ถือเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์สำคัญที่ผู้ว่าฯ กทม. คนใหม่ได้รับคะแนนเสียงมากกว่า 1.3 ล้านเสียง เขาคนนั้นคือบุรุษที่แข็งแกร่งที่สุดในปฐพี “ชัชชาติ สิทธิพันธุ์” วันนี้เรามาถอดบทสัมภาษณ์ของชัชชาติที่เขามองต่อ Creators อย่างไร? รวมถึงแนวทางการพัฒนาให้พวกเขา ได้เฉิดฉายบนเส้นทางนี้

“มันเป็นสิ่งจรรโลงใจชีวิต” ชัชชาติเล่าถึงความสำคัญของศิลปะ เขาเป็นคนที่ชอบวาดรูปตั้งแต่สมัยเด็ก ๆ เวลาเห็นงานเหล่านี้ก็เลยเอ็นจอยกับมัน เวลาที่เขาวิ่ง City Run ก็จะเห็น Street Art สวย ๆ พอเข้าไปดูก็พบว่ามันเป็น Creativity ที่สำคัญ เพราะมันแสดงมิติของเมือง เมืองที่ให้ความสำคัญกับอาร์ตแสดงให้เห็นถึงความก้าวหน้าและความน่าอยู่ในระดับหนึ่ง มันไม่ใช่แค่การทำมาหากินอย่างเดียว แต่มันคือสิ่งที่จรรโลงใจ

“งานอาร์ตมันมีคุณค่าทางเศรษฐกิจที่สูงมาก…” อาร์ตในมุมมองของชัชชาติไม่ใช่แค่รูปภาพ มันรวมถึงดนตรี หนัง และอื่น ๆ รวม ๆ แล้วเป็นเศรษฐกิจที่ยิ่งใหญ่มาก มันคือส่วนหนึ่งของเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สิ่งนี้จะเป็นสิ่งสำคัญที่จะขับเคลื่อนเมืองในอนาคต “อาร์ตเป็นส่วนหนึ่งของ Creative Economy และต้องให้ความสำคัญทันที เพิกเฉยไม่ได้แล้วแหละ”

“เด็กรุ่นใหม่สร้างงานเองได้แล้ว เพราะมันคือครีเอทีฟ มันเป็นอาร์ต เราต้องมีระบบนิเวศที่เหมาะกับเด็กรุ่นใหม่ ให้เขาเป็นดอกไม้ที่ผลิบานได้ รัฐต้องใส่ใจตรงนี้ให้มากขึ้น”

ภาพจาก https://www.chadchart.com/

พื้นที่ที่ไม่เพียงพอในการโชว์ของ

ชัชชาติมองว่าพื้นที่เกี่ยวกับด้านนี้น้อยมาก หอศิลป์กรุงเทพฯ ใหญ่มากก็จริง แต่ว่าควรจะขยายไปในเขตต่าง ๆ “เราไม่มี Public Space ที่มีคุณภาพมากพอ มันเป็นหัวใจของ Creativity ต้องมาพบปะพูดคุยถกเถียงแลกเปลี่ยนกัน มันถึงจะเกิด Creativity ได้ พื้นที่เหล่านี้ควรจะกระจายทุก ๆ จุดใน กทม. ไม่ใช่อยู่แต่ในเมือง คนหนองจอก มีนบุรี ก็มาไม่ง่าย จุดนี้ผมว่าสำคัญ”

ชัชชาติยังบอกอีกว่า “หอศิลป์บางทีก็แสดงงานศิลปะ บางวันอาจจัดเป็นการแสดงดนตรี วันหนึ่งอาจทำเป็น Co – Working Space มันต้องปรับเปลี่ยนได้หลากหลาย ให้เด็ก ๆ มาเล่นดนตรีเปิดหมวกในนั้นหรือจัดเป็นเสวนาปัญหาของเมืองอะไรแบบนี้ มันน่าจะทำแบบนี้ให้กระจายอยู่ทั่วไป พอมันเป็น Multi-Purpose แล้ว งานอาร์ตก็จะอยู่ในส่วนตรงนี้ด้วย”

อยากคุยกับเหล่า Creators เพื่อพัฒนาร่วมกัน

Pain Point คืออะไร? อยากให้เราช่วยตรงไหน?… ชัชชาติอยากเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ชีวิตของพวกเขาเหล่านี้ สามารถสร้างสรรค์งานศิลป์ต่อไปและปากท้องยังอยู่ได้ งานสร้างสรรค์เป็นงานที่เหนื่อย บางคนอาจประสบความสำเร็จ มีรายได้ แต่ก็ยังมีอีกจำนวนไม่น้อยที่ต้องดิ้นรนอยู่ “จะทำยังไงให้เขาอยู่ได้โดยทำในสิ่งที่เขาชอบด้วย ผมว่าเรื่องนี้ก็สำคัญ มันไม่ง่ายบางคนเลือกทำงานที่เขาไม่ชอบไปก่อน แล้วใช้งานศิลป์เป็นอาชีพเสริมเพื่อให้มีชีวิตรอด ก็อยากจะถามว่ามีอะไรที่เราจะช่วยให้ชีวิตของเขาสามารถทำในสิ่งที่เขาชอบได้ ขาดพื้นที่ในการแสดงออกไหม หรือขาดตลาดที่จะขายงานหรือเปล่า ไอเดียจากพวกเขาจะช่วยให้เราต่อยอดได้”

“ผมเชื่อว่าคนที่เป็นศิลปินไม่ธรรมดา ต้องกล้า ต้องมี Passion ที่แข็งกล้า ยอมเสี่ยงกับความไม่แน่นอนทางการเงิน อนาคตก็ไม่แน่นอนว่าสิ่งที่ทำนั้นจะขายได้หรือเปล่า เป็นเรื่องที่เครียดเหมือนกัน อาจจะต้องคุยว่าแรงบันดาลใจของเขาคืออะไร แล้วเราจะช่วยเติมเต็มสิ่งเหล่านั้น ในงานอดิเรกของเขากลายเป็นงานที่สร้างรายได้หาเลี้ยงปากท้องได้”

ภาพจาก https://www.chadchart.com/

นโยบายที่จะสร้างเสริมเหล่า Creators และงานอาร์ต

“ผมเป็นวิศวกร ไม่ได้รู้เรื่องอาร์ตมากนัก ดังนั้นผมจึงเชิญผู้เชี่ยวชาญมาประมาณ 10 คน(ยังบอกชื่อไม่ได้) มีทั้งคนทำดนตรี ทำหนัง คนทำอาร์ต คนทำมิวเซียม พยายามจะตกผลึกออกมา” ชัชชาติให้ความสำคัญไว้ดังนี้

อันดับแรก “Public Space” ที่มีคุณภาพกระจายอยู่ทั่วไป

อันดับสอง “นิทรรศการหมุนเวียน” สมมติว่าเรามีงานศิลปะจัดที่หอศิลป์กรุงเทพฯ ก็ควรจะเอางานนี้หมุนเวียนไปยังเขตอื่น ๆ ต้องมี Exhibition เคลื่อนที่ ต้องกระจายเพื่อให้คนเข้าถึงอาร์ตได้มากขึ้น อาจจะทำเป็นรถเคลื่อนที่ก็ได้

อันดับสาม “ศิลปะกลางแจ้งที่เพิ่มมากขึ้น” ให้มันกระจายอยู่เป็นส่วนหนึ่งของเมือง แล้วหมุนเวียนไป ค้ลาย ๆ กับงานอาร์ตเบียนนาเล่ (Art Biennale)

และที่สำคัญต้องหาแนวร่วมและทำงานรวมกัน หัวใจคือต้องเอาคนที่รู้มาทำ รัฐเป็นแค่ Facilitator คอยอำนวยความสะดวก อาจมีงบประมาณให้บ้าง แต่ต้องให้คนที่รู้ คนที่เป็น เข้าใจจิตวิญญาณที่แท้จริงเป็นคนทำ ที่ผ่านมารัฐไปจ้างออร์แกไนเซอร์ เปิดงานเสร็จกลับ ถ่ายรูปเสร็จ แต่ว่าศิลปินกลับไม่ได้ผมประโยชน์อะไรที่เป็นระยะยาว

ในวันที่ “ชัชชาติ” ได้ก้าวขึ้นมาเป็นผู้ว่าฯ กทม. หลายคนอาจมองเห็นแสงสว่างแห่งความหวัง สว่างแห่งการเป็นอยู่ที่น่าจะดีขึ้น การเปิดกว้างทางความคิดที่เพิ่มขึ้น รวมถึงการมีสิทธิ์ออกเสียงอย่างอิสระ ดังเช่นเรื่องศิลปะที่ชัชชาติพยายามจะผลักดันเรื่องนี้ให้ยิ่งใหญ่ขึ้น

เข้าไปดูนโยบาย 200 กว่าข้อจากชัชชาติ และรวมเสนอแนะได้ที่ https://www.chadchart.com/policy/

 

ขอบคุณบทสัมภาษณ์จาก
https://happeningandfriends.com/article-detail/388?lang=th

Previous article‘วิกฤติซ้อนวิกฤติ’ ของธุรกิจก่อสร้าง – อสังหาฯ: ที่มาและทางออก?
Next article“Digitized Kairakuen Garden” เดินทางข้ามกาลเวลาไปในสวนพฤกษศาสตร์
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ