“ดีไซเนอร์ส่วนใหญ่ออกแบบในมุมของผู้ใช้งาน
แต่ผมเลือกที่จะมองในมุมของสิ่งแวดล้อม”
Kristian Talvitie, นักออกแบบชาวฟินแลนด์
ช่วงหลังมานี้ เทรนด์การท่องเที่ยวที่กำลังมาในช่วงนี้ก็คือ “การพักผ่อนแบบใกล้ชิดธรรมชาติ สูดอากาศบริสุทธิ์ ซึมซับวัฒนธรรมของพื้นถิ่น” เห็นได้จากผู้คนที่ต่างหาสถานที่พักผ่อนแบบ Local หาความร่มรื่นที่มาจากธรรมชาติ ลมเย็นพัดผ่านร่างกาย แต่บางครั้งในการก่อสร้างหรือการท่องเที่ยวอาจสร้างรอยเท้าบางอย่างที่ส่งผลต่อธรรมชาติ โดยที่เราไม่รู้ตัว
“การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism)” จริงเป็นสิ่งที่นักออกแบบหลายคนพยายามสร้างเงื่อนไขให้มนุษย์พักผ่อนกับธรรมชาติแบบ win-win ทั้งคู่ โดยที่ไม่กระทบซึ่งกันและกัน หลายคนอาจยังไม่เคยได้ยินคำนี้ว่าแท้จริงแล้ว ความหมายและเป้าหมายของมันคืออะไร? วันนี้ BuilderNews หาคำตอบมาให้แล้ว
การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (Sustainable Tourism)
องค์กรการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (United Nations World Tourism Organization: UNWTO) กำหนดหลักการเบื้องต้นในการพัฒนา “เที่ยวอย่างยั่งยืน” สรุปคร่าว ๆ ได้ว่า
- คำนึงถึงขีดความสามารถของธรรมชาติ หรือ ขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยว (carrying capacity)
- สนับสนุนการมีส่วนร่วมของคนในชุมชนและความต้องการของชุมชน
- กระจายผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจอย่างเป็นธรรมให้กับคนในท้องถิ่น
- ส่งเสริมประสบการณ์ที่มีคุณค่ากับนักท่องเที่ยวที่มาเยือน
- เข้าใจและเรียนรู้สภาพเฉพาะของพื้นที่ ทรัพยากร ขนบธรรมเนียม/วัฒนธรรม/วิถีชีวิต
- ส่งเสริมการออกแบบที่เป็นกับสถาปัตยกรรมท้องถิ่นและใช้วัสดุในท้องถิ่น
- ผสานการท่องการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนในแผนพัฒนาทั้งระดับท้องถิ่น ภูมิภาค และประเทศ
- พัฒนาข้อมูลสำหรับการตัดสินใจและติดตามตรวจสอบ
ทีนี้เราจะพูดถึง “ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม (Environmental Sustainability)” ซึ่งเราต้องคำนึงถึงผลกระทบจากการกระทำของนักท่องเที่ยวที่มีจำนวนมาก และบ่อยครั้งที่พวกเขาอาจปล่อยของเสียที่เป็นมลภาวะต่อสิ่งแวดล้อมโดยไม่รู้ตัว สิ่งเหล่านี้ต้องเริ่มต้นสร้างที่จิตสำนึก-สถาปัตยกรรม-กิจกรรม-ธุรกิจ เพื่อสร้างความยั่งยืนอย่างแท้จริง
ดังเช่นสถานที่ที่เราจะมาแนะนำในวันนี้ กับโปรเจกต์ “KOJA” ของ Kristian Talvitie นักออกแบบแนวคิดชาวฟินแลนด์ ที่จินตนาการถึงที่พักของนักท่องเที่ยวอยู่บนต้นไม้หรือที่เราเรียกกันว่า “บ้านต้นไม้” และโปรเจกต์นี้ได้รับรางวัลชมเชยในการประกวดแบบของ 2021 Polestar Design Contest แบรนด์ค่ายรถจากสวีเดน ถึงแม้จะไม่ชนะเลิศ
แต่ KOJA กลับได้ทีมงานของ Polestar สานฝันให้บ้านต้นไม้เกิดขึ้นจริง
Polestar เริ่มต้นหาซื้อสถานที่เล็ก ๆ ในป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้สูงแถบหมู่บ้าน Fiskars ณ ประเทศฟินแลนด์ เป้าหมายของ KOJA คือต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยวในท้องถิ่น ในเชิงการออกแบบและก่อสร้าง KOJA มี Carbon Footprint น้อยมาก ๆ เพราะต้องการให้ผู้พักผ่อนใกล้ชิดกับธรรมชาติโดยที่ไม่สร้างผลกระทบอะไรหรือน้อยที่สุด
Kristian Talvitie นักออกแบบเล่าว่า “KOJA จะเป็นพื้นที่ที่เต็มไปด้วยจิตวิญญาณแห่งความก้าวหน้าและยั่งยืน สร้างการท่องเที่ยวรูปแบบใหม่ ลดสิ่งที่ไม่จำเป็นตั้งแต่การวางแผนการท่องเที่ยว”
สิ่งที่นำมาก่อสร้างก็เป็นวัสดุจากธรรมชาติ เช่น ไม้และขนสัตว์ที่หาได้ตามท้องถิ่น นั้นจึงทำให้ KOJA เป็นที่พักที่เคารพสภาพแวดล้อมตามธรรมชาติในทันที
“KOJA ในภาษาสวีเดนหมายถึง ‘กระท่อม’ หรือ ‘ถ้ำ’ ซึ่งเป็นการกำหนดสไตล์ของกระท่อมให้มีความมินิมัล น้อยแต่มาก สร้างจากวัสดุที่ยั่งยืน เพื่อประสบการณ์การดื่มด่ำธรรมชาติอีกรูปแบบหนึ่ง
“นักออกแบบส่วนมากออกแบบในมุมผู้ใช้งาน ซึ่งไม่ได้คำนึงถึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมเท่าไหร่นัก เราควรมองย้อนกลับ ในมุมของสิ่งแวดล้อม มุมของสถานที่และบริเวณโดยรอบ เราควรที่จะทำงานร่วมกันระหว่างมนุษย์และสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง” Kristian Talvitie กล่าว
THE DESIGN OF THE KOJA TREEHOUSE
โครงสร้างของ KOJA ออกแบบให้ล้อมรอบลำต้นโดนไม่ตัดหรือทำอันตรายกับต้นไม้ Talvitie สร้างบ้านในรูปแบบพาโนรามา ตกแต่งในสไตล์มินิมัล เรียบง่าย และใช้โทนสีใกล้เคียงกับสภาพแวดล้อมมากที่สุด เพื่อให้ผู้ใช้งานรู้สึกว่าเป็นส่วนหนึ่งกับธรรมชาติ ท่ามกลางสีเขียวชอุ่มและความร่มรื่น แสงแดดที่ส่องเข้ามาผ่านร่มเงาของใบไม้
“พวกเราทึ่งกับแนวคิดที่ Talvitie บอกกับเรา มันคือการ ‘ปรับตัว’ ให้เข้ากับสภาพแวดล้อมจริง ๆ เป็นสิ่งสำคัญและสร้างความประทับใจให้เรามาก จนทำให้โปรเจกต์ KOJA เกิดขึ้นจริง” Maximilian Missoni หัวหน้าฝ่ายออกแบบ พูดถึงแนวคิดของ Talvitie
ตอนนี้ KOJA ก่อสร้างเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว โดยเป็นส่วนหนึ่งของนิทรรศการ “House by an Architect” ในงาน Fiskars Village Art & Design Biennale ตั้งแต่วันนี้จนถึงเดือนกันยายน 2022
จริง ๆ แล้ว รีสอร์ตที่ทำสไตล์ “บ้านต้นไม้” ในไทยก็มีแล้วไม่น้อย หากแต่การก่อสร้างอาจยังไม่ยั่งยืนเท่าไหร่นัก สิ่งที่เราควรส่งเสริมคือการสร้างอะไรก็ตามที่ส่งผลกระทบต่อธรรมชาติให้น้อยที่สุด ถึงแม้จะทำได้ยาก แต่ความเป็นไปได้ก็มี
อีกสิ่งคือ “จิตสำนึก” ต่อการรักษ์โลก รักษ์ธรรมชาติ ก็ควรส่งเสริมเช่นกัน มิเช่นนั้น คนที่ตั้งใจทำสิ่งเหล่านี้ จะไม่เกิดผลเลยหากทำไม่สำเร็จครบลูป