เตรียมโบกมือลาตามสกาลาไปติด ๆ กับโรงภาพยนตร์สแตนด์อโลนแห่งสุดท้ายที่เหลืออยู่ในจังหวัดตรัง “โรงหนังตรังรามา” หรือในชื่อที่คุ้นกว่าคือ “วิกตรังรามา” หลังงดใช้งานฉายภาพยนตร์ไปแล้วก่อนหน้า

แม้จะมีคุณค่าทั้งแง่สถาปัตยกรรมและความผูกพันจากความทรงจำแค่ไหน แต่ด้วยสาเหตุด้านค่าใช้จ่ายซึ่งเป็นภาระในการดูแล เรื่องอัตราภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ทั้งยังไม่มีผู้เช่าต่อ

และแม้รูปทรงเส้นสายจะชวนให้นึกถึงสกาลาจนทำให้นึกว่าโรงภาพยนตร์แห่งนี้รับเอาสกาลามาเป็นแรงบันดาลใจ แต่ข้อมูลจาก The Southeast Asia Movie Theater Project ระบุว่าโรงภาพยนตร์นี้ถูกสร้างขึ้นเมื่อปี 2510 หรือ 2 ปี ก่อนสกาลาเปิดใช้งาน ความเป็นไปได้จึงคือสกาลาได้แรงบันดาลใจจากตรังรามาต่างหาก (?)

 

ภาพจาก Google Street View

สไตล์ที่คล้ายคลึงกันของโรงภาพยนตร์ทั้งสองอาจอธิบายได้อีกอย่างว่าคือกระแสความนิยมในสไตล์ “อาร์ตเดโค” (Art Deco) ในช่วงปี 2500 ซึ่งวีระพล สิงห์น้อย ช่างภาพผู้บันทึกสถาปัตยกรรมโมเดิร์นในไทยไว้มากมาย เล่าว่าคนทั่วไปสมัยนั้นมองว่าเป็นศิลปะแห่งความหรูหรา โดยในจังหวัดตรังเองยังมีสถาปัตยกรรมสาธารณะสไตล์นี้อีกเช่น สมาคมฮากกา และธนาคารกรุงเทพ สาขาสี่แยกสถานีรถไฟตรัง เป็นต้น แต่สำหรับนายตรีชาติ เลาแก้วหนู รองคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตตรังโรงภาพยนตร์ตรังรามามีความโดดเด่นเป็นพิเศษที่โครงสร้างเสาสูงชะลูดที่รับน้ำหนักหลังคาทรงเรียบ ทั้งยังมีหลังคาหน้าจั่วซ่อนอยู่ด้านในอีกด้วย

ความพยายามในการอนุรักษ์และปรับเปลี่ยนโรงภาพยนตร์ตรังรามาล่าสุดเพิ่งเกิดขึ้นเมื่อต้นปี 2565 นี้ โดยคุณ Wan Lek ได้สำรวจความเห็นจากคนในพื้นที่และเจ้าของอาคารก่อนที่จะเสนอภาพออกแบบและปรับปรุงอาคารตรังรามาออกมา อย่างไรก็ตาม ในบริบทจริงนอกงานวิจัย เรายังคงต้องจับตาดูชะตากรรมของ “วิกตรังรามา” ภายใต้การดูแลโดยเจ้าของเอกชนกันต่อไป

 

ภาพการศึกษาเพื่อออกแบบและปรับปรุงอาคารตรังรามาโดยคุณ Wan Lek https://www.facebook.com/groups/288546198305162/posts/1363343897492048

Sources:

Previous articleลา(ชั่วคราว)กาดสวนแก้ว ห้างสไตล์สถาปัตยกรรมล้านนาในความทรงจำของผู้คน
Next articleเสียงกับสถาปัตยกรรม: เมื่องานออกแบบไม่ได้มีแค่เรื่องหน้าตา