เรียกว่าเป็นกระแสไวรัลมาก ๆ กับไอติมวัดอรุณฯ ที่นักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและต่างประเทศอยากจะลิ้มลองรสชาติพร้อมกับถ่ายรูปไอติมลายกระเบื้องไว้อวดชาวโซเชียลว่าตนนั้นได้มาเยือนวัดอรุณราชวราราม กว่าจะกลายมาเป็นไอศกรีม “ดอกไม้รุ่งอรุณ” ต้องใช้เวลาถึง 2 ปีด้วยกันโดยเจ้าของแนวคิดไอศกรีม 3 มิติ คือ POP ICON ผู้อยู่เบื้องหลังขนมหวานสุดไวรัลนี้
ซึ่งเอกลักษณ์ของไอศกรีมวัดอรุณฯ คือรสชาติที่คงความเป็นไทย ภาพลักษณ์ที่โดดเด่น และลูกเล่นของตัวไม้ไอศกรีมที่จะมีคำคมและคติธรรมที่แตกต่างกันไปในแต่ละไม้ แน่นอนว่าสิ่งแรกที่ดึงดูดสายตาของนักท่องเที่ยวก็คือลวดลายกระเบื้องที่ประดับอยู่บนพระปรางค์วัดอรุณราชวราราม แลนด์มาร์คสำคัญของกรุงเทพ
พระปรางค์วัดอรุณฯ หรือ พระปรางค์วัดอรุณราชวรารามราชวรมหาวิหาร ตั้งอยู่ที่แขวงวัดอรุณ
เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพมหานคร ลักษณะสถาปัตยกรรมของพระปรางค์วัดอรุณฯ ได้ดัดแปลงมาจากศิลปะอยุธยาซึ่งได้รับอิทธิพลจากขอม องค์พระปรางค์มีฐานกว้างและยอดแหลมเป็นลักษณะที่เรียกว่า “ทรงจอมแห” ซึ่งเป็นทรงสถาปัตยกรรมไทยในแนวดิ่ง นิยมใช้ออกแบบเจดีย์และปรางค์ หรืออาคารที่มีส่วนหัวซึ่งอยู่ในลักษณะเครื่องยอด
การสร้างพระปรางค์ได้มีการจำลองเรื่องราวของไตรภูมิพระร่วงโดยรั้วของพระปรางค์เปรียบเสมือนกำแพงของจักรวาล พื้นลานกว้างเปรียบเป็นท้องทะเลทันดร กลางทะเลมีเขาพระสุเมรุซึ่งคือองค์พระปรางค์รายล้อมด้วยปรางค์ 4 ทิศเปรียบเสมือนทวีป 4 ทวีป บริเวณฐานประดับด้วยสัตว์หิมพานต์ ถัดขึ้นไปเป็นส่วนเรือนธาตุของพระปรางค์หรือยอดเขาพระสุเมรุ อันเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ส่วนยอดของพระปรางค์ประดับด้วยนภศูล อาวุธของพระอินทร์มีลักษณะเป็นฝัก 9 แฉกเหนือขึ้นไปเป็นมงกุฎซึ่งรัชกาลที่ 3 นำมาจากเศียรของพระประธานในโบสถ์วัดนางนอง ย่านบางขุนเทียน
องค์พระปรางค์ประดับด้วยกระเบื้องเคลือบสีต่างๆ เปลือกหอย เครื่องถ้วยชามเบญจรงค์ บางส่วนถูกทำให้เป็นชิ้นเล็ก ๆ แล้วนำมาประกอบกับเป็นลายดอกไม้และใบไม้ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนสะท้อนให้เห็นถึงความนิยมของสถาปัตยกรรมในสมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งได้รับอิทธิพลของศิลปะการช่างแบบจีนทำให้สถาปัตยกรรมส่วนใหญ่มีการผสมผสานระหว่างความเป็นไทยและจีน
เพราะความปังของไอศกรีมดอกไม้รุ่งอรุณทำให้ตอนนี้ขายดีจนหมดเกลี้ยงแต่อย่าเพิ่งเสียใจไปเพราะทางแบรนด์ POP ICON กำลังเตรียมรีสต๊อกความอร่อยให้ทุกคนได้ลองชิมความหวานของไอศกรีมและความสวยงามของศิลปะไทยในเร็ว ๆ นี้
ภาพและข้อมูลจาก: https://www.sarakadeelite.com/arts_and_culture/book-wat-arunratchawararam
ภาพจาก: www.instagram.com/popicon.official