ถ้าพูดถึงคำว่า​ “เหลือทิ้ง” หรือ “ไม่ใช้แล้ว” ในวงการสถาปนิกคงหนีไม่พ้นเรื่องวัสดุ เพราะต่อให้สามารถหยิบจับวัสดุต่าง ๆ มาสร้างผลงานใหม่ ๆ ได้เสมอ แต่เราก็รู้กันดีว่า “Waste Materials” ทุกวันนี้ก็ยังมีอยู่มากมายมหาศาล

ไม้เป็นสัจจะวัสดุที่ใช้สำหรับสร้างผลงานตั้งแต่ชิ้นเล็ก ๆ ขนาดเท่าฝ่ามือไปจนถึงอาคารหรือสถานที่ใหญ่ ๆ ที่เราคนเดียวไม่สามารถโอบได้ทั้งหมด ส่วนตัวแล้วเราเป็นคนหนึ่งที่ชอบงานที่ทำจากไม้มาก แต่รู้ดีว่าไม้ทุกประเภทไม่ได้เหมาะสำหรับการก่อสร้างเสมอไป เพราะความแตกต่างของคุณสมบัติไม้แต่ละชนิด ทั้งความคงทน ขนาด และความชื้น รวมถึงรูปทรงที่บิดงออาจทำให้ “ไม้” เหล่านั้นไม่เหมาะสำหรับการใช้งาน ปลายทางของมันจึงเกิดเป็น Waste Wood หรือเศษไม้ที่รอการทำลาย

แต่เราจะทำอะไรกับ ไม้เหล่านี้ได้บ้าง ?

HANNAH บริษัทด้านการออกแบบสถาปัตยกรรมแบบสหวิทยาการในนิวยอร์ก เชี่ยวชาญการออกแบบด้าน 3D Printing และการประดิษฐ์โดยใช้เครื่องมือดิจิทัลที่หลากหลายเพื่อพัฒนาการแก้ปัญหาทางสถาปัตยกรรม (architectural solutions) ส่งโปรเจ็กต์ล่าสุด เปลี่ยนเศษไม้ทิ้งเหล่านี้นำมาสร้างเป็นกระท่อม และตั้งชื่อว่า The Ashen Cabin ขึ้น โดยใช้เทคโนโลยี 3D ประกอบการสร้าง ทำให้ได้รูปลักษณ์แปลกตาเหมือนกระท่อมในจินตนาการอย่างที่เห็น

จุดประสงค์ของการสร้างครั้งนี้มาจาก 3 ปัจจัยหลัก ได้แก่

  1. ลดคาร์บอนที่จะปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศจากการเผาไม้แอชเพื่อทำลายหรือเผาเพื่อใช้ทำเชื้อเพลิงสร้างพลังงาน
  2. ประหยัดค่าใช้จ่ายและสร้างความยั่งยืนจากการนำวัสดุเหลือใช้มาพัฒนาต่อแทนการทำลาย โดยประยุกต์เข้ากับการใช้เทคโนโลยีเพื่อพัฒนาโครงสร้างให้แข็งแรง สมบูรณ์เหมาะแก่การเข้าพักอาศัยจริง
  3. วิธีการนี้สามารถชดเชยการใช้พันธุ์ไม้บางประเภทที่เป็นพันธุ์ไม้นิยมสำหรับการก่อสร้างได้

The Ashen Cabin ตั้งอยู่ที่ป่า Ithaca ของมหานครนิวยอร์ก คาดว่าชื่อที่ตั้งน่าจะมาจากไม้แอช (Ash) ที่นำส่วนเศษไม้มาใช้เป็นวัสดุหลักของกระท่อม ใครที่ยังไม่รู้จักไม้ประเภทนี้สรุปสั้น ๆ ว่า Ash เป็นไม้ชนิดหนึ่งที่มีสีอ่อน ลายไม้สวย คล้าย ๆ กับไม้โอ๊คที่เป็นไม้เนื้อแข็ง ราคาแพง ดังนั้น ไม้แอชที่ความแข็งแรงน้อยกว่าจึงใช้สำหรับทำเฟอร์นิเจอร์และงานตกแต่งภายในเป็นหลัก ซึ่งสามารถนับได้ว่าเป็นพันธุ์ไม้ยอดนิยมประเภทหนึ่ง จึงทำให้เกิด Waste Wood พอสมควร

กระท่อมหลังนี้จึงใช้กระบวนการเปลี่ยนเศษไม้ไร้ค่ากลับมาเป็นวัสดุระดับพระเอก ไม่ตัดทอนรูปทรงไม้ให้เหลือทิ้ง แต่ใช้วิธีสไลด์ท่อนไม้ทั้งท่อน แล้วนำแต่ละชิ้นมาเรียงต่อกันจนมีรูปทรงเฉพาะกลายเป็นกระท่อมมินิมัลหลังกะทัดรัดหน้าตาไม่เหมือนใครที่น่าอยู่แทน

ส่วนฐานที่เป็นโครงสร้าง ใช้วิธีการพิมพ์แบบ 3 มิติเพื่อลดฟอร์มที่สิ้นเปลืองออกไป คำนวณเฉพาะพื้นที่ใช้ไม้จริงและคอนกรีตจริง ๆ สำหรับก่อสร้าง ดังนั้น ฐานด้านล่างหรือส่วนต่าง ๆ ที่ใช้คอนกรีตจึงลดลง ช่วยแก้ปัญหาเรื่องมลพิษที่เกิดจากการใช้คอนกรีตได้ แต่ยังคงความแข็งแรงสมบูรณ์เพียงพอต่อการใช้งาน

ถ้าอยากรู้ว่าลดทอนฟอร์มแบบไหน ลองดูจากโครงสร้างจะเห็นชัดว่ารูปลักษณ์ต่างจากบ้านทั่วไป ไม้ทั้งหมดที่นำมาใช้เป็นส่วนประกอบจะใช้เฉพาะส่วนของฝากระท่อมเท่านั้น แต่รูปทรงถ้ามองจากภายนอก จะพบว่าไม้แอชหลายชิ้นอาจบานและบิด จึงไม่ตรงเป๊ะเหมือนที่เคยเห็นทั่วไป ถือว่าเก็บฟอร์มเดิม ๆ ของ Waste Wood มาใช้อย่างคุ้มค่า

ขณะที่ส่วนอื่นทำขึ้นจากคอนกรีตพิมพ์ 3D ทั้งหมดนำมาผสมผสานกัน ไม่ว่าจะเป็นส่วนปล่องไฟ ฐาน บริเวณชั้นวางต่าง ๆ และฐานที่นั่งด้านใน แต่โครงฐานไม่ได้เทคอนกรีตแน่นบนพื้นเหมือนที่เคยเห็น เน้นเฉพาะส่วนจำเป็นสำหรับถ่ายเทน้ำหนักคือบริเวณเสา ด้านล่างส่วนใต้ถุนจึงมีความโปร่ง

ครั้งแรกที่เราเห็นผลงานชิ้นนี้ เรามองว่างานทั้งหมดออกแบบขึ้นอย่างตั้งใจเพื่อให้เกิดรูปฟอร์มที่น่าสนใจ แต่พอมารู้ความจริงว่าเขาตั้งต้นจากวัสดุเหลือใช้ก่อน จนได้รูปทรงแบบนี้ ต้องยอมรับว่าเป็นวิธีคิดที่น่าสนใจเหนือความคาดหมาย

ใครที่ชื่นชอบและอยากเข้าไปชมผลงานชิ้นอื่น ๆ ของ Hannah สามารถเข้าไปดูได้ที่ลิงก์ https://www.hannah-office.org รับรองว่าจะได้เจองาน 3D Printing เจ๋ง ๆ อีกเพียบ

ตัดภาพมาที่บ้านเราก็เริ่มมีการนำเทคโนโลยี 3D Printing มาใช้ในงานก่อสร้างให้ได้เห็นผ่านหน้าผ่านตากันบ้าง อย่างเทคโนโลยี 3D Cement Extrusion Printing หรือเครื่องพิมพ์ซีเมนต์ 3 มิติ ที่ใช้ประกอบโครงสร้างผนัง วัสดุตกตแต่งอาคาร บ้านเรือน ชิ้นงานเฟอร์นิเจอร์ ซึ่งเทคโนโลยีนี้เป็นความร่วมมือกันระหว่าง SCG Cement กับทาง Mortar Technology ทั้งนี้เทคโนโลยี 3D Cement Extrusion Printing จะช่วยตอบโจทย์ความต้องการของผู้รับเหมา วิศวกร ผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์ หรือสถาปนิก ที่ต้องการชิ้นงานที่มีความหลากหลาย มีเอกลักษณ์ สวยงาม แข็งแรง และทนทาน

สำหรับผู้ที่สนใจสั่งซื้อและรับคำปรึกษาเกี่ยวกับ 3D Cement Extrusion Printing ติดต่อได้ที่ คุณเฉลิมวุฒิ สงวนญาติ หัวหน้ากลุ่มงานวิจัย Mortar Technology หน่วยงาน Research and Innovation Center ในธุรกิจซีเมนต์และผลิตภัณฑ์ก่อสร้าง เอสซีจี Email: [email protected] หรือโทรสอบถามได้ที่ SRI Contact Center หมายเลข 0-3624-0888

งานดีไซน์ถ้าเปลี่ยนจุดตั้งต้น บางครั้งผลลัพธ์อาจจะออกมาดี เป็นนวัตกรรมใหม่แบบที่คาดไม่ถึง ที่สำคัญถ้าจุดประสงค์การออกแบบเป็นไปเพื่อช่วยสังคมและสร้างสรรค์ผลงานที่ดี จะยิ่งทำให้งานชิ้นนั้นมีความหมายและยั่งยืนเช่นเดียวกับจุดประสงค์ของมัน

เทรนด์การใช้วัสดุในปี 2020 จนถึงปีต่อ ๆ ไปในอนาคต เราคงได้เห็นเนื้องานที่เน้นการนำวัสดุเก่ามาใช้มากกว่าการผลิตของใหม่ขึ้นมา หรือถ้าผลิตวัสดุใหม่ก็มักจะเกิดขึ้นจากการนำวัสดุที่ไม่ใช้แล้วและกำลังจะกลายเป็นขยะสร้างมลพิษให้โลกกลับมาเนรมิตเพื่อสร้างคุณค่าใหม่

 

All Images by andy chen, HANNAH

อ้างอิงแหล่งข้อมูลจาก:

  1. https://www.hannah-office.org
  2. https://www.designboom.com/architecture/hannah-ashen-cabin-new-york-05-11-2020/
  3. https://www.buildernews.in.th/news-cate/26706

 

Previous article5 เทคนิคการแปลงโฉมห้องนอนบ้านให้เป็นโรงแรม 5 ดาวได้ในราคาย่อมเยา
จากคำแนะนำของผู้เชี่ยวชาญ
Next articleคลื่นยักษ์บุกกรุงโซล! พบงาน Anamorphic Illusion ที่ยกเอาคลื่นน้ำทะเลมาไว้ในเมือง