สำหรับใครที่ชื่นชอบและหลงใหลในความสวยงามของรถคันโปรด การได้โรงจอดรถดี ๆ สักคัน นับว่าเป็นอะไรที่ชื่นใจไม่น้อย ลูกไม่ต้องโดนแดดโดนฝนไม่ต้องเสื่อมสภาพเร็วกว่าที่ควร วันนี้ BuilderNews นำเอาเทคนิคและข้อควรรู้มาฝาก ใครที่กำลังมีแพลนจะสร้างหรือขยายโรงจอดรถ ควรอ่าน!
สามปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการออกแบบ “พื้นที่ ขนาด ตำแหน่ง”
พื้นที่ที่เหมาะกับการจอดรถควรเป็นพื้นที่ที่รองรับน้ำหนักได้มาก รถคันหนึ่งมีน้ำหนักไม่น้อยกว่า 1 ตัน ดังนั้นควรเลือกพื้นที่ที่แข็งแรง วัสดุที่รองรับต้องทนทาน หรือนำโครงสร้างเหล็กเส้นมาเสริมให้แกร่งขึ้น
ขนาดตามกฎหมายระบุขนาดพื้นที่โรงจอดรถหน้าบ้านที่เหมาะสมสำหรับ 1 คัน ต้องมีขนาด กว้าง x ยาว ไม่น้อยกว่า 2.4 x 5 เมตร (วัดระยะห่างระหว่างเสา) และต้องเผื่อพื้นที่ว่างด้านข้างอีกข้างละ 0.70 ม. หากบ้านใครมีกระบะ, SUV หรือ รถตู้ ก็ควรจะขยับไซส์ขึ้นไปหน่อยสัก 3.0 x 6.0 ม. เพื่อความสะดวกมากขึ้น
ตำแหน่งควรเลือกที่สะดวกในการเข้า-ออกจากบ้านมากที่สุด และต้องใกล้กับระบบน้ำเพื่อให้ง่ายต่อการล้างทำความสะอาดลูกรักของคุณ สำหรับบ้านไหนที่มีรถไฟฟ้าและจะติดตั้ง Wall Charger ก็อาจจะต้องปรับให้ใกล้กับระบบจ่ายไฟในการชาร์จ
รูปแบบ โครงสร้าง วัสดุที่จะใช้
เมื่อสำรวจข้อจำกัดต่าง ๆ ข้างต้นเรียบร้อย ทีนี้ก็ต้องมาดูถึงรูปแบบที่เราต้องการ ในการเลือกรูปแบบ โครงสร้าง และวัสดุที่จะมาใช้สร้างโรงจอดรถนั้น จะส่งผลต่ออายุการใช้งานโดยตรงจะสั้นหรือยาวขึ้นอยู่กับปัจจัย 3 สิ่งนี้
รูปแบบ
- โรงจอดที่แยกจากตัวบ้าน สร้างขึ้นมาใหม่โดยเฉพาะ ไม่ยึดติดกับโครงสร้างของตัวบ้าน ข้อดีคือจอดได้หลายคัน ใช้งานสะดวกมากขึ้น และลดการทรุดตัวของพื้นบ้านในอนาคต
- โรงจอดใต้ตัวบ้าน เหมาะกับบ้านที่พื้นที่จำกัด ข้อดีคือประหยัดงบประมาณ เข้า-ออกบ้านสะดวก แต่ต้องระวังการชำรุดทรุดตัวของพื้นที่เมื่อเวลาผ่านไป ดังนั้นบริเวณพื้นอาจเสริมด้วยคอนกรีตเสริมเหล็กหรือหินแกรนิตเพื่อยืดอายุการใช้งาน
- โรงจอดแบบต่อเติมหลังคา ต่อเติมกันสาดเพื่อครอบที่จอดรถ สามารถเลือกวัสดุได้หลากหลายตามงบประมาณ แต่ข้อควรระวังจะเยอะที่สุด เพราะต้องคำนึงถึงวัสดุหลังคา หากต้องการความแข็งแรงควรใช้หลังคาเมทัลชีท หรือเลือกใช้หลังคาไวนิลเพื่อป้องกันความร้อน ถ้าเลือกวัสดุธรรมดา ๆ เวลาฝนตกเสียงจะดังมาก แดดจัด ๆ ก็ร้อนไม่น้อย
- โรงจอดแบบเรือนกระจก แบบนี้จะใช้งบพอ ๆ กับการสร้างแยกจากตัวบ้าน หรืออาจจะมากกว่าด้วยซ้ำในบางวัสดุ ซึ่งข้อดีคือป้องกันทุกอย่างจริง ๆ ทั้งฝน ทั้งแดด บางรายอาจติดแอร์ให้กับห้องนี้ด้วย เหมือนมีโชว์รูมรถในบ้าน ข้อเสียคือต้องเลือกอุปกรณ์ประตูบานเลื่อนที่แข็งแรง ทนทาน แถมยังต้องซ่อนรางในเนียนไปกับพื้นด้วย ในกรณีที่คุณมีรถโหลดเตี้ย
โครงสร้าง ประกอบด้วย 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่หลังคาและพื้นของโรงจอด
หลังคา ข้อที่ควรคำนึงมีหลายอย่าง ทั้งความร้อน ความแข็งแรง การเก็บเสียง แต่ละประเภทก็จะมีข้อดีข้อเสียที่ต่างกันออกไป
- หลังคาไวนิล ทำจาก uPVC ยืดหยุ่นสูง ทนต่อแรงกระแทกและป้องกันความร้อนได้ดี น้ำหนักเบาติดตั้งง่าย
ข้อดี: ไม่ร้อน ดูดซับเสียงได้ดี ไม่ลามไฟ
ข้อเสีย: เมื่อใช้งานไปสักระยะ สีอาจซีดไม่สดเหมือนเดิม ราคาสูงกว่าประเภทอื่น แต่ในบางรายมีการพัฒนาให้สีทนยาวนาน - หลังคาเมทัลชีท ทำจากเหล็กรีดบางแล้วนำมาขึ้นรูปลอนยาว ไร้รอยต่อ
ข้อดี: ป้องกันการรั่วซึม มีหลากหลายสีให้เลือกตามสไตล์ของบ้าน ราคาถูก
ข้อเสีย: ร้อนจัดเพราะเหล็กเป็นวัสดุที่เก็บความร้อนได้ดี อาจส่งผลต่อสีรถได้ ไม่เก็บเสียง อาจเสียรูปทรงหรือชำรุดเมื่อใช้ไประยะหนึ่ง - หลังคาโพลีคาร์บอเนต ทำจากพลาสติกแข็ง โปร่งแสง น้ำหนักเบา ทนทุกสภาพอากาศ
ข้อดี: ทนความร้อนได้ดี ติดตั้งสะดวก เมื่อฝนตกเสียงไม่ดังรบกวน
ข้อเสีย: ติดไฟง่าย ทนต่อรอยขีดข่วนได้ไม่มากนัก - หลังคากระเบื้อง ทำจากไฟเบอร์ซีเมนต์ มีความยืดหยุ่น แข็งแรงที่สุด
ข้อดี: ทนทุกฤดู รับแรงกระแทกได้ดี เก็บเสียงเยี่ยม ซ่อมง่ายเพียงแค่เปลี่ยนตัวที่เสียหายออก ไม่ต้องเปลี่ยนหมด
ข้อเสีย: หนักที่สุด โครงสร้างต้องแข็งแรงพอสมควรในการรับน้ำหนัก อาจมีรั่วซึมหากติดตั้งไม่ดี - หลังคา Shinkolite ทำจากอะคริลิก เรียบ โปร่งแสง มันวาวเงา เบา รูปทรงสวยงาม
ข้อดี: ลดร้อน กรองแสง น้ำหนักเบา สีไม่ลอก อายุยาวนอน ไม่ซีดเหลือง ยืดหยุ่นสูง ซับเสียงดี
ข้อเสีย: ทำความสะอาดยาก ต้องใช้น้ำยาเฉพาะทาง การติดตั้งต้องใช้ช่างที่มีฝีมือสูง เพราะรับแรงกระแทกได้ต่ำ หากติดตั้งผิดวิธีอาจเกิดความเสียหายได้
พื้นของโรงจอด ควรเลือกวัสดุที่แข็งแรง รับน้ำหนักได้มากและต้องไม่ลื่น
- หินแกรนิต หินธรรมชาติที่หนาและแข็งแรงทนทานกว่าวัสดุอื่น ๆ แถมยังมีลวดลายที่สวยงามอีกด้วย
ข้อดี: รับน้ำหนักได้มาก ดูแลรักษาง่าย อายุการใช้งานยาวนานที่สุด
ข้อสังเกต: หินแกรนิตมีผิวสัมผัสที่หลากหลาย ควรเลือกผิวหยาบเพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุ และยังเกิดความชื้นง่าย ต้องคอยระวังเรื่องเชื้อรา - คอนกรีต แข็งแรงทนทาน ยิ่งเสริมเหล็กเข้าไปด้วยจะเพิ่มการรับน้ำหนักได้
ข้อดี: ดูแลง่าย แถมยังสร้างลวดลายที่ต้องการได้ด้วย
ข้อสังเกต: แม้จะได้เหล็กมาเสริมความแข็งแรง แต่อาจต้องระวังเรื่องผิวคอนกรีตที่อาจชำรุดเสียหายได้หากใช้ไประยะหนึ่ง - กระเบื้อง หนึ่งในวัสดุที่นำไปใช้งานได้หลากประเภท ที่นิยมนำมาใช้ปูพื้นโรงจอดรถคือแกรนิตโต้และเอ็กซ์พอร์ซเลน เพราะรับน้ำหนักได้ดี แข็งแรงกว่ากระเบื้องประเภทอื่น
ข้อดี: สวยงาม มีลวดลายหลากหลาย ตกแต่งให้เข้ากับสไตล์ของบ้านได้ ติดตั้งง่าย
ข้อสังเกต: ควรเลือกกระเบื้องผิวหยาบ ไม่ลื่นเมื่อสัมผัสน้ำ และไม่ควรเลือกลายที่มีร่องเยอะเกินไป เพราะคราบสกปรกจะเข้าไปสะสมได้ - คอนกรีตบล็อก ทำจากคอนกรีตออกมาในรูปแบบบล็อก สำหรับงานพื้น
ข้อดี: มีหลายขนาด ติดตั้งง่าย ปรับได้ตามขนาดของพื้นที่โรงจอดรถ ซ่อมแซมสะดวก เลือกเปลี่ยนได้เฉพาะส่วนที่เสียหาย
ข้อสังเกต: ผิวสัมผัสของคอนกรีตบล็อกไม่สามารถรับน้ำหนักได้มาก จึงเสี่ยงต่อการเกิดความเสียหายได้ ควรติดตั้งโดยผู้เชี่ยวชาญและได้มาตรฐานเพื่อความแข็งแรง
Tip: BuilderNews ขอเสริมเรื่องทางลาด เพราะหลายคนอาจมีรถที่โหลดเตี้ย อัตราส่วนของทางลาดชันกำหนดไว้ไม่เกิน 1:8 เช่น หากความสูงของพื้นที่จอดต่างจากถนน 20 ซม. ต้องมีทางลาดยาวอยู่ที่ 1.60 ม. หากเป็นรถยกสูงสามารถลดหย่อนระยะลงมาที่อัตราส่วน 1:7 ได้ สาเหตุที่ต้องเว้นระยะก็เพื่อไม่ให้ใต้ท้องรถของคุณขูดกับพื้นและทางลาด อย่างไรก็ตาม ก็สามารถปรับทางลาดให้เป็นส่วนหนึ่งของที่จอดรถได้ ในพื้นที่ที่จำกัด
การวางแผนทำโรงจอดรถอย่างเป็นขั้นเป็นตอน จะส่งผลลัพธ์ที่ดีเสมอ หวังว่าบทความนี้จะช่วยเพิ่มแนวทางในไอเดียของคุณหากที่เมื่อไหร่จะมีการต่อเติมส่วนนี้ ทางที่ดีควรนำไปปรึกษากับสถาปนิกหรือนักออกแบบเพื่อช่วยให้การต่อเติมครั้งนี้ยั่งยืน
https://www.shinkolite.co.th/
https://nocnoc.com/blog/the-right-garage-design/
https://www.scgbuildingmaterials.com/th/ideas/design-ideas/bwh-ต่อเติมโรงจอดรถอย่างไรให้จอดง่ายและไม่ทรุด
https://www.scgbuildingmaterials.com/th/ideas/home-story/เตรียมตัวให้ดีเรื่องที่จอดรถในบ้าน