ”
Next article“ปอดแห่งใหม่ใจกลางสีลม” โครงการ
Park Silom โครงการที่ใส่ใจธรรมชาติ
และตอบโจทย์ทุกไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่