ราคาตลาดอสังหาฯ ในประเทศญี่ปุ่นยังคงมีมูลค่าเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะประสบปัญหาภาวะเศรษฐกิจซบเซาก็ตาม ทั้งนี้เป็นผลมาจากการดำเนินนโยบาย Abenomics ซึ่งเป็นแนวทางการเพิ่มเงินหมุนเวียนในประเทศภายใต้แนวคิดของนายกรัฐมนตรีคนปัจจุบันของประเทศญี่ปุ่น ชินโซ อาเบะ ที่เข้ามาดำรงตำแหน่งเมื่อเดือนธันวาคม ปี พ.ศ. 2555 โดยนโยบายดังกล่าวได้ช่วยประคองตลาดอสังหาริมทรัพย์ของประเทศญี่ปุ่นให้ขยายตัวจนถึงปัจจุบัน
นโยบาย Abenomics ได้ช่วยกระตุ้นตลาดอสังหาฯ ด้วยการเพิ่มการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐานสาธารณะ ซึ่งเป็นการสนองมาตรการผ่อนคลายเชิงปริมาณ (QE) โดยธนาคารกลางญี่ปุ่น (BOJ) และนับตั้งแต่การใช้มาตรการ Abenomics ราคาอสังหาริมทรัพย์ในประประเทศญี่ปุ่นก็เพิ่มสูงขึ้นตามลำดับ ตั้งแต่ปี 2555 และสูงตัวขึ้นอย่างยิ่งในปี 2556 ส่งผลให้ตลาดอสังหาฟื้นตัวคืนมาอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะราคาอสังหาฯ ในกรุงโตเกียว และเขตใกล้เคียง ยังมีมูลค่าเพิ่มขึ้นตามลำดับ ตามผลสำรวจอสังหาฯ ในช่วงสิ้นเดือนพฤษภาคม 2559 ดังนี้
คอนโดมิเนี่ยม(ยูนิตเก่า) มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 3.73% โดยมีราคาเฉลี่ย 469,700 เยน (4602 US $ ) ต่อตารางเมตร
คอนโดมิเนี่ยม(ยูนิตใหม่) มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 21.2% โดยมีราคาเฉลี่ย 823,000 เยน (8,063 US $) ต่อตารางเมตร
บ้านอยู่อาศัย มูลค่าลดลงเล็กน้อยที่ 1.9 % โดยมีราคาเฉลี่ยหลังละ 32,410,000 เยน (317,512 US$ )
ส่วนราคาอสังหาฯ ในเขตโอซาก้าและบริเวณใกล้เคียง มีอัตราดังนี้
คอนโดมิเนี่ยม(ยูนิตเก่า) มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 7.5% โดยมีราคาเฉลี่ย 288,000 เยน (2821 US $ ) ต่อตารางเมตร
คอนโดมิเนี่ยม(ยูนิตใหม่) มีมูลค่าลดลง 11.1% โดยมีราคาเฉลี่ย 529,100 เยน (5,183 US $) ต่อตารางเมตร
บ้านอยู่อาศัย ราคาเพิ่มขึ้น 6.7 % โดยมีราคาเฉลี่ยหลังละ 20,510,000 เยน (200,931 US$ )
ด้านราคาที่ดินเปล่าก็มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้นเล็กน้อยด้วยเช่นกัน ซึ่งระยะเวลาปีก่อนหน้านี้จนถึงเดือนพฤษภาคม 2016 ราคาที่ดินเฉลี่ยในโตเกียว เพิ่มขึ้น 0.5 % หรือ 198,500 (1,945 US$) ต่อตารางเมตร ขณะที่เมืองโอซาก้านั้น ราคาที่ดินก็ได้เพิ่มขึ้นเช่นกันในอัตรา 3.8% หรือ 136,500 (1,332 US$) ต่อตารางเมตร
ด้านการซื้อขายอสังหาฯ ในช่วงต้นปีที่ผ่านก็ยังเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยอัตราการขายคอนโดมิเนียมในกรุงโตเกียวเพิ่มขึ้น 5.4% (16,152 ยูนิต) ส่วนบ้านที่อยู่อาศัยก็มีการขายเพิ่มขึ้น 14.3% (8,224 ยูนิต) สำหรับในพื้นที่เขตโอซาก้า การซื้อขายคอนโดมิเนียมก็ได้เพิ่มสูงขึ้น 0.3% (7,508 ยูนิต) ขณะที่บ้านพักอาศัยก็เพิ่มขึ้น 8.4 % (5,642 ยูนิต) ส่วนการซื้อขายที่ดินเปล่าพบว่าได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก โดยในกรุงโตเกียวมีการซื้อขายเพิ่มขึ้น 25.5% (5,096 ยูนิต) และในเขตโอซาก้า การซื้อขายที่ดินก็เพิ่มขึ้นเช่นกันในอัตราที่ 21.7 % (1,162 ยูนิต)
สำหรับราคาบ้านในประเทศญี่ปุ่นคาดว่ายังคงค่อยๆ สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดจนสิ้นปี 2559 นี้ นอกจากนี้การที่ประเทศญี่ปุ่นได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2563 ส่งผลกระตุ้นตลาดอสังหาฯ และงานก่อสร้างขึ้นไปอีก 7 ปีข้างหน้า สำหรับมุมมองของนักลงทุนสหรัฐอเมริกา ยังคงเห็นว่าตลาดอสังหาฯ ประเทศญี่ปุ่น ที่ผ่านมาได้รับการหนุนจากการที่เงินเยนแข็งตัวขึ้น จากเมื่อช่วงเดือนมิถุนายนปีที่แล้วอัตราแลกเปลี่ยนเงินเยนอยู่ที่ 123.725 เยน ต่อ 1 US ดอลล่าร์ เป็น 105.356 เยน ต่อ 1 US ดอลล่าร์ ในช่วงเดือนมิถุนายนปีนี้ แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเทียบกับค่าเงินเยนในช่วงก่อนปี 2555 แล้วยังถือว่า อ่อนตัวกว่าช่วงก่อนหน้าอยู่มาก
Source : globalpropertyguide