จากกระแสข่าวที่กระทรวงคมนาคมกำลังเดินแผนย้ายสถานี หมอชิต ไปยังสถานที่แห่งใหม่บริเวณรังสิตนั้น ก็เป็นประเด็นคำถามที่หลายคนสงสัยว่าจะเป็นการแก้ไขปัญหาได้ถูกจุดหรือไม่ รวมถึงจะส่งผลดีหรือผลเสียในด้านใดบ้าง ซึ่งสื่อต่างๆ ก็ล้วนให้ความสนใจจนเกิดข้อวิพากษ์วิจารณ์ในหลายแง่มุม โดยเฉพาะปัญหาเรื่องการจราจรติดขัดและความลำบากในการเดินทาง

นายออมสิน ชีวะพฤกษ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม ได้ออกมาเปิดเผยแผนดำเนินการย้ายสถานีขนส่ง หมอชิต เนื่องจากสถานที่แห่งเดิมหรือหมอชิต 2 ที่ตั้งอยู่บริเวณบางซื่อนั้นได้ถูกการรถไฟแห่งประเทศไทยขอคืนเพื่อนำไปสร้างศูนย์คมนาคมขนส่งทางราง ส่งผลให้กระทรวงคมนาคมต้องหาทางออกโดยการย้ายสถานีขนส่งหมอชิตไปยังรังสิตซึ่งเป็นพื้นที่ของ บขส.เอง รวมถึงต้องขอเช่าพื้นที่ของการรถไฟแห่งประเทศไทยเป็นจำนวน 16 ไร่ ซึ่งอยู่ใกล้เคียงกับบริเวณเดิม เพื่อเป็นสถานีให้บริการเดินรถขนส่งสายเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือในระยะสั้นห่างจาก กทม. 200-300 กิโลเมตร

สำหรับสถานีแห่งใหม่บริเวณรังสิตนั้นจะมีพื้นที่ทั้งหมด 45 ไร่ โดยอาคารที่พักผู้โดยสารบริเวณด้านหน้านั้นจะติดกับถนนพหลโยธิน ส่วนถัดมาจะเป็นโซนสำหรับเติมก๊าซและน้ำมันของ ปตท. และส่วนท้ายที่สุดด้านหลังจะเป็นลานจอดรถ ซึ่งโดยรวมแล้วสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่ย่อมมีพื้นที่กว้างขวางมากกว่าหมอชิตเดิมอย่างเห็นได้ชัด ตรงตามวัตถุประสงค์ของ บขส. ที่ต้องการลดความแออัดและปัญหาจราจรในตัวเมือง แต่กระนั้นก็ยังเกิดข้อสงสัยว่าบริเวณรังสิตมีความเหมาะสมสำหรับการก่อสร้างเป็นสถานีขนส่งหมอชิตหรือไม่ เนื่องจากสภาพแวดล้อมรวมถึงถนนโดยรอบไม่เอื้ออำนวยต่อการรองรับผู้ใช้งานจำนวนมหาศาล หากสร้างสถานีขนส่งหมอชิตขึ้นที่รังสิตย่อมกระทบถึงสภาพการจราจรบริเวณดังกล่าวนี้อย่างแน่นอน

ทั้งนี้หนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจได้วิเคราะห์ถึงข้อเสียของการย้ายสถานีหมอชิตครั้งนี้ว่าเป็นการก่อปัญหามากกว่าการแก้ปัญหา เพราะสภาพการจราจรแถบรังสิตที่เคยคับคั่งเป็นทุนเดิมอยู่แล้วจะติดขัดหนักขึ้นไปอีก เป็นเพราะบริเวณดังกล่าวอยู่ใกล้กับห้างสรรพสินค้าฟิวเจอร์พาร์ครังสิตซึ่งเนืองแน่นไปด้วยผู้คนจำนวนมาก รวมถึงมีรถโดยสารสาธารณะไม่ว่าจะเป็นรถบัสประจำทาง รถตู้ รถแท็กซี่ รถสองแถว รถจักรยานยนต์รับจ้าง จอดรับส่งผู้คนกันเต็มถนนอย่างไม่เป็นระเบียบ อีกทั้งยังมีร้านค้าแผงลอยที่ตั้งขวางทางกันตามใจชอบ ล้วนทำให้การจราจรบนท้องถนนติดขัดทั้งสิ้น

นอกจากนี้บริเวณที่ตั้งของสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่อยู่บนถนนพหลโยธินซึ่งเป็นเส้นทางสายหลักที่เชื่อมกรุงเทพมหานครกับจังหวัดต่างๆ ในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ พร้อมกับถนนรังสิต-นครนายกก็มาบรรจบที่บริเวณดังกล่าวอีกเช่นกัน รวมถึงสภาพช่องคู่ขนานถนนพหลโยธินขาออกให้บริการได้เพียง 2 เลน ส่งผลให้บริเวณดังกล่าวเป็นจุดที่การจราจรคับคั่งโดยเฉพาะในเวลาชั่วโมงเร่งด่วน

ส่วนลักษณะทางกายภาพของสถานีขนส่งหมอชิตนั้นก็พบว่าไม่เอื้ออำนวยต่อการรองรับและระบายผู้โดยสารเช่นกัน เป็นเพราะจุดทางเข้าที่จะรองรับรถขาออกในช่วงเช้า-เย็น คับแคบจนเกินไป และยังประสบปัญหาจากการวางแนวท่อก๊าซของ ปตท. แนวสายไฟแรงสูงของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค รวมถึงยังมีทางลงโครงการทางด่วนโทลล์เวย์มาขวางทางอีก ดังนั้นการปักเสาตอม่อหรือก่อสร้างทางเข้าออกต้องวางแผนให้รอบคอบ

กระทรวงคมนาคมควรต้องเร่งทำการบ้านอย่างหนักเพื่อก่อสร้างสถานีขนส่งหมอชิตแห่งใหม่ให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด แม้ว่าจะประสบข้อจำกัดหลายประการจนต้องเลือกบริเวณสร้างสถานีขนส่งที่ไกลออกไป แต่ก็ต้องคำนึงถึงประชาชนผู้ใช้บริการด้วยการสร้างสิ่งอำนวยความสะดวกมารองรับ เพราะคงไม่มีใครอยากเสียค่าเดินทางและเวลาเพิ่มขึ้นในการแบกสัมภาระเดินทางเข้าถึงตัวเมืองเป็นแน่ นอกจากนี้ยังต้องศึกษาผลกระทบของสภาพการจราจรโดยละเอียดเพื่อลดข้อเสียให้น้อยที่สุด ไม่เช่นนั้นการย้ายสถานีขนส่งก็เป็นเพียงการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่จะช่วยลดปัญหาเดิมแต่เพิ่มเติมภาระใหม่ๆ ให้ประชาชนอย่างไม่สิ้นสุด

aaaMAP-3162

source : thansettakij

 

Previous articleนิทรรศการภาพถ่าย: Antoine de Saint-Exupéry – Passions & Inspirations
Next articleย้อนดูผลงาน Zaha Hadid กับโปรเจค “ศูนย์วัฒนธรรมนานาชาตินานกิง” ดีไซน์โดดเด่น สุดอลังฯ
วีรศักดิ์ ประสพบุญ
Content Writer เว็บไซต์ Builder News สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโท จากคณะมนุษยศาสตร์ สาขาวิชานิเทศศาสตร์และสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยปฏิบัติงานเป็นนักวิชาการด้านศิลปวัฒนธรรมสังกัดกรุงเทพมหานคร ปัจจุบันเป็นนักเขียนและผู้สื่อข่าวด้านรถเพื่อการพาณิชย์ การก่อสร้างอสังหาริมทรัพย์ และสถาปัตยกรรม