“Jack, I’m flying!” แฟนคลับหนังโรแมนติกที่อ่านข้อความนี้คงจะนึกภาพซีนคู่พระนางยืนโอบกอดกันท่ามกลางแสงพระอาทิตย์ลับขอบฟ้าอยู่บนดาดฟ้าเรือที่กำลังแล่นอยู่บนผืนมหาสมุทร ‘ไททานิค (Titanic)’ หนังรักตลอดกาลที่ทำเอาเสียน้ำตาไปเกือบลิตร กลับมาขึ้นแท่นภาพยนตร์ที่ควรกลับมาดูในปี 2023 อีกครั้ง เมื่อข่าวทุกสำนักขึ้น Headline เป็นชื่อเรือดำน้ำ ‘ไททัน (Titan)’ ยานพาหนะท่องโลกใต้ทะเล ส่องโครงสร้างสุดมหึมาของเรือไททานิคปรากฏเด่นหราอยู่บนโลกออนไลน์และออฟไลน์ ผู้เขียนจึงใช้โอกาสนี้เกาะกระแสข่าวที่ไม่เก่าไม่ใหม่ แต่จะมาในเวอร์ชันของ BuilderNews เพื่อร่วมแกะโจทย์โครงสร้างและการตกแต่งของเรือไททานิค ยานพาหนะที่มอบความสำราญให้กับเหล่ามหาเศรษฐี

ภาพจาก 20th Century Studios UK
ภาพจาก AFP

ไททานิค โรงแรมหรูในรูปแบบยานพาหนะที่ลอยอยู่กลางมหาสมุทร

ภาพจาก White Star Line – White Star Line publicity material

ไททานิคถูกออกแบบและสร้างโดยบริษัทไวท์สตาร์ไลน์ (White Star Shipping) สายการเดินเรือของอังกฤษที่มุ่งมั่นให้ไททานิคเป็นยานพาหนะเชิงพาณิชย์ที่ใช้เดินทางระหว่างยุโรปและสหรัฐอเมริกา โครงสร้างของเรือถูกสร้างขึ้นที่เมืองเบลฟาสต์ (Belfast) ในไอร์แลนด์เหนือ มีบริษัทต่อเรืออย่างฮาร์แลนด์แอนด์วูลฟฟ์ (Harland and Wolff) และไวต์สตาร์ไลน์ (White Star Line) ที่อยู่ภายใต้การบริหารของ William Pirrie ประธานของอู่ต่อเรือในครั้งนี้

ไททานิคมีความยาวถึง 269 เมตร มีความยาวมากกว่าเรือคู่แข่งถึง 100 ฟุต หนักกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ สร้างขึ้นในคอนเซ็ปต์ของเรือเดินสมุทรระดับโอลิมปิก นับว่าเป็นวัตถุเคลื่อนไหวขนาดใหญ่ที่สุดที่สร้างขึ้นโดยมนุษย์ ซึ่งมีผลต่อวิวัฒนาการของการสร้างเรือมากกว่า 2 ศตวรรษ

ภาพจาก วิกิพีเดีย

ไททานิคเป็นเรือที่มีเอกลักษณ์และมีการรวมการออกแบบหลากหลายสไตล์ไว้อย่างลงตัว ไม่ว่าจะเป็นสไตล์เอ็มไพร์ (Empire) เรอเนซองซ์ (Renaissance) และพระเจ้าหลุยส์ที่ 15 (Louis XV) จุดมุ่งหมายหลักของการออกแบบคือเพื่อสร้างความประทับใจแก่ผู้โดยสาร ให้รู้สึกเสมือนการพักพิงในโรงแรมหรูที่ล่องลอยอยู่ท่ามกลางมหาสมุทร

 

ชั้นเฟิร์สคลาส

ภาพจาก วิกิพีเดีย

ดีไซน์ของเรือไททานิคเน้นไปที่การให้ความสะดวกสบายและการออกแบบที่แสดงถึงความสง่างาม คล้ายกับคฤหาสน์หรือโรงแรมหรูของอังกฤษ ขนาดที่ใหญ่โตมโหฬารทำให้ห้องพักในเรือกว้างขวางเป็นพิเศษ อุปกรณ์มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยเพื่ออำนวยความสะดวกสบายและความสะอาด

ภาพจาก วิกิพีเดีย
ภาพจาก วิกิพีเดีย

การบริการและห้องพักระดับพรีเมียมอยู่ที่ชั้นดาดฟ้าซึ่งเป็นชั้นที่ได้รับแรงสั่นสะเทือนของเครื่องยนต์และได้ยินเสียงรบกวนน้อยที่สุด ผู้โดยสารชั้นเฟิร์สคลาสจะได้รับการบริการอย่างหลากหลาย เช่น เติร์กกิชบาธ สระว่ายน้ำ สนามกีฬาสควอช บริการร้านทำผม ห้องล้างฟิล์ม และยิมที่ออกแบบมาเพื่อผู้โดยสารทุกเพศทุกวัย นอกจากนั้นยังมีห้องสูบบุหรี่ ห้องอ่านและเขียนหนังสือ ห้องอาหาร และคาเฟ่ ห้องรับรองที่ถูกตกแต่งในสไตล์จอร์เจียน (Georgian) จาโคเบียน (Jacobean) และอิตาเลียนเรอเนซองซ์ (Italian Renaissance) เรทราคาที่ถูกที่สุดสำหรับชั้นเฟิร์สคลาสคือห้องสแตนดาร์ด ราคาประมาณ 30 ปอนด์ (ประมาณ 3,200 ปอนด์ เทียบกับค่าเงินในปี 2021)

 

The Grand Staircase

ภาพจาก Titanic Connections

ฟีเจอร์ที่น่าประทับใจที่สุดของห้องพักชั้นเฟิร์สคลาส คือ Grand Staircase อยู่บริเวณชั้นดาดฟ้าของเรือ มีการตกแต่งด้วยเหล็กดัดให้มีความสวยงาม มีโดมแก้วที่ล้อมรอบไปด้วยบัวปลาสเตอร์ซึ่งออกแบบมาอย่างประณีต ช่วยให้แสงธรรมชาติเข้ามาในพื้นที่ระหว่างวันและเสริมสร้างบรรยากาศให้กับภายในเรือ

โครงสร้างเหล่านี้ถูกสร้างในสไตล์นีโอคลาสสิกแบบวิลเลียมและแมรี (Neoclassical William and Mary Style) ที่ใช้ไม้โอ๊คอังกฤษคุณภาพสูง ในส่วนของเหล็กดัดและลูกกรงถูกออกแบบในสไตล์หลุยส์ที่ 14 ฮอลล์ทางเข้าตกแต่งด้วยแผ่นไม้โอ๊คขัดมันแกะสลักในสไตล์นีโอคลาสสิกแบบวิลเลียมและแมรี เสากลางของบันไดเวียนถูกแกะสลักเป็นรูปพวงมาลัยที่แต่ละชิ้นต่างมีเอกลักษณ์เฉพาะตัว

 

ชั้น 2

ภาพจาก History on the Net

ผู้โดยสารชั้น 2 จะมีห้องพักทั้งหมด 7 ห้อง มีพื้นที่ส่วนกลางให้ใช้งานหลายรูปแบบ เช่น ห้องสมุด ห้องสูบบุหรี่ ห้องรับประทานอาหาร และดาดฟ้า โดยปกติแล้วเรือโดยสารชั้น 2 จะมีสิ่งอำนวยความสะดวกเช่นเดียวกับชั้นเฟิร์สคลาส แต่ต่างตรงที่ประเภทของเตียงซึ่งเป็นเตียงสองชั้นและห้องน้ำมีเพียงห้องน้ำส่วนกลาง

ห้องสมุดสำหรับผู้โดยสารชั้น 2 ตั้งอยู่ในห้อง C ทางด้านหลังของเรือ การตกแต่งภายในเป็นแบบสไตล์อดัม (Adam-Style) มีการผสมผสานการใช้ไม้มะฮอกกานีสีอ่อนและสีเข้มเพื่อขับเน้นแนวเสาไม้สีขาวเซาะร่องรองรับเพดานปูนปลาสเตอร์

 

ชั้น 3

ภาพจาก Titanic Universe

พื้นที่สาธารณะสำหรับผู้โดยสารชั้น 3 ไม่ได้หรูหราเช่นเดียวกับห้องโดยสารทั้งสองชั้นที่กล่าวไป อย่างไรก็ดี การออกแบบยังคงคำนึงถึงความสะดวกสบายของผู้โดยสารเป็นสำคัญ

 

ไททานิกหนังรักตลอดกาล สถาปัตยกรรมตราตรึงใจ

เพียงแค่มองเห็นไททานิคผ่านตัวอักษรเราก็สามารถสัมผัสถึงความหรูหราและอลังการ แล้วยิ่งหากอยู่ในช่วงเวลาที่เรือกำลังออกเดินทางข้ามทวีปคงเป็นอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจไม่น้อย ไททานิคนับเป็นตัวเลือกหนังที่ดีที่สุดในการนำพาเราไปสัมผัสประสบการณ์งานดีไซน์ที่จะตกตะกอนอยู่ในใจและบันทึกอยู่ในความทรงจำถึงการเดินทางที่โลกไม่มีวันลืมไปตลอดกาล

 

 

Source

PARAMETRIC ARCHITECTURE

Previous articleบุญถาวร ชู “ Design Village” เป็น “คอมมูนิตี้ลิฟวิ่งมอลล์” (Community Living Mall) เพื่อตอบโจทย์ Lifestyle ของคนยุคใหม่
Next articleย้อนรอยงานสถาปนิก’66: เทรนด์การตกแต่งครัว 2023