ปัญหาบ้านเบสิคที่มักเกิดกับตึกแถว หรือบ้านเก่าที่ตั้งอยู่ริมถนน คือปัญหาเสียงรบกวนและฝุ่นควันจากรถราที่ใช้เส้นทาง ถ้าใกล้ถนนสายหลักมีรถใหญ่วิ่งผ่าน บ้านจะสั่นไหวทำให้เกิดปัญหาบ้านร้าวได้อีกด้วย ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อใดที่มีการเทปรับระดับความสูงถนนเพิ่มขึ้นอย่างน้อย ๆ ก็ครั้งละประมาณหนึ่งฟุต หรือทำถนนใหม่ขึ้นมา พื้น บ้านชั้นล่างจะมีระดับต่ำกว่าถนนทันที
ปัญหาจะเกิดเมื่อฝนตกหนัก น้ำระบายไม่ทัน ก็จะเอ่อไหลเข้าท่วมพื้นบ้านชั้นล่าง แม้บ้านบางหลังเตรียมรับมือปัญหานี้เอาไว้ล่วงหน้าด้วยการหล่อแนวขอบคัน คอนกรีตกั้นน้ำเตรียมไว้ ก็ยังมีน้ำซึมจากพื้นบ้านตามขอบมุมที่พื้นชนผนังและยาแนวกระเบื้องได้
ดังนั้นเมื่อถนนสูงกว่าบ้าน จะมีแนวทาง 3 ประการในการปรับตัวให้เข้ากับสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนไป
1. แก้ปัญหาบ้านโดยการปรับยกระดับพื้นบ้าน
บางบ้านอาจทำการยกระดับพื้นบ้านชั้นล่าง ให้มีความสูงอย่างน้อยเท่ากับระดับถนน วิธีแก้ปัญหาบ้านวิธีนี้เหมาะกับระดับความสูงที่ต่างกันไม่มากนัก ประมาณครึ่งถึงหนึ่งฟุต เพราะเมื่อปรับพื้นบ้านสูงขึ้นย่อมทำให้ความสูงโดยรวมภายในห้องลดลง ปัญหาที่จะตามมาคือ
– เพดานที่ดูเตี้ยลงจะทำให้รู้สึกอึดอัด
– หน้าต่างเตี้ยลงทำให้คนภายนอกมองเห็นภายในบ้านได้มากขึ้นและน่าเป็นห่วง เรื่องความปลอดภัย อาจจะต้องถอดบานประตูออกมาตัดช่วงล่างออกให้พอดีกับความสูงของพื้นที่เพิ่ม ขึ้น
– ปลั๊กไฟที่เคยสูงกว่าพื้นเล็กน้อยก็จำเป็นจะต้องย้ายมาติดตั้งในตำแหน่งที่สูงขึ้น
– บันไดขึ้นชั้นบนจะหายไปทันทีหนึ่งถึงสองขั้น
– ความต่างระดับของพื้นบ้านกับพื้นห้องน้ำก็จะทำให้ใช้งานสะดวกน้อยลง
สำหรับเจ้าของบ้านเดี่ยวที่พอจะมีงบประมาณมากหน่อยอาจเลือกใช้วิธีดีดยกบ้านทั้งหลังทีเดียว เป็นการตัดโครงสร้างช่วงเสาตอม่อแยกตัวบ้านออกจากฐานราก แล้วค้ำยกตัวบ้านขึ้นในระดับความสูงที่ต้องการด้วยค้ำยันไฮโดรลิค จากนั้นทำโครงสร้างเสริมรับส่วนเสาตอม่อที่ถูกตัดแยกออก ให้น้ำหนักตัวบ้านถ่ายลงฐานรากของบ้านดังเดิม
ซึ่งวิธีการนี้จะแก้ไขปัญหาเรื่องเพดาน หน้าต่างเตี้ย ย้ายปลั๊กไฟฟ้าได้ แต่ก็จำเป็นต้องมีวิศวกรตรวจสอบ ประเมินตัวบ้านก่อนว่าสามารถทำตามความต้องการเจ้าของบ้านได้มากน้อยเพียงใด และจะต้องมีวิศวกรควบคุมระหว่างงานก่อสร้างด้วย
ถ้าถนนสูงกว่าพื้นบ้านชั้นล่างครึ่งถึงหนึ่งเมตร ก็ควรพิจารณาความสูงของบ้านชั้นล่าง รวมทั้งประเด็นข้างต้นเสียก่อน ถ้าจะยกพื้นบ้านให้สูงขึ้นให้เท่าๆ กับถนน จะต้องทุบพื้นเก่าทิ้ง อาจหล่อคานปูนเสริมจากคานเดิมให้มีระดับสูงขึ้นหรือ ทำคานเหล็กยึดกับเสาบ้านที่ระดับความสูงที่ต้องการ จากนั้นทำพื้นบ้านชั้นล่าง โดยอาจเทพื้นปูน
อีกหนึ่งวิธีแก้ไขปัญหาสำหรับบ้านที่ถนนสูงกว่าพื้นบ้านชั้นล่างครึ่งถึงหนึ่งเมตร คือเลือกวางตงเหล็กพาดบนแนวคานชุดใหม่ แล้วปูแผ่นสมาร์ทบอร์ดเป็นพื้นในลักษณะพื้นโครงสร้างเบาก็ได้ แม้พื้นโครงสร้างเบาจะรับน้ำหนักบรรทุกได้น้อยกว่าพื้นปูน แต่ก็เพิ่มภาระน้ำหนักให้กับโครงสร้างบ้านเดิมน้อยกว่าพื้นปูนเช่นกัน
2. แก้ปัญหาบ้านโดยการปรับการใช้สอยพื้นที่
ปรับการใช้งานจากเดิมโดยยินยอมให้น้ำไหลผ่านได้อย่างสะดวก เช่น
– เปลี่ยนมาใช้เฟอร์นิเจอร์ที่มีขาสูงแช่น้ำได้
– ใช้ชั้นวางของแบบยึดติดกับผนัง
– พื้นอาจปูกระเบื้องให้ทำความสะอาดง่าย
– ไม่กองวางสิ่งของไว้บนพื้น
3. แก้ปัญหาบ้านโดยการปรับปรุงพื้นที่โดยรอบตัวบ้าน
เลือกคงลักษณะการใช้งานตามปกติแล้วไปจัดการปรับบริเวณรอบบ้าน โดยการทำขอบคันกั้นและขุดบ่อดักน้ำเอาไว้ แล้วใช้ปั๊มสูบน้ำออกภายนอกบริเวณบ้าน
สำหรับน้ำทิ้งที่ไหลย้อนกลับมาทางท่อระบายน้ำสาธารณะ จะมารวมกันที่บ่อพักน้ำภายนอกบ้านก่อน จึงควรจัดการระบายน้ำที่จุดนี้ โดยอุดปิดตรงปากทางท่อระบายน้ำด้านที่ส่งน้ำลงท่อสาธารณะแล้วต่อขอบบ่อพัก เดิมให้สูงขึ้น ติดตั้งปั๊มจุ่มเพื่อสูบน้ำออก เพื่อให้สามารถรับน้ำทิ้งจากบ้านได้ตามปกติ
หรือถ้าพื้นบ้านชั้นล่างต่ำกว่าถนน แต่ไม่มีปัญหาน้ำท่วมขังรั่วซึมจากพื้น อาจเลือกทำโครงเหล็กยกสูงตามต้องการติดตั้งบนพื้นบ้านเดิม ปูด้วยแผ่นพื้นซีเมนต์บอร์ด พื้นแบบนี้มีข้อดีตรงน้ำหนักเบา และสามารถเดินท่องานระบบใต้พื้นได้แต่ตัวพื้นเองแบกรับน้ำหนักได้ไม่มาก
ปัญหาบ้านเก่าลักษณะนี้ยังคงมีอีกเรื่องที่ควรทำ (เนื่องจากพื้นที่ต่ำย่อมรับน้ำ) คือการเปลี่ยนมาใช้ถังบำบัดแทนการใช้บ่อเกรอะบ่อซึม เพราะเมื่อไหร่ที่ปริมาณน้ำในดินมาก จะชำระระบายน้ำทิ้งไม่สะดวก เช่น ในช่วงฤดูฝนที่มีฝนตกชุก จะมีน้ำในดินปริมาณมากรอบๆ บ่อซึม ทำให้น้ำในบ่อซึมออกได้น้อย ปริมาณน้ำในบ่อสูง จึงรับน้ำที่ชำระจากส้วมได้น้อยลง ดังนั้นเวลาที่กดชำระโถชักโครกบางครั้งจึงเกิดอาการระบายน้ำได้ช้า ระบายน้ำไม่ลง เป็นต้น
Source : SCG
พีระพงษ์ บุญรังษี
SCG Experience Architect