สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน เผยความสำเร็จการจัดทำ คุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอาชีพผู้ควบคุมการก่อสร้าง เชื่อมั่นเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญของการยกระดับมาตรฐานและความเชื่อมั่น วิชาชีพก่อสร้างไทย ซึ่งเป็นอีกภารกิจสำคัญของการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ด้านทุนมนุษย์ของสมาคมฯ
จากการดำเนินงานโครงการจัดทำมาตรฐานอาชีพ และ คุณวุฒิวิชาชีพ สาขาอาชีพผู้ควบคุมการก่อสร้าง ซึ่งเป็นการดำเนินการร่วมกันระหว่าง สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) โดยวิทยาลัยเทคนิคดุสิต สถาบันคุณวุฒิวิชาชีพ (องค์กรมหาชน) และ สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน ที่วันนี้มีความคืบหน้าไปอีกขั้น เหลือเพียงรอประกาศใน ราชกิจจานุเบกษาเพื่อประกาศใช้อย่างเป็นทางการเท่านั้น
ดร.พัชรา ตัณฑยรรยง กรรมการกิตติมศักดิ์สมาคมธุรกิจรับสร้างบ้าน (HBA:Home Builder Association) เปิดเผยถึงความสำคัญของระบบคุณวุฒิวิชาชีพว่า มาตรฐานวิชาชีพมีความสำคัญอย่างมากในโลกของการทำงานจริง เพราะจะสะท้อนถึงสมรรถนะในการทำงานในสาขานั้น ๆ ว่าเป็นอย่างไร ทั้งนี้มาตรฐานอาชีพ ที่ทางสมาคมธุรกิจรับสร้างบ้านร่วมกับพันธมิตรจัดทำขึ้นก็เป็นการตอกย้ำถึงความสามารถและระดับสมรรถนะของบุคคลในการประกอบอาชีพให้เป็นที่ยอมรับทั้งในประเทศและระดับอาเซียน
“มาตรฐานอาชีพสาขาอาชีพผู้ควบคุมการก่อสร้างที่ทางสมาคมฯ ได้จัดทำขึ้นเป็นโมเดลที่คิดขึ้นเพื่อตอบโจทย์ธุรกิจรับสร้างบ้านที่ต้องการสร้างการยอมรับและยกระดับขีดความสามารถของบุคลากรในสาขาอาชีพนั้น ๆ ทั้งในด้านทักษะในงาน ความรู้ความเข้าใจ รวมถึงมีการปฏิบัติงานที่มีประสิทธิผลตามมาตรฐานที่ต้องการของภาคธุรกิจรับสร้างบ้าน”
นอกจากนี้มาตรฐานอาชีพที่สร้างขึ้นก็เพื่อตอกย้ำว่าผู้ปฏิบัติงานจำเป็นต้องมีทั้ง “ความรู้” ควบคู่กับ “ทักษะวิชาชีพ” ที่ได้จากการฝึกอบรมและจากการลงมือปฏิบัติจริง สุดท้ายแล้วผู้บริโภค ซึ่งก็หมายถึงผู้ปลูกสร้างบ้านบนที่ดินของตัวเองจะเกิดความมั่นใจ และเชื่อมั่นได้ว่าบ้านที่สร้างเสร็จที่ได้รับมอบมานั้นได้คุณภาพและมาตรฐาน
ทั้งนี้ จากข้อมูลที่ได้จัดเก็บจากการจัดงาน “รับสร้างบ้าน Home Builder Focus 2016” เมื่อวันที่ 10-13 มีนาคม 2559 ที่ผ่านมาพบว่า ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการบริษัทรับสร้างบ้านนั้น คือ ชื่อเสียงของบริษัท 65 % รองลงมาเป็นเรื่องของคุณภาพของงานก่อสร้าง 51 % คุณภาพของวัสดุที่ใช้ 57 % ราคาก่อสร้างของแต่ละบริษัท 38% และการรับประกันอีก 37%
จากข้อมูลดังกล่าวเห็นได้ว่า คุณภาพการก่อสร้าง วัสดุที่เลือกใช้ และการรับประกัน ล้วนส่งผลต่อการตัดสินใจเลือกใช้บริการรับสร้างบ้านเป็นอย่างมาก ขณะที่ชื่อเสียงที่สั่งสมก็เป็นผลโดยตรงจากผลงานที่ผ่านมา ทำให้ สมาคมฯ เชื่อมั่นว่าการให้ความสำคัญกับการพัฒนาทุนมนุษย์ รวมถึงการพัฒนามาตรฐานอาชีพจะเป็นอีกแรงผลักดันให้ธุรกิจรับสร้างบ้านได้รับการยอมรับในมาตรฐาน และส่งผลต่อการเติบโตของอุตสาหกรรมนี้ในระยะยาว โดยคาดว่าปีนี้ตลาดรวมรับสร้างบ้านจะมีมูลค่า 12,000 ล้านบาท เติบโตจากปีก่อน 15%
ในส่วนของแผนพัฒนาทุนมนุษย์และการต่อยอดความมั่นคงทุนมนุษย์นั้น ดร.พัชรา กล่าวว่า สมาคมฯ ให้ความสำคัญอย่างต่อเนื่อง โดยมองถึงความยั่งยืนของการปฏิบัติงาน (Sustainable Human Capital) ด้วยการจัดหาบุคลากรทั้ง 3 สายงาน ได้แก่ ผู้ควบคุมการก่อสร้าง เจ้าหน้าที่เขียนแบบ และ เจ้าหน้าที่ประมาณราคา ซึ่งสมาคมฯ ดำเนินการผ่านกิจกรรมต่าง ๆ ได้แก่ โครงการจัดการอาชีวศึกษาระบบทวิภาคีสาขาวิชาช่างก่อสร้างระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) และ โครงการร่างหลักสูตรมาตรฐานอาชีพผู้ควบคุมการก่อสร้าง (วุฒิทางอาชีพ) ในระดับ 4-5 หรือเทียบเท่า ปวส.และปริญญาตรี ซึ่งทั้งสองโครงการถือเป็นโครงการที่มีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาและยกระดับมาตรฐานให้กับธุรกิจรับสร้างบ้านอย่างแท้จริง
“การดึงคนรุ่นใหม่เข้ามาทำงานในอุตสาหกรรมนี้ให้มากขึ้น นอกจากจะเป็นการพัฒนามาตรฐานงานรับสร้างบ้านให้เป็นที่ยอมรับมากขึ้นแล้ว ยังเป็นการช่วยบรรเทาหรือแก้ไขปัญหาขาดแคลนกำลังคนอาชีวศึกษาในระยะยาวได้อีกด้วย” ดร.พัชรา กล่าวในตอนท้าย