บริษัทยักษ์ใหญ่ด้านพลังงานและรายอื่น ๆ ที่ญี่ปุ่น กำลังเร่งหาทางออกให้กับปัญหาก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศ โดยจะนำมารีไซเคิลเป็นก๊าซอื่น ๆ ที่ใช้ในเมือง เคมีภัณฑ์ วัสดุก่อสร้าง และผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ตั้งเป้า Net zero emissions ภายในปี 2050
ญี่ปุ่นมีการปล่อยก๊าซ CO2 ในปริมาณมากซึ่งมาจากการผลิตไฟฟ้าและโรงงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ หากโปรเจกต์นี้สำเร็จ โอกาสทางธุรกิจของบริษัทที่ค้นคว้าและวิจัยเรื่องนี้จะเพิ่มขึ้นอย่างมาก เกิดเป็นการแข่งขันกันอย่างมาก เพื่อลดต้นทุนและตระหนักถึงปัญญาที่ใหญ่ยิ่งอย่าง “ภาวะโลกร้อน” ซึ่งมาจาก CO2 โดยตรง
ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์คือ “ทรัพยากร”
Osaka Gas บริษัทด้านพลังงานได้พัฒนาเทคโนโลยีที่เรียกว่า “Methanation” คือกระบวนการสังเคราะห์ก๊าซมีเทน (CH4) ด้วยการใช้ CO2 และไฮโดรเจนในการผลิต ซึ่งมีเทนเป็นพลังงานหลักในเมือง นั้นหมายความว่าปริมาณการปล่อย CO2 จะเหลือ 0 อย่างมีประสิทธิภาพ ในโฆษณาของบริษัทมี Tagline ที่น่าสนใจว่า “ทุกคนต้องการลด CO2 แต่มันคือทรัพยากรสำหรับเรา”
แม้จะยังไม่มีการทดลองที่ชี้ชัดว่า CO2 สามารถรีไซเคิลได้หรือไม่? แต่ Osaka Gas ก็กำลังพัฒนาต่อไป โดยตั้งเป้าไว้ว่า จะทดแทน 1% ของพลังงานหลักด้วยก๊าซรีไซเคิลภายในปี 2030 และ 90% ในปี 2050
“ในอนาคตมันจะส่งผลต่อการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างแน่นอน” ฮิซาโอะ โอนิชิ นักวิจัยจาก Osaka Gas กล่าว
Hitachi Zosen Corp. บริษัทที่ผลิตเครื่องจักรสำหรับการผลิตการมีเทนที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีมาตั้งแต่ปี 1995 ได้ทดสอบอุปกรณ์ที่เรียกว่า “ตัวดักจับ CO2” ไปแล้วกับโรงงานเผาขยะในเมือง Odawara ช่วงเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ซึ่งเป็นครั้งแรกที่มีการใช้อุปกรณ์อย่างจริง ๆ จัง ๆ
การแข่งขันที่เข้มข้นขึ้น
รัฐบาลญี่ปุ่นตั้งเป้าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในเป็น 0 ภายในปี 2050 และจะผลักดันให้มีการใช้เทคโนโลยีต่าง ๆ ในการจับ CO2 เปลี่ยนเป็นทรัพยากรที่เรียกว่า carbon recycling กระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม ระบุว่า เทคโนโลยีที่จะผลิตวัสดุต่าง ๆ ที่มาจาก CO2 เช่น พลาสติก, วัสดุก่อสร้าง, เคมีภัณฑ์, เชื้อเพลิงเครื่องบิน, แร่ต่าง ๆ จะเริ่มวางจำหน่ายภายในปี 2030
บริษัท Chugoku Electric Power กำลังพยายามผลิตทรายที่ระบายน้ำได้เยี่ยมที่มาจาก CO2 โดยจะใช้ CO2, คอนกรีตบดจากเสาไฟฟ้าที่ไม่ได้ใช้งาน และถ่านหิน นอกจากนี้ยังมีบริษัท Kansai Electric Power ที่เริ่มวิจัยการผลิตสาหร่ายที่มาจาก CO2 โดยสาหร่ายเหล่านี้จะมีสารพิเศษสำหรับใช้เป็นยารักษาโรคหลอดเลือดแข็งตัว
ในรายของบริษัทเคมีรายใหญ่ ๆ บริษัท Asahi Kasei และ Mitsubishi Chemical ต่างก็พัฒนาเทคโนโลยีเพื่อผลิตวัตถุดิบสำหรับเรซินยูรีเทนและพลาสติกที่มาจาก CO2 ในปริมาณมาก เพื่อลดต้นทุนของบริษัทนั้น ๆ บริษัทวิจัย Fuji Keizai คาดการณ์ว่าตลาดการคัดแยก CO2 และการผลิต Carbon Recycling จะเติบโต 17.2% จากมูลค่า 4.857 ล้านล้านเยนในปี 2019 เป็น 5.693 ล้านล้านเยนในปี 2030
สมเป็นญี่ปุ่นจริง ๆ กับเรื่องการใส่ใจสิ่งแวดล้อม อีกไม่กี่ปีข้างหน้าเราอาจเห็นญี่ปุ่นในโมเดลใหม่ เพราะญี่ปุ่นวางแผนการลดก๊าซเรือนกระจกอย่างจริงจังแล้ว แถมยังผลักดันให้ใช้รถยนต์พลังงานไฮบริดและ EV อีกด้วย สำหรับการเปลี่ยน CO2 มาเป็นทรัพยากรนั้น ถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญเหมือนกัน ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อมโดยตรง คุณก็สามารถเริ่มทำด้วยตัวเองได้ทันที ก็เป็นการช่วยโลกอีกทางเหมือนกัน
Source: The Japan News
Picture: Reuters