อย่างที่เราเคยนำเสนอบทความที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีการก่อสร้างมาแล้วพอประมาณ วันนี้ขอหยิบเอาเทคโนโลยีการก่อสร้างที่เป็นต้นแบบของการก่ออิฐผ่านการร่างแบบในโปรแกรม โดยเป็นการผสมผสานการทำงานของกล้อง 3 มิติ และโปรแกรมจำลองภาพ 3 มิติ เพื่อออกแบบอิฐให้ได้ตามรูปแบบที่ต้องการ หลาย ๆ คนคงสงสัยใช่ไหมว่า การก่ออิฐก็ทำได้ทั่ว ๆ ไป ไม่เห็นจำเป็นจะต้องใช้โปรแกรมอะไรให้ยุ่งยาก แต่การก่ออิฐในครั้งนี้ไม่เหมือนทั่วไป เพราะอิฐที่ถูกวางมาในรูปแบบของคลื่น

ทีมคิดค้นและวิจัยของ Gramazio Kohler บริษัทสถาปนิกผู้เชี่ยวชาญด้านงานก่อสร้าง 3 มิติ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และ INCON. AI บริษัทพัฒนาหุ่นยนต์ ได้ร่วมมือกันในโปรเจกต์ Augmented Bricklaying ที่ผสานความสวยงามของสถาปัตยกรรม 3 มิติเข้ากับงานระบบดิจิทัล เพื่อสร้างสิ่งปลูกสร้างโดยใช้ระบบ Augmented Bricklaying มาเกี่ยวข้องในกระบวนการ โดยการวางตำแหน่งของอิฐในจุดถัดไปเพื่อให้ได้รูปแบบตามที่ได้วางไว้ในโปรแกรม

ระบบอัจฉริยะนี้เดิมทีเป็นการใช้แขนจักรกลเหมือนในกระบวนการทำงานของอุตสาหกรรม แต่ด้วยการเคลื่อนไหวที่จำกัด ความยากในการเคลื่อนย้าย ต้นทุนที่สูงมาก ๆ สำหรับจักรกลรูปแบบนี้ INCON. AI จึงได้ทำการย่อส่วนของกลไกนี้ให้มนุษย์สามารถถือใช้งาน แต่ประสิทธิภาพยังคงแม่นยำเหมือนเดิม โดยการทำงานจะเป็นในลักษณะที่ คนหนึ่งถือตัวกล้องแบบ 3 มิติ แล้วภาพโฮโลแกรมก็จะฉายขึ้นบนหน้าจอแบบเรียลไทม์ ส่วนอีกคนหนึ่งก็ทำหน้าที่ฉาบปูนและวางอิฐเหมือนทั่ว ๆ ไป แต่สิ่งที่เพิ่มเข้ามาคือเลเซอร์กำหนดจุดเพื่อเพิ่มความแม่นยำของภาพรวมเมื่อเสร็จงาน รวมถึงบอกให้ขยับก้อนอิฐหากไม่ตรงตามที่วางไว้

โดยโครงการนำร่องนี้ ทั้งสองทีมได้เลือกโรงกลั่นไวน์ที่ประเทศกรีซเป็นที่ทดลองโปรแกรมและระบบ โดยมีพื้นที่ทั้งหมด 225 ตารางเมตร และใช้อิฐจำนวน 13,596 ก้อนมาประกอบกันเป็นฟาซาดที่มีลักษณะเหมือนคลื่นน้ำในท้องทะเล ซึ่งอิฐแต่ละก้อนที่ประกอบนั้น ล้วนแล้วแต่ใช้ระบบ Augmented Bricklaying ทั้งสิ้น

“ระบบเหล่านี้จะช่วยให้ทีมช่างเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าจะวางอิฐตรงไหน เพราะมีไกด์ไลน์ที่เป็นเลเซอร์คอยกำหนด จุดนี้ทำให้ข้อผิดพลาดเกิดขึ้นน้อยมากเมื่อเทียบกับการวางอิฐเป็นลวดลายโดยทั่วไป ตอนแรกเรามองว่ามันน่าจะใช้งานยาก อาจเป็นเพราะเรายังไม่ได้ลองเอามาใช้จริง ๆ แต่เมื่อมาใช้จริง ปรากฏว่ามันง่ายกว่าที่เราคิดไว้ แต่ก็ยังคงต้องอาศัยความชำนาญจากช่างมืออาชีพ เพราะพวกเขาจะรู้น้ำหนักมือในการฉาบปูนก่อนวางอิฐ ระบบของเราก็จะช่วยไกด์เขาให้วางในตำแหน่งต่อไป” ทีมพัฒนากล่าวถึงระบบ Augmented Bricklaying

โรงกลั่นที่ได้รับการก่อสร้างในลักษณะนี้ก็เพื่อให้อาคารเกิดการไหลเวียนของอากาศและแสงแดด และคำถามที่ว่า “ทำไมถึงต้องทำเป็นคลื่น ๆ ? ” เนื่องจากสถานที่ตั้งไม่มีร่มเงาของต้นไม้เลย หากปล่อยให้แสงแดดเข้าเต็ม ๆ อาจส่งผลต่อการหมักบ่มไวน์ การนำการเคลื่อนที่ของดวงอาทิตย์มาประกอบสร้าง เป็นส่วนหนึ่งของคำถามที่ว่านี้ เพราะการสร้างคลื่นขึ้นมาช่วยหักเหแสงและอากาศไม่ให้เข้ามามากหรือน้อยเกินไป ทั้งหมดถูกคำนวณเป็นอย่างดีผ่านโปรแกรมที่ถูกคิดค้นขึ้น

การก่อสร้างลักษณะนี้ทำให้ นึกย้อนถึงเทคโนโลยีการก่อสร้างแบบ 3D Printing แต่พอเห็นสถานที่ที่พวกเขาก่อสร้างกันนั้น ก็ต้องบอกว่า พื้นที่คงไม่พออย่างแน่นอน เอาเป็นว่าโปรเจกต์นี้ยังอยู่ในช่วงของการพัฒนา หวังว่าในอนาคตอาจได้เห็นการใช้เทคโนโลยีเหล่านี้ ช่วยให้การออกแบบและก่อสร้างง่ายขึ้น และสวยงามตามที่ลูกค้าต้องการ และที่สำคัญคือลดความผิดพลาดให้เหลือน้อยที่สุด

อ้างอิงข้อมูลจาก:

https://www.thisiscolossal.com/2020/04/augmented-bricklaying-gramazio-kohler/

http://incon.ai/

https://gramaziokohler.arch.ethz.ch/

Previous articlePART II: BIM กับแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างทีม
Next articleเตรียมพบกับงาน ASIA POOL & SPA EXPO 2020 ที่กว่างโจว 4-6 สิงหาคมนี้
เจตน์สฤษฏิ์ อ้องแสนคำ
Content Writer ผู้คลั่งไคล้การเสพหนัง, แคมป์ปิ้ง และอ่านหนังสือ ที่ฝันอยากมีบ้านเป็นของตัวเอง จึงเข้าสู่วงการสถาปัตยกรรมเพื่อศึกษาและค้นหาแรงบันดาลใจ