ถ้าพูดถึงมหาวิทยาลัยด้านการออกแบบที่ไม่แพ้ใครในประเทศ ชื่อของ “มหาวิทยาลัยศิลปากร” ชาวเขียวเวอร์ริเดียนย่อมเป็นหนึ่งในมหาวิทยาลัยที่พูดถึงมากที่สุดแห่งหนึ่ง เพราะความเจ๋งเรื่องการออกแบบที่ไม่เป็นสองรองใคร
ล่าสุดคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากรจัดเทศกาล “เข้าท่า” หรือ ARCH SU FEST ขึ้นเพื่อต้อนรับการย้ายการเรียนการสอนและกิจกรรมทั้งหมดของคณะฯ กลับสู่อาคารเรียนที่ถูกปรับปรุง เราจึงไปเก็บภาพบรรยากาศและ 3 ผลงานที่น่าสนใจจากอดีตนักศึกษามหาวิทยาลัยศิลปากรที่ปัจจุบันมีชื่อเสียง บางคนก่อตั้งบริษัทออกแบบสถาปัตยกรรมเป็นของตัวเอง บางคนก็สร้างผลงานเด็ด ๆ ไว้อย่างน่าสนใจ ลองมาดู 3 คอนเซ็ปต์ของรุ่นพี่ที่กลับมาเยือนและนำผลงานมาจัดวางรอบตึกคณะกันว่าแต่ละคนเขาจะถอดเรื่องราววัยเรียนมาไว้ในนี้ได้ดีแค่ไหน
INSTALLATION ART
ผลงาน Installation Art จาก 3 สถาปนิกไทยชื่อดังที่ก่อตั้งบริษัทเป็นของตัวเองในวันเปิดงานที่กลับมาเยือนวันเข้าท่า ได้แก่ Hypothesis, PHTAA และบริษัท ธ.ไก่ชน เรามีโอกาสได้ฟังพวกเขาอธิบายคอนเซ็ปต์ทั้งหมดใต้โถงคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ด้วยตัวเอง ในวันเปิดงานวันที่ 14 ธันวาคม ที่ผ่านมา
Hypothesis คือชื่อของสำนักงานออกแบบสถาปัตยกรรมและออกแบบภายในชื่อดังในวงการที่เคยคว้ารางวัลสำคัญ ๆ มากมายในระดับสากล โดยคุณบิว-มนัสพงษ์ สงวนวุฒิโรจนา ที่มาทอล์กเปิดงานเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้ง โดยเล่าเรื่องการออกแบบผลงานชิ้นนี้ที่อยู่ด้านข้างอาคารบริเวณ จัดวางตำแหน่งหน้ากำแพงไว้ว่า “ตั้งใจออกแบบผลงานที่ไม่บดบังผลงานของสถาปนิกท่านอื่น และสิ่งที่ออกแบบชิ้นนี้รุ่นน้องสามารถนำไปใช้สอยต่อได้เมื่อจบงาน” ตรงกับคอนเซ็ปต์การออกแบบที่ Hypothesis ทำมาเสมอคือการสร้างงานออกแบบที่เหมาะสมกับพื้นที่และผู้ใช้งานอย่างสมเหตุสมผล
งานที่คิดมาตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ตอบโจทย์ตั้งแต่เริ่มงานจนจบงาน Hypothesis เลือกที่ตั้งจากความเป็นพื้นที่เรียบ เพื่อให้สามารถวางชิ้นงานได้ง่าย และไม่บดบังชิ้นงานของสถาปนิกท่านอื่นที่จัดแสดงร่วมในสถานที่ใกล้เคียง ในพื้นที่สี่เหลี่ยมผืนผ้าขนาดไม่เล็กหรือใหญ่จนเกินไป ออกแบบชิ้นงานเป็นชั้นเหล็ก ชุบสังกะสี (Galvanized) ขนาด 0.8 x 2 เมตร สูงราว 60 เซนติเมตร จำนวน 8 ชิ้น ทั้งหมดสามารถใส่ล้อเพื่อให้เคลื่อนย้ายได้และจะแข็งแรงมากพอในการนำไปใช้งานต่อเป็นโต๊ะตัดแบบจำลองหรือโต๊ะทำงานที่ทนทานต่อการใช้งานหนักๆ ของนักศึกษาในคณะฯ ต่อไป
ถ้าสังเกตให้ดีโต๊ะ 8 ตัว จะถูกถอดล้อออกทั้งหมด 4 ตัว แล้วจับซ้อนชั้นขึ้นเพื่อแสดงหน้าที่ใช้สอย และตัวอย่างวิธีการที่คณะฯ สามารถนำโต๊ะไปใช้งานต่อได้หลังจากจบงาน ให้คุณค่าด้านอรรถประโยชน์ที่จะถูกมอบแก่นักศึกษา และส่งต่อจากรุ่นสู่รุ่น เหมือนเป็นของขวัญแสดงความยินดีแก่ผู้เรียนและศิษย์เก่าในวันเปิดตึกคณะฯ ที่ปิดซ่อมแซมมาเป็นเวลานาน
ธ.ไก่ชน บางคนที่เห็นเขาจากสื่อรายการ ‘Founder’ ของ a day มาแล้วคงทราบดีว่า คุณธนพัฒน์ บุญสนาน คือผู้สร้างบริษัท ธ.ไก่ชน แห่งนี้ เขาค่อนข้างโด่งดังในวงการออกแบบสถาปัตยกรรมผ่านวัสดุธรรมชาติอย่างไม้ไผ่ ซึ่งเราอาจเห็นผลงานของเขาจากรีสอร์ต ร้านอาหาร รวมไปถึงงานชั่วคราวประเภท Pavilion ในเทศกาลศิลปะหรือเทศกาลดนตรี ที่แสดงศักยภาพของไม้ไผ่ด้วยรูปทรงอิสระที่เหนือความคาดหมาย
Installation Arts ของคุณธนพัฒน์ในงานนี้ก็เช่นเดียวกัน ที่เขานำ Signature เรื่องการใช้ไม้ไผ่มาสร้างสรรค์ อวดศักยภาพของไม้ไผ่ให้นักศึกษาและคนทั่วไปเห็น แต่ที่สำคัญกว่านั้น แผ่นที่นั่งคล้ายแคร่ขนาด 6 x4 เมตรนี้ จะถูกปักไปด้วยกลุ่มลำไผ่ทาสีรุ้งหลายต้น และชูกิ่งก้านสูง 5 ถึงเมตร เพื่อสร้างความสดใสแก่พื้นที่งานและชูประเด็นเรื่องความเท่าเทียมทางเพศ อันเป็นปัญหาที่เขามองเห็นจากประสบการณ์การเรียนและทำกิจกรรมในคณะฯ ของตน เหมือนอย่างเขาเรียกชื่อผลงานนี้ว่า “LGBT Bamboo Grove” โดยหวังให้ผู้พบเห็นทั้งภายในมหาวิทยาลัยและผู้มาเยือนได้ตระหนักเรื่องความหลากหลายทางเพศว่าเป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้ามอีกต่อไป
เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงค่านิยมบางอย่างควรเปลี่ยนไป ความเท่าเทียมและการให้ความสำคัญจึงไม่ควรจำกัดอยู่ที่เพศชายเช่นเขาอย่างไรเหตุผล ดังนั้น เพื่อสร้างวัฒนธรรมอันดีให้แก่สถานศึกษาที่รักเขาจึงสร้างสรรค์ผลงานสุดสดใสชิ้นนี้ไว้เพื่อย้ำเตือน ที่สำคัญหลังจากจบงานแล้ว กิ่งไผ่ย้อม 6 สีแสดงสัญญะเหล่านี้เขายังมอบให้นักศึกษาไปใช้ประกอบแบบจำลองในการเรียนหลังจากจบงานได้แล้ว
PHTAA Living Design สำนักงานสถาปัตยกรรมที่ขึ้นชื่อเรื่องการทดลองวัสดุหลากหลายสร้างความตื่นตาตื่นให้ทุกผลงานที่สร้างสรรค์ มี พลวิทย์ รัตนธเนศวิไล หนึ่งในผู้ก่อตั้งมาเป็นตัวแทนศิษย์เก่าคณะสถาปัตย์ฯ สร้างผลงานชิ้นสุดท้าย
ผลงานชิ้นนี้เกิดจากคอนเซ็ปต์ที่อยากสื่อสารถึงรุ่นน้องเกี่ยวกับสิ่งที่ค้นพบเมื่อได้ทำงานจริงเรื่องการใช้ “วัสดุทดแทน” แทนที่ “สัจจะวัสดุ” เพราะโลกของการทำงานจริงต่างจากห้องในห้องเรียน หากเรามัวติดอยู่กับทัศนคติการเลือกสัจจะวัสดุเพราะคิดว่าวัสดุทดแทนเป็นของเลียนแบบ ไม่แท้ ด้อยค่ากว่า อาจทำให้ผลงานการออกแบบของเราไม่สามารถสร้างขึ้นมาจริงได้จากเหตุผลด้านงบประมาณ การก่อสร้าง ทั้งที่ในความเป็นจริงเขาพบว่าวัสดุทดแทนไม่ได้ลดคุณค่าทางสถาปัตยกรรมลง และยังมีศักยภาพที่อาจมากกว่า “สัจจะวัสดุ”
คุณพลวิทย์เลือกพื้นที่บ่อเลี้ยงปลาหน้าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ที่ผ่านกิจกรรมหลายอย่างนอกเหนือจากการใช้เลี้ยงปลาจริง ๆ โดยมองน้ำในฐานะ ‘วัสดุ’ ที่มี ‘สัจจะ’ ในตัวเองอย่างไม่มีวัสดุใดเหมือน และนำแนวคิดนี้มาสร้าง Installation Arts เล่นกับปริมาตรของน้ำโดยรวมในบ่อ ตั้งข้อสังเกตว่า หากหยิบเอาปริมาตรของน้ำในบ่อมาคำนวณ แต่ถอดความเป็น ‘สัจจะ’ ของวัสดุน้ำออก แล้วแทนค่าด้วยวัสดุอื่นที่เขาสนใจ มันจะมีหน้าตาออกมาในลักษณะใด
เขาเลือกใช้โฟมอัดทรงกลมจำนวนมากกว่า 5,000 ชิ้น แทนค่าวัสดุน้ำ จากเหตุผลส่วนหนึ่งที่โฟมถูกใช้เป็นวัสดุทดแทนในงานก่อสร้างมากมายหลายผลงาน และเพื่อใช้วัสดุที่ตัวโดยมันเองดูเป็นของใหม่และแปลกปลอม มากระตุ้นความรับรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับตัวตึกและบ่อน้ำที่ในแง่หนึ่งแสดงความเก่าแก่ เต็มไปด้วยเรื่องเล่า และพิธีกรรม สื่อถึงแสดงความ “แท้” และ “ดั้งเดิม” อยู่ในตัวเอง โดยเมื่อโฟมอัดทั้งหมดปรากฏบนบ่อเลี้ยงปลา มันสร้างความรับรู้ใหม่ต่อวัสดุ เปลี่ยนโฉมผิวหน้าของบ่อให้แปลกไปจากที่คนคุ้นชิน และปลุกเร้าความทรงจำระหว่างนักศึกษาใหม่และเก่าที่มีต่อตึกคณะฯ ร่วมกันแล้ว
เมื่อจบการแสดงผลงาน ผลงานชิ้นนี้ก็ยังคงอรรถประโยชน์ให้กับรุ่นน้อง เพราะโฟมอัดทั้งหมดก็จะถูกส่งต่อให้นักศึกษาในคณะฯ เพื่อประโยชน์ในการเรียนหรือทำแบบจำลองต่อไปได้อีกด้วย
ผลงานสถาปนิกไทยใต้จมูกให้รับชมอย่างมีเรื่องราวแบบนี้ ใครที่อยากเห็นผลงานเหล่านี้ด้วยตาตัวเอง สามารถเข้าชมได้ชมระหว่างวันที่ 14 – 21 ธันวาคม 2562 ช่วงเวลา 9.00 – 21.00 น. ณ บริเวณหน้าอาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร (ท่าพระ) เดินเข้าไปแล้วถามเขาได้ทันที แต่ถ้าอยากไปแบบจุใจ ทั้งชมคอนเสิร์ต ซื้อของเปิด Market ครบเครื่องเราแนะนำให้ไปวันที่ 20-21 ธันวาคม เพราะวันนี้ขยายเวลาปิดถึง 23.00 น. เลย
ใครที่ต้องการดูภาพบรรยากาศเต็ม ๆ เข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.facebook.com/ArchSUFest ส่วนครั้งหน้า BuilderNews จะไปแวะที่ไหนอีก อย่าลืมติดตามกัน