ท่ามกลางบรรยากาศที่รายล้อมไปด้วยผู้คนในขณะสายตาและหูกำลังจดจ่ออยู่บริเวณเวทีและวิทยากรเบื้องหน้า หัวสมองของผู้เขียนก็กำลังซึมซับข้อมูลและเผยมุมมองที่มีผลต่อทัศนคติ ไปพร้อมกับปลายปากกาที่จดบันทึกสิ่งที่สนใจ สรุปเป็นประโยคที่สั้นกระชับได้ว่า ความสัมพันธ์ระหว่างนักออกแบบและชุมชน ชุมชนที่หล่อหลอมด้วยผู้คน เรื่องราว และพื้นที่แห่งพลวัตของความทรงจำ ถูกเรียบเรียง กักเก็บ และสื่อสารผ่านคลังตำราในห้องสมุดมนุษย์ หรือ ‘Human Library’ หมวด ‘การออกแบบ-ผู้คน-ชุมชน’ ซึ่งตั้งอยู่ใจกลางงานสถาปนิก’66 ที่ผ่านมา

เล่าประวัติศาสตร์ชุมชนจากสถาปนิกชุมชน

ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร

‘ทำไมสถาปนิกหรือนักออกแบบถึงลงมาคลุกคลีกับชุมชน’ ทันทีที่เห็นหัวข้อสนทนาผู้เขียนก็เกิดคำถามขึ้นมาก่อนจะเริ่มเห็นภาพเลือนรางของความสัมพันธ์ดังกล่าว เมื่อ ผศ.ดร.สุพิชชา โตวิวิชญ์ อาจารย์จากคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เล่าถึงการทำงานในโปรเจ็กต์หนึ่งในฐานะ ‘สถาปนิกชุมชน’ ที่อยากบอกเล่าเรื่องราวอัตลักษณ์และความทรงจำของคนในชุมชน เพื่อสะท้อนอีกมุมหนึ่งขนานไปกับภาพที่ถ่ายทอดจากสื่อและสายตาของคนนอก

 

โลกใหม่และเมืองเก่า

คุณปานทิพย์ ลิกขะไชย จากชมรมเกสรบางลำพู

‘นิวเวิลด์ โอลทาวน์’ นิทรรศการที่เป็นส่วนหนึ่งของเทศกาล Bangkok Design Week 2022 ภายใต้คอนเซ็ปต์ Co With Creation คิด สร้าง ทางรอด เป็นโปรเจ็กต์ที่อาจารย์สุพิชชาร่วมจับมือกับ คุณปานทิพย์ ลิกขะไชย จากชมรมเกสรบางลำพู ในการจัดนิทรรศการฉายกล่องความทรงจำของคนในชุมชน โดยเลือกตึกร้างที่ตั้งตระหง่านอยู่กลางย่านบางลำพูอย่าง ‘ห้างนิวเวิลด์’ อาคารยักษ์ใหญ่ที่ซ้อนทับไปด้วยภาพจำหลากหลายทั้งห้างหรูในอดีต หรือบ้างก็ผุดภาพตึกร้างมองแล้วชวนผวามาเป็นสถานที่ในการจัดนิทรรศการ สร้างพื้นที่ให้คนนอกและคนในได้มองเห็นตัวตนของย่านบางลำพู โดยใช้การออกแบบมาเป็นเครื่องมือในการกระตุ้นจินตนาการและความทรงจำ อีกทั้งยังมองว่าทุก ๆ พลวัตของความทรงจำก็เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ไม่ว่าในอดีตหรือปัจจุบัน

 

บอกเล่าประวัติศาสตร์ในบริบทของปัจจุบัน

การปลุกจิตวิญญาณโดยการเล่าประวัติศาสตร์ชุมชนเพื่อเกาะเกี่ยวกับความเป็นปัจจุบัน มีตึกร้างนามว่าห้างนิวเวิลด์เป็นดังเข็มนาฬิกาบ่งบอกเวลาของศตวรรษที่ 21 ปลุกความวุ่นวายและการใช้ชีวิตที่หลับใหลหลังจากเผชิญสถานการณ์โรคระบาด เติมสีสันให้รถเข็นอาหารย่านบางลำพู กระตุ้นแสงสีและปาร์ตี้บนถนนข้าวสารให้กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้งผ่านการออก-ผู้คน-ชุมชน แม้อาจเป็นก้าวเล็ก ๆ แต่ผู้เขียนกลับมองว่าเป็นก้าวสำคัญในการเชื่อมต่อชุมชนกับสังคมเมืองและเชื่อมต่ออดีตกับปัจจุบันซึ่งส่งผลต่ออนาคตที่ยั่งยืน

 

Source

Sarakedee Lite
a day

Previous article6 คำถาม ที่จะทำให้รู้ว่า ลิฟท์บ้านแบบไหนดีที่เหมาะกับรถเข็นวีลแชร์
Next articleย้อนรอยงานสถาปนิก’ 66: เลือกประตูให้อยู่สบาย