กรณี โรงแรมสยามบีชรีสอร์ท เกาะช้าง ทรุดตัวและพลังถล่ม วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ลงพื้นที่สำรวจสถานที่เกิดเหตุ พร้อมวิเคราะห์ทางวิศวกรรมเกี่ยวกับสภาพอาคาร โดยชี้ว่าสาเหตุหลักมาจากฐานรากอาคาร ที่ไม่มีการยึดรั้งที่แข็งแรง ทั้งยังตั้งขวางทางน้ำ ที่ไหลลงจากภูเขา จึงทำให้ทรุดตัวได้

เนื่องจากองค์ความรู้ และมาตรฐานงานก่อสร้างในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ ถือเป็นสิ่งสำคัญต่อความมั่นคง และปลอดภัยของชุมชน ตลอดจนภาพลักษณ์ความเชื่อมั่น ในการท่องเที่ยว การลงทุน เศรษฐกิจ ฯลฯ ตามที่เกิดเหตุสลด เมื่อเวลาประมาณ 07.30 น. วันที่ 4 มิถุนายน 2559 ในกรณีที่ อาคาร 2 ชั้น ของโรงแรมสยามบีชรีสอร์ท พังถล่ม เป็นเหตุให้นักท่องเที่ยวเสียชีวิต 1 ราย และติดอยู่ใต้ซากอาคาร (ช่วยเหลือและนำออกมาได้หมดแล้ว) รวมทั้งมีผู้บาดเจ็บ 5 ราย วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จึงวิเคราะห์ข้อมูลทางวิศวกรรม ข้อมูลฐานรากอาคาร และชั้นดิน-ทราย ของที่ตั้งอาคาร และผลกระทบต่อบริเวณข้างเคียง เนื่องจากยังมีอาคารอีก 5 หลัง ที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงกัน เริ่มมีรอยร้าว และเพื่อป้องกันการเกิดเหตุไม่คาดฝันอื่น ๆ

แถลงข่าวกรณี โรงแรมสยามบีชรีสอร์ท เกาะช้าง พังถล่ม

  • ฐานรากอาคาร ไม่มีการยึดรั้งที่แข็งแรง

รศ.สิริวัฒน์ ไชยชนะ เลขาธิการ วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมรมชูปถัมภ์ (วสท.) เปิดเผยกับ Builder News ว่า การลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพการทรุดตัวของ โรงแรมสยามบีชรีสอร์ท ครั้งนี้ การสำรวจทางกายภาพพบว่า ด้านหน้าของอาคารติดกับทะเล ส่วนด้านหลังอาคารเป็นภูเขาสูงชัน ไม่มีกำแพงกั้น ไม่มีการสร้างรางรับรองน้ำ เวลาฝนตกไหลลงมาใต้อาคาร ซึ่งอาจทำให้ดินใต้ฐานชุ่มน้ำ จนเกิดการยุบตัวและดินสไลด์ ประกอบกับฐานรากที่เป็นแบบฐานแผ่ และไม่มีการยึดรั้งที่แข็งแรง ทำให้โครงสร้างรับน้ำหนักได้ไม่ดี เพราะจุดดังกล่าวไม่สามารถตอกเสาเข็มได้ เนื่องจากใต้ดินส่วนใหญ่เป็นหิน

ก่อนเกิดเหตุมีฝนตกลงมาอย่างหนัก ดินจึงอุ้มน้ำไว้มาก และเกิดเสียงดังลั่นในตัวอาคาร ก่อนที่อาคารจะทรุดตัว โดยล่าสุด เทศบาลตำบลเกาะช้าง ปิดประกาศห้ามใช้อาคารห้องพัก ที่อยู่ใกล้เคียงกับอาคารที่เกิดเหตุแล้ว ทั้งนี้ บริเวณโดยรอบ มีอาคารลักษณะเดียวกันทั้งหมด 6 หลัง ซึ่งผู้ประกอบการได้ย้ายผู้เข้าพักไปยังอาคารอื่นแล้ว

IMG_6524

  • แนะองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ สำหรับ “อาคารที่ดี”

โดยทั่วไปแล้วการได้มาซึ่งอาคารที่ดี (Good Building) มีองค์ประกอบสำคัญ 4 ประการ โดย รศ.เอนก ศิริพานิชกร ประธานสาขาวิศวกรรมโยธา วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) ให้ข้อมูลกับ Builder News ว่า องค์ประกอบสำคัญทั้ง 4 นั้น ประกอบด้วย 1. การออกแบบที่ดี (Good Design) 2. การหนดวัสดุ และรายการประกอบแบบที่ดี (Good Specification) 3. การก่อสร้างที่ดี (Good Construction) และ 4. การบำรุงณักษาซ่อมแซมที่ดี (Good Maintenance and Repairs)

จากเหตุการณ์พังถล่มของอาคารโรงแรมดังกล่าว จะเห็นได้ว่า เป็นอาคารที่มีอายุการใช้งานที่ยาวนานพอสมควร หากนับจากวันที่ยื่นขออนุญาตก่อสร้างเมื่อปีพ.ศ. 2546 นับว่าเป็นกรณีที่พบได้น้อยรายมาก ที่เกิดการพังถล่มในลักษณะนี้ ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่ อาคารมักจะพังถล่ม หรือวิบัติระหว่างการก่อสร้าง (คิดเป็น 98% ของอาคารวิบัติทั้งหมด) ดังนั้น จึงเห็นได้ว่า ปัจจัยความสำเร็จทั้งหมด ของการได้มาซึ่งอาคารที่ดี ล้วนมีความจำเป็นมากในทุกปัจจัย

IMG_6510

  • อาคารได้รับอนุญาตก่อสร้างถูกต้อง เหตุถล่มเพราะอายุการใช้งานและขาดการบำรุง

เป็นที่กังขาว่า อาคารโรงแรมดังกล่าว ได้รับอนุญาตก่อสร้างอย่างถูกต้อหรือไม่ Builder News ได้สอบถามไปยัง นายสินิทธิ์ บุญสิทธิ์ ผู้อำนวยการสำนักควบคุม และตรวจสอบอาคาร และประธานคณะทำงานตรวจสอบกรณเกิดอุบัติภัยอาคาร กรมโยธาธิการและผังเมือง ซึ่งพบว่า อาคารโรงแรมที่เกิดเหตุถล่ม ได้รับอนุญาตก่อสร้าง จากองค์การบริหารส่วนตำบลเกาะช้าง (ปัจจุบันเป็นเทศบาลตำบลเกาะช้าง) เมื่อปีพ.ศ. 2546 โดยมีวิศวกรเป็นผู้ออกแบบ และควบคุมงาน ตามกฎหมายว่าด้วยการควบคุมอาคาร ที่ได้กำหนดมาตรฐาน และความมั่นคงแข็งแรงของโรงแรมไว้ครบแล้ว เช่น ต้องรับน้ำหนักบรรทุกจร ได้ไม่น้อยกว่า 200 กิโลกรัม/ตารางเมตร เมื่อก่อสร้างอาคารแล้วเสร็จ จะต้องยื่นขอใบรับรองการก่อสร้างอาคาร หรือใบ อ.6 เนื่องจากเป็นอาคารควบคุมการใช้ โดยเจ้าพนักงานท้องถิ่นต้องตรวจสอบว่า การก่อสร้างอาคาร ถูกต้องตามแบบแปลนที่ได้รับอนุญาตหรือไม่ เมื่อได้รับใบ อ.6 แล้ว ต้องยื่นขออนุญาตประกอบกิจการโรงแรม ตามกฎหมายว่าด้วยโรงแรม เมื่อได้รับอนุญาตแล้ว จึงจะสามารถประกอบกิจการโรงแรมได้

IMG_6518

  • ภาพรวมลักษณะของอาคารที่พังถล่ม

อาคารหลังดังกล่าว ตั้งอยู่บนลาดดิน ซึ่งมีปริมาณน้ำมาก หลากลงมาจากที่สูง และไหลผ่านดินฐานราก ทำให้กำลังแบกรับของฐานแผ่ตื้น (Shallow Spread Foundation) ลดลง และการไหลผ่านของน้ำใต้ฐาน อาจทำให้เม็ดดินขนาดละเอียดไหลออกจากใต้ฐาน เป็นผลให้ฐานตั้งอยู่บนเม็ดดินขนาดใหญ่ ทำให้เกิดน้ำหนักบรรทุก กระทำเป็นจุด และถ่ายน้ำหนักบรรทุกไม่ตรงศูนย์ฐาน ประกอบกับอาจมีการไหลกระแทกของน้ำ ที่หลากลงมาปะทะกับอาคาร เป็นน้ำหนักบรรทุกกระทำด้านข้าง (Lateral Load) เป็นเหตุให้เสาตอม่อในแถวสุดท้าย ที่มีผนังก่อมีความแข็งแรงมาก (Stiffness) จึงรับแรงมากกว่าเสาต้นอื่น ๆ ในแถวถัดขึ้นไป ทำให้ฐานพลิกคว่ำ และเกิดการวิบัติลง ซึ่งตรงกับที่พบในที่เกิดเหตุ ซึ่งโดยปกติแล้ว หากอาคารที่ทำการออกแบบก่อสร้าง มีโอกาสเกิดแรงกระทำด้านข้างแล้ว มีตวามจำเป็นต้องจัดสัดส่วนความชะลูดของเสา ให้ใกล้เคียงกัน หรือทำองค์อาคารยึด (Tied Members) เพื่อทำเป็นโครง (Frame) เพื่อให้ประสิทธิภาพ และสมรรถนะในการต้านแรงกระทำด้านข้างได้ดีขึ้น

IMG_6539

  • การบำรุงรักษาอาคาร มีความสำคัญ ต้องอย่าละเลย

การก่อสร้างอาคารในบริเวณเชิงลาด มักพบปัญหาระดับของอาคารที่แตกต่างกัน สามารถดำเนินการอย่างปลอดภัย ตามมาตรฐานการออกแบบ และการกำหนดวัสดุ รวมทั้งวิธีการก่อสร้างที่ดี เช่น มยผ. 1105-52 มาตรฐานงานฐานราก ซึ่งกำหนดระยะปลอดภัยของตำแหน่งฐานต่าง ๆ และวิธีการต่าง ๆ สำหรับการดำเนินการออกแบบก่อสร้างฐานรากบนเชิงลาด

ดังนั้น วิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ (วสท.) จึงย้ำความสำคัญให้ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่าย ได้ตระหนักถึงความปลอดภัย และปฏิบัติตามมาตรฐายวิศวกรรมที่ดี ในการก่อสร้างอาคารอย่างเคร่งครัด

ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ เกิดการถล่มลงมา เนื่องจากอายุการใช้งานของอาคาร ที่มีการเปิดใช้มายาวนาน แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของการบำรุงรักษาซ่อมแซมอาคาร โดยเจ้าของอาคาร จำเป็นต้องให้ความสนใจและใส่ใจหากพบปัญหาบกพร่อง เช่น รอยแตกร้าวในองค์อาคาร อันได้แก่ เสา คาน แผ่นพื้น ต้องให้วิศวกรเข้ามาตรวจสอบ และแก้ไขอย่างจริงจัง

เมื่อเกิดเหตุการณ์อาคารถล่ม เจ้าพนักงานท้องถิ่น มีอำนาจตามมาตรา 46 แห่งพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 ในการเข้าไปตรวจสอบอาคารอื่น ๆ ในบริเวณพื้นที่ใกล้เคียงได้ หากเห็นว่า อาคารใด มีสภาพหรือลักษณะ ที่บ่งชี้ว่า อาจเกิดอันตราย หรือไม่ปลอดภัยในการใช้งาน ก็สามารถสั่งให้เจ้าของอาคาร หรือผู้ครบคองอาคาร จัดการแก้ไข เช่นในกรณีนี้ อาจให้จัดหาวิศวกรโยธา เข้ามาดำเนินการตรวจสอบโดยละเอียด ตามหลักวิชาการ และดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ถูกจุด

Previous article“Coal Drops Yard” ไลฟ์สไตล์มอลชิคๆ ที่คืนชีพจากโกดังถ่านหินร้าง
ใจกลางกรุงลอนดอน
Next articleH-CAPE เตรียมส่งบ้านหรู H-CAPE MINERA พร้อมแคมเปญสุดพิเศษ “Flexi living” เลือกรับของแถมมูลค่ากว่าล้านบาท!!
กิตติยา เธียรนันทน์
บรรณาธิการเว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาคณะมนุษยศาสตร์ วิชาเอกภาษาฝรั่งเศส วิชาโทการผลิตสื่อเพื่อการประชาสัมพันธ์ เคยเป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ประจำสำนักข่าวหลักในประเทศ 2 แห่ง ปัจจุบันผันมาเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าววงการก่อสร้าง อสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม