ACT FORUM’19 อีเวนต์สดใหม่ระดับนานาชาติ เพื่อสถาปนิกทุกสาขาครั้งแรกในไทย

ทุกครั้งที่มีการจัดงานด้านสถาปัตยกรรมและวัสดุก่อสร้าง เป็นช่วงเวลาพิเศษ ๆ ที่ทำให้เรารู้จักงานออกแบบมากขึ้น รู้ว่าอะไรที่มีความสำคัญกับชีวิตของเรา สร้างมุมมองการพัฒนาในสายงาน และเจาะชัดเจนว่าเทรนด์ของโลกมันหมุนไปถึงไหน อย่างไร

แต่อะไรคือ ACT FORUM’19 หรืองานสภาสถาปนิก’19 ? เพื่อให้เข้าใจกันมากขึ้น วันนี้เราจะมาเจาะรายละเอียดกันว่ามีแนวความคิดอย่างไร และพาไปรู้จักกับสาขางานออกแบบที่น่าสนใจซึ่งรวบรวมไว้ในงาน ACT FORUM’19 ในครั้งนี้ด้วย

งาน ACT FORUM’19 หรือที่เห็นในโปสเตอร์ภาษาไทยว่า “สภาสถาปนิก’19 ” มีสภาสถาปนิกและบริษัท อารยะ เอ็กซ์โป จำกัด เป็นผู้ดำเนินการก่อตั้งขึ้นนั่นเอง การเปิดตัวงาน ACT FORUM’19 เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 2561 ที่ผ่านมา แจกทีเด็ดไม่เหมือนใครที่ทำให้เราต้องไม่พลาดไปด้วยเหตุผลหลาย ๆ ประการ ต่อไปนี้

ข้อแรก งานนี้เป็นงานประชุมที่รวบสาขาด้านสถาปัตยกรรมไว้อย่างสมบูรณ์ และเป็นเนื้องานระดับนานาชาติทำให้เห็นความเปลี่ยนแปลงของวงการในระดับมหภาคยิ่งขึ้น

ข้อที่ 2 งานนี้เป็นงานที่รวบรวมองค์ความรู้เพื่อสถาปนิกไว้อย่างครบถ้วนทั้ง 4 สาขา พี่น้องนักออกแบบคนไหนที่เคยอยากอัปเดตความรู้ดี ๆ รวมถึงความเป็นไปในทุกด้านที่เกี่ยวข้องกับสถาปัตยกรรม ทางสภาสถาปนิกแจงรายละเอียดไว้ว่าดึงขึ้นมาไว้ให้อิ่มเอมแรงบันดาลใจกันครบ ปล่อยของกันสุดฤทธิ์ ได้แก่ สถาปัตยกรรมหลัก (Architecture) สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ (Interior Design) ภูมิสถาปัตยกรรม (Landscape Architecture) และ สถาปัตยกรรมผังเมือง (Urban Design)

ใครที่แยกไม่ออกว่าทั้ง 4 สาขานี้แตกต่างกันอย่างไร มาลองดูคำอธิบายง่าย ๆ ไปพร้อมกัน

สาขาสถาปัตยกรรมหลัก / Architecture

สถาปัตยกรรม คือตัวแทนความคิดและสัญลักษณ์ทางวัฒนธรรมของสังคมในแต่ละยุค โดยทำหน้าที่เป็นสิ่งปลูกสร้างที่ตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์ทั้งด้านประโยชน์ใช้สอยในฐานะปราการปกป้องผู้อยู่อาศัยจากสภาพแวดล้อม และตอบสนองความต้องการทางจิตใจหรือไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิต

ที่มาของความมั่นคงสวยงามทั้งหมดเกิดขึ้นจาก “สถาปนิกสาขาสถาปัตยกรรมหลัก” นักสร้างสรรค์อาคารบ้านเรือนจากองค์ประกอบทางศาสตร์ศิลป์ ได้แก่ การจัดวางที่ว่าง ทัศนศิลป์ และวิศวกรรมการก่อสร้าง นำมาผสมผสานกันอย่างลงตัวเพื่อสร้างสมดุลตอบสนองความต้องการด้านวัตถุและจิตใจของมนุษย์

สาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ / Interior Architecture

เมื่อสาขาสถาปัตยกรรมหลัก คือการสร้างเปลือกหุ้ม (Shell) ขึ้นบนที่ว่าง จึงกำเนิดสาขาสถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์เข้ามาสอดรับ เพื่อสร้างความสมบูรณ์ให้พื้นที่สมบูรณ์พร้อมอยู่อาศัยและใช้งาน หลายคนมักเข้าใจบทบาทของงานสถาปัตยกรรมภายในคลาดเคลื่อน ว่าเป็นการตกแต่งที่เน้นความสวยงามภายใน ทว่าในความเป็นจริง ไม่เพียงแค่การจัดวางเครื่องเรือนหรือ การตกแต่งพื้นผิวรองพื้น ผนัง เพดาน ในอาคารเท่านั้น แต่หน้าที่ของมัณฑนากรคือการออกแบบทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่ภายในเปลือกหุ้ม (Shell) ของสถาปัตยกรรม ซึ่งสถาปนิก ต้องรู้ เข้าใจ และทำงานเชื่อมโยงกับระบบโครงสร้างอาคาร ระบบไฟฟ้า ระบบเครื่องกล ระบบสุขาภิบาล และระบบเทคโนโลยีสารสนเทศอื่น ๆ ในปัจจุบัน โดยเฉพาะในอาคารขนาดใหญ่ ซึ่งต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของสาธารณะ

สถาปัตยกรรมภายในที่ดีต้องเริ่มต้นทำงานพร้อมกับสถาปัตยกรรมและวิศวกรรมและอาจต้องพิจารณาถึงภูมิสถาปัตยกรรมและเงื่อนไขของสถาปัตยกรรมผังเมืองด้วย โดยเน้นการจัดการองค์ประกอบภายในที่ว่างของสถาปัตยกรรมที่สนองต่อประโยชน์ใช้สอยและความงามที่เกิดจากความต้องการและพฤติกรรมของผู้ใช้ที่มีความแตกต่างกันตามแต่ละบริษัทของสังคม และสภาพแวดล้อมประเภทต่าง ๆ

สาขาภูมิสถาปัตยกรรม / Landscape Architecture

งานสร้างสรรค์เพื่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิตที่ดีเป็นคําจํากัดความแบบย่อๆ ของสาขาวิชาชีพนี้และถือเป็นหน้าที่รับผิดชอบและงานบริการหลักของภูมิสถาปนิก ขอบเขตของงานภูมิสถาปัตยกรรม ที่ถึงแม้จะเป็นเพียงส่วนพื้นที่ภายนอกอาคาร แต่ก็ครอบคลุมพื้นที่ที่มีทั้ง ลักษณะ การใช้งาน และขนาดที่หลากหลาย จากพื้นที่อยู่อาศัย สวนสาธารณะ เมือง ชนบท รวมไปถึงพื้นที่ธรรมชาติที่มีขนาดใหญ่มากๆ ด้วย ดังนั้นงานภูมิสถาปัตยกรรมจึงมีตั้งแต่การศึกษา การออกแบบ การวางผัง และการวางแผน การใช้งานพื้นที่ที่เน้นการรักษา ฟื้นฟูและสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อม ที่สมดุลกันระหว่างธรรมชาติและความต้องการของมนุษย์เพื่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ยั่งยืน

สาขาสถาปัตยกรรมผังเมือง / Urban Design

ปิดท้ายกันที่สาขาสุดท้ายอย่าง “สถาปัตยกรรมผังเมือง” สาขาวิชาชีพสถาปัตยกรรมที่ใช้ศาสตร์และศิลป์ในการออกแบบวางผังทางกายภาพเป็นสามมิติ เพื่อสร้างสรรค์องค์ประกอบและสภาพแวดล้อมของเมือง ชุมชนเมือง ชุมชน และโครงการ กลุ่มอาคารที่มีการใช้งานประเภทเดียวกันหรือหลายประเภท รวมถึงการวางผังเพื่อกำหนดกิจกรรม พื้นที่ ขนาด ความหนาแน่น ความสูง ที่โล่งและที่ว่างระหว่างอาคาร และโครงสร้างระบบสาธารณูปโภคและสาธารณูปการภายในพื้นที่ดังกล่าว เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุดในทุก ๆ ด้าน ไม่ว่าจะด้านการบริหารจัดการพื้นที่ ความลงตัวของการใช้งาน ความสวยงามที่จะเป็นภาพลักษณ์ ความสะดวกสบายของประชากรในการใช้พื้นที่ การจัดสรรพื้นที่เพื่อการพาณิชยกรรม อุตสาหกรรม ที่จะไม่ส่งผลกระทบต่อผู้อยู่อาศัยโดยรอบ

ทั้งนี้ การออกแบบวางผังทางกายภาพของสถาปัตยกรรมผังเมืองจะใช้ข้อมูลของแผนเมืองและชุมชน ที่ได้มาจากการศึกษาวิจัยในมิติต่าง ๆ ทางด้านเศรษฐศาสตร์ สังคมศาสตร์ ประชากรศาสตร์ วัฒนธรรม สิ่งแวดล้อม ของเมืองและชุมชนนั้น ๆ เพื่อความรอบคอบสูงสุด

การกำหนดพื้นที่เมืองอย่างครอบคลุมของสถาปนิกนักออกแบบผังเมืองก่อนปลูกสร้างอาคารจริง มีบทบาทต่อการกำหนดการดำเนินชีวิตองค์รวมของผู้ที่เกี่ยวข้องกับพื้นที่ด้วยทั้งทางตรงและทางอ้อม การสร้างสรรค์จึงรัดกุมและมีข้อผูกพันทางกฎหมายในการพิจารณาร่วมด้วยเสมอ

ข้อสุดท้าย งานนี้รวบรวมผู้ประกอบการด้านผลิตภัณฑ์ก่อสร้างไว้มากกว่า 500 รายภายในงาน ทำให้เห็นว่าวัสดุและเทคโนโลยีเหล่านั้นนำมาต่อยอดความคิดในการออกแบบ เปิดมุมมองใหม่สำหรับเลือกใช้วัสดุและเทคโนโลยีในชีวิตจริง

ปีนี้สภาสถาปนิกจับมือกับอารยะ เอ็กซ์โปจัดงานประชุมนานาชาติทางสถาปัตยกรรม และแสดงเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์ก่อสร้างขึ้นเป็นครั้งแรก ระหว่างวันที่ 14-17 พฤศจิกายน 2562 ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี รู้อย่างนี้แล้วก็อย่าพลาดไปเข้าร่วมงานด้วยกัน เรามั่นใจว่าน่าจะเป็นอีเวนต์ม้ามืดส่งท้ายปีนี้ที่ไม่ทำให้ต้องผิดหวังอย่างแน่นอน

Previous article“กระเบื้อง” วัสดุแก้ความจำเจข้ามกาลเวลาของสถาปนิก ที่มีรูปแบบให้เลือกมากกว่าเซรามิก
Next articleมุ้งลวดกรอง PM 2.5 ปะทะผ้าม่านสังเคราะห์แสง เจาะนวัตกรรมสู้ฝุ่นรอบโลกที่ออกโรงเคลื่อนไหวกันอย่างเมามัน