เปิดม่านสถาปัตย์สีสดสัดส่วนสมมาตรในสไตล์ของคนทำหนังสุดติสท์ “Wes Anderson”

292

หลังจากที่ส่งทีเซอร์ภาพยนตร์ตัวใหม่อย่าง Asteroid City สู่สายตาคนรักหนังไปเมื่อไม่นานมานี้ ก็ยังคงไม่ทิ้งกลิ่นอายขององค์ประกอบ ซีน โทนสีที่บ่งบอกลายเซ็นอย่างชัดเจนของ Wes Anderson ผู้กำกับชาวอเมริกันผู้พกมากับสไตล์การทำหนังแบบย้อนยุค (Retro) กลมกลืนไปกับสถาปัตยกรรมที่เป็นวัตถุดิบในการกำหนดโทนสีและอารมณ์ จนมองเพียงแค่ภาพทีเซอร์ดูก็รู้เลยว่านี่คือหนังของ Wes Anderson ชัด ๆ

มาในบทความนี้เราจึงอยากพาผู้อ่านลัดเลาะตามไอเดียของผู้กำกับสัญชาติอเมริกันท่านนี้จากภาพยนตร์ทั้งหมด 4 เรื่อง ได้แก่ The Royal Tenenbaums, The Darjeeling Limited, The Grand Budapest Hotel และ The French Dispatch

 

ภาพจาก SCREENMUSINGS
ภาพจาก SCREENMUSINGS
ภาพจาก SCREENMUSINGS

ใครจะไปรู้ว่าหากนั่งมองจากจอภาพยนตร์ที่ฉายความโดดเด่นและเป็นเอกลักษณ์ของ setting และรายละเอียดที่กลมกลืนกันอย่างลงตัวไปกับฝีมือของนักแสดงขั้นเทพทั้งหลาย แต่พอลองกะเทาะเปลือกเบื้องหน้าเข้าไป เรากลับพบความใส่ใจในรายละเอียดเล็ก ๆ น้อย ๆ ของ Wes Anderson จากที่ให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “เราไม่มีเวลาซ้อมบทกับนักแสดงเท่าไร ผมเลยสื่อเรื่องราวของครอบครัวลงไปในตัวบ้านเลย ให้นักแสดงสามารถซึมซับกับคาแรกเตอร์ได้จากการดีไซน์สตอรี่ของบ้านที่ใช้เป็น setting”

ทุก ๆ รายละเอียดของงาน interior ของสถานที่ถ่ายทำ Wes Anderson ต่างก็ได้มีส่วนร่วม จนในที่สุดผลงานการรวมพลไอเดียก็ผลิตออกมาเป็นคฤหาสน์สไตล์โคโลเนียลผสานกับความแปลกใหม่ ทุก ๆ ชั้นจะต้องปูด้วยพรมตุรกี หากสังเกตดี ๆ จะเห็นของแต่งบ้านแนววินเทจย้อนไปในยุค 50s – 60s

 

ภาพจาก SCREENMUSINGS
ภาพจาก SCREENMUSINGS
ภาพจาก SCREENMUSINGS

ตามจากเรื่อง The Royal Tenenbaums มาที่เรื่อง The Darjeeling Limited ที่ Wes Anderson ได้ลองแบกกล้องขึ้นรางมาถ่ายทำบนรถไฟที่อินเดีย แถมยังได้ร่วมงานกับ Mark Friedberg โปรดักชันดีไซเนอร์ ในการออกแบบภายในห้องโดยสารให้สื่อถึงวัฒนธรรมอินเดียผสานกับสไตล์การเลือกใช้สีหลักอย่างส้มและน้ำเงิน และลวดลายตามฉบับของ Wes Anderson

 

ภาพจาก SCREENMUSINGS
ภาพจาก SCREENMUSINGS
ภาพจาก SCREENMUSINGS

“The Grand Budapest Hotel” คาดว่าผู้อ่านหลายท่านคงจะคุ้นหูหรืออาจจะคุ้นตากับภาพยนตร์เรื่องนี้ บรรยากาศและซีนที่จะพาผู้ชมย้อนไปในไทม์ไลน์ที่ต่างกัน โดยภาพยนตร์ได้แรงบันดาลใจมาจาก Stefan Zweig นักเขียนชาวออสเตรีย ทำให้ setting แต่ละซีนเหมือนผู้ชมได้เข้าไปอยู่ในเมืองเวียนนาราวปี 1900 ภายในเรื่องจะผูกไว้กับเนื้อเรื่องหลักเดียวกันแต่ต่างเวลาออกไป ประกอบกับการใช้สีชมพูและครีมในธีมหลักทำให้หนังเรื่องนี้กลายเป็นที่จดจำในสายตาของผู้ชมมากมาย

 

ภาพจาก SCREENMUSINGS
ภาพจาก SCREENMUSINGS
ภาพจาก SCREENMUSINGS

Setting ของเรื่องได้ถูกสมมติขึ้นให้อยู่ในเมือง Ennui-sur-Blasé ของฝรั่งเศสในช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 20 ในส่วนของการออกแบบแต่ละซีนนั้น Wes Anderson ได้ทำงานร่วมกับ Adam Stockhausen โปรดักชันดีไซเนอร์ ในการเพิ่มความแหวกแนวและความโดดเด่นให้กับซีน ทั้งยังมีการหยิบเอางานดีไซน์สไตล์ฝรั่งเศสมาใช้กับการออกแบบฉากให้เจ๋งไปอีกขั้น

หนึ่งในจุดเด่นของภาพยนตร์เรื่องนี้ คือ อาคารสำนักงานใหญ่ที่มีทางเข้าโออ่า บันไดกว้างขวาง และห้องข่าวขนาดใหญ่ที่เต็มไปด้วยเครื่องพิมพ์ดีด หนังสือพิมพ์ และนักข่าวที่พลุกพล่านตลอดทั้งเรื่อง ยิ่งกว่านั้น Wes Anderson ยังเสริมด้วยการตกแต่งภายในที่แปลกตาและแปลกใหม่ จากการผสมผสานระหว่างเฟอร์นิเจอร์วินเทจและร่วมสมัยที่ให้ลวดลายโดดเด่นและการผสมสีในแบบที่คาดไม่ถึง

“ผมเป็นพวกที่ชอบถ่ายทำ เรียบเรียงมัน และออกแบบ setting ในแบบของผมเอง มันมีบ้างที่อยากลองเปลี่ยนสไตล์ของตัวเอง แต่ก็นั่นแหละ ผมก็ยังเป็นผมอยู่ดี คิดซะว่าลายมือของคนเราก็คือการทำหนังนั่นแหละ ใส่สไตล์และตวัดปากกาด้วยลายมือของตัวเองคือวิถีของผม – Wes Anderson

 

ส่วนนักอ่านท่านใดที่อยากทำความรู้จักกับ Wes Anderson ผู้กำกับสุดติสท์คนนี้มากขึ้น โปรดเกาะขอบจอรอซื้อตั๋วภาพยนตร์ Sci-Fi Comedy ล่าสุดเรื่อง Asteroid City ที่ขนทัพนักแสดงมากฝีมือมาอย่างคับคั่ง ไม่ว่าจะเป็น Jason Schwartzman, Scarlett Johansson, Tom Hanks, Tilda Swinton, Liev Schreiber, Rupert Friend, Margot Robbie, Maya Hawke และอีกมากมาย โดยจะเข้าฉายที่โรงภาพยนตร์ House Samyan ในวันที่ 22 มิถุนายน 2566 นี้

 

Previous articleย้อนรอยงานสถาปนิก’66 : ผลิตภัณฑ์เอาใจพ่อบ้าน-แม่บ้านแห่งศตวรรษที่ 21
Next articleย้อนรอยงานสถาปนิก’66 : เอาใจคนรักไม้ด้วยผลิตภัณฑ์เฟอร์นิเจอร์ไม้